รับจดลิขสิทธิ์

รับจดแจ้งลิขสิทธิ์

ความสำคัญและความจำเป็นของการจดลิขสิทธิ์

ถึงแม้ว่ากฎหมายลิขสิทธิ์จะให้ความคุ้มครองตามกฎหมายแก่ผู้สร้างสรรค์ผลงานทันทีโดยไม่ต้องจดแจ้งข้อมูลลิขสิทธิ์ต่อกรมทรัพย์สินทางปัญญาก็ตาม หากคุณเป็นเจ้าของผลงานที่สร้างสรรค์ขึ้นมาจากความคิดของตัวเอง และไม่ต้องการให้มีใครลอกเลียนแบบหรือนำผลงานของคุณไปทำซ้ำโดยไม่ได้รับอนุญาต ต้องทำการจดแจ้งลิขสิทธิ์ต่อกรมทรัพย์สินทางปัญญา เพื่อยืนยันว่าคุณเป็นเจ้าของผลงานในงานลิขสิทธิ์ดังกล่าวอย่างแท้จริง เพื่อให้ได้รับการคุ้มครองทางด้านกฎหมายหากมีใครละเมิดผลงานของคุณ

ในปัจจุบันนี้ ที่เทคโนโลยีต่างๆ มีความเจริญก้าวหน้าขึ้น ทำให้การสร้างสรรค์ผลงานและเผยแพร่ออกสู่สาธารณะเป็นเรื่องง่าย แต่ในขณะเดียวกันก็เป็นช่องทางที่ทำให้เกิดการลอกเลียนแบบ นำผลงานไปทำซ้ำเพื่อจำหน่ายโดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าของผลงานเป็นจำนวนมาก

ดังนั้น จึงจำเป็นที่จะต้องมีการจดแจ้งลิขสิทธิ์เพื่อแสดงความเป็นเจ้าของผลงานแต่เพียงผู้เดียว และสามารถนำผลงานไปผลิตเพื่อจำหน่าย ทำซ้ำหรือดัดแปลง และเผยแพร่ออกสู่สาธารณชนได้ รวมทั้งให้เช่าหรืออนุญาตให้ผู้อื่นใช้ผลงานของตนเองเพื่อให้ได้ค่าตอบแทนที่เหมาะสมในฐานะผู้สร้างสรรค์ผลงาน และยังเป็นการส่งเสริมให้ผู้ผลิตผลงานมีกำลังใจที่จะพัฒนางานของตนเองออกมาให้ดียิ่งขึ้นและมากขึ้น เพราะเมื่อไหร่ก็ตามที่งานของตนเองที่ใช้เวลาในการคิดสร้างสรรค์และทุ่มเทกำลังกายกำลังใจมากมายในการทำ โดนคนอื่น Copy ผลงานไปอย่างง่ายๆ ก็ทำให้คนสร้างสรรค์ผลงานหมดกำลังใจได้อย่างง่ายๆ เช่นกัน

ผลงานที่สามารถนำไปจดแจ้งลิขสิทธิ์มีอยู่ด้วยกันหลายอย่าง ซึ่งหลักๆ แล้วต้องเป็นผลงานที่เกิดจากการสร้างสรรค์ด้วยตัวของผู้จดลิขสิทธิ์เอง ไม่ว่าจะเป็น งานศิลปะ วรรณกรรม ดนตรี วีดีโอ หรือโสตวัสดุที่มีการบันทึกทั้งภาพและเสียง ภาพยนตร์ โปรแกรมคอมพิวเตอร์ งานต่างๆ ในหมวดของวรรณคดี และศิลปะ เป็นต้น ซึ่งผู้สร้างสรรค์ผลงานจะได้สิทธิ์ในการเป็นเจ้าของผลงานในทันทีโดยไม่ต้องจดแจ้งลิขสิทธิ์ แต่การจดลิขสิทธิ์ให้ถูกต้องจะเป็นการยืนยันสิทธิ์เพื่อใช้เป็นหลักฐานในการเป็นเจ้าของผลงานเมื่อมีการ Copy งานหรือละเมิดลิขสิทธิ์งานกันเกิดขึ้น

ลักษณะของการละเมิดลิขสิทธิ์มีตั้งแต่นำไปทำซ้ำและดัดแปลงเพื่อหากำไร อย่างเช่นนำไปจำหน่าย เผยแพร่ต่อสาธารณชนโดยไม่ได้รับอนุญาต และนำไปแจกจ่ายให้กับผู้อื่นในลักษณะที่ทำให้เจ้าของลิขสิทธิ์เกิดความเสียหาย ซึ่งในปัจจุบันโทษของการละเมิดลิขสิทธิ์จะอยู่ที่โทษปรับตั้งแต่ 20,000 ถึง 200,000 บาท และจำคุกตั้งแต่ 6 เดือน ถึง 4 ปี หรือทั้งจำทั้งปรับ

ดังนั้น ผู้สร้างสรรค์ผลงานจึงควรจดแจ้งลิขสิทธิ์ผลงานของตนเอง เพื่อป้องกันไม่ให้มีการทำซ้ำและดัดแปลงเพื่อนำไปจำหน่ายและอื่นๆ โดยไม่ได้รับอนุญาต โดยการคุ้มครองลิขสิทธิ์จะอยู่ตลอดช่วงอายุของผู้สร้างสรรค์ผลงานและคุ้มครองต่อเนื่องหลังจากนั้นอีก 50 ปีหลังเสียชีวิต ฯลฯ

คุณสามารถยื่นขอจดแจ้งลิขสิทธิ์ได้ที่กรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ โดยเตรียมหลักฐานต่างๆ ที่กำหนดไปให้พร้อม และชำระค่าธรรมเนียม เพื่อให้ผลงานของคุณได้รับการคุ้มครองจากการละเมิดลิขสิทธิ์

จากนั้นก็จะเป็นขั้นตอนการตรวจสอบของเจ้าหน้าที่เพื่อให้การยืนยันว่าผลงานที่คุณนำไปยื่นขอจดลิขสิทธิ์นั้น เคยมีการสร้างสรรค์ที่มีลักษณะคล้ายคลึงกันมาก่อนหรือไม่ และผลงานของคุณมีสิ่งใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรมหรือไม่ หากทุกอย่างผ่านไปตามขั้นตอนโดยไม่มีข้อโต้แย้ง ก็จะได้รับใบลิขสิทธิ์รับรองผลงาน ที่คุณสามารถนำไปยืนยันผลงานของตนเองได้ และยังช่วยป้องกันการละเมิดลิขสิทธิ์ที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต เพราะเจ้าของผลงานสามารถฟ้องร้องผู้ที่ละเมิดลิขสิทธิ์ได้อย่างเต็มที่

ลิขสิทธิ์ หมายความว่า สิทธิแต่ผู้เดียวที่จะกระทำการใดๆ ตามพระราชบัญญัตินี้เกี่ยวกับงานที่ผู้สร้างสรรค์ได้ทำขึ้น  (มาตรา 4)

ผู้สร้างสรรค์ หมายความว่า ผู้ทำหรือผู้ก่อให้เกิดงานสร้างสรรค์อย่างใดอย่างหนึ่งที่เป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินี้

งานอันมีลิขสิทธิ์ ได้แก่ งานสร้างสรรค์ 9 ประเภท ดังนี้ (มาตรา 6)

(1.) วรรณกรรม หมายความว่า งานนิพนธ์ที่ทำขึ้นทุกชนิด เช่น หนังสือ จุลสาร สิ่งเขียน สิ่งพิมพ์ ปาฐกถา เทศนา คำปราศรัย สุนทรพจน์ และให้หมายความรวมถึงโปรแกรมคอมพิวเตอร์ด้วย

(2.) นาฏกรรม หมายความว่า งานเกี่ยวกับการรำ การเต้น การทำท่า หรือการแสดงที่ประกอบขึ้นเป็นเรื่องราว และให้หมายรวมถึงการแสดงโดยวิธีใบ้ด้วย

(3.) ศิลปกรรม หมายความว่า งานอันมีลักษณะอย่างหนึ่งอย่างใดหรือหลายอย่างดังต่อไปนี้

3.1.งานจิตรกรรม ได้แก่ งานสร้างสรรค์รูปทรงที่ประกอบด้วยเส้น แสง สี หรือสิ่งอื่น อย่างใดอย่างหนึ่งหรือหลายอย่างรวมกัน ลงบนวัสดุอย่างเดียวหรือหลายอย่าง

3.2.งานประติมากรรม ได้แก่ งานสร้างสรรค์รูปทรงที่เกี่ยวกับปริมาตรที่สัมผัสและจับต้องได้

3.3.งานภาพพิมพ์ ได้แก่ งานสร้างสรรค์ภาพด้วยกรรมวิธีทางการพิมพ์ และหมายความรวมถึงแม่พิมพ์หรือแบบพิมพ์ที่ใช้ในการพิมพ์ด้วย

3.4.งานสถาปัตยกรรม ได้แก่ งานออกแบบอาคารหรือสิ่งปลูกสร้าง งานออกแบบตกแต่งภายในหรือภายนอก ตลอดจนบริเวณของอาคารหรือสิ่งปลูกสร้าง หรือการสร้างสรรค์หุ่นจำลองของอาคารหรือสิ่งปลูกสร้าง

3.5.งานภาพถ่าย ได้แก่ งานสร้างสรรค์ภาพที่เกิดจากการใช้เครื่องมือบันทึกภาพโดยให้แสงผ่านเลนซ์ไปยังฟิล์มหรือกระจกและล้างด้วยน้ำยาซึ่งมีสูตรเฉพาะ หรือด้วยกรรมวิธีใดๆ อันทำให้เกิดภาพขึ้น หรือการบันทึกภาพโดยเครื่องมือหรือวิธีการรอย่างอื่น

3.6.งานภาพประกอบ แผนที่ โครงสร้าง ภาพร่าง หรืองานสร้างสรรค์รูปทรงสามมิติอันเกี่ยวกับภูมิศาสตร์ ภูมิประเทศหรือวิทยาศาสตร์

3.7.งานศิลปประยุกต์ ได้แก่ งานที่นำเอางานตาม 3.1 ถึง 3.6 อย่างใดอย่างหนึ่งหรือหลายอย่างรวมกันไปใช้ประโยชน์อย่างอื่นนอกเหนือจากการชื่นชมในคุณค่าของตัวงานดังกล่าวนั้น เช่น นำไปใช้สอย นำไปตกแต่งวัสดุหรือสิ่งของอื่นเป็นเครื่องใช้หรือนำไปใช้เพื่อประโยชน์ทางการค้า

(4.) ดนตรีกรรม หมายความว่า งานเกี่ยวกับเพลงที่แต่งขึ้นเพื่อบรรเลงหรือขับร้องไม่ว่าจะมีทำนองและคำร้องหรือมีทำนองอย่างเดียวและให้หมายความรวมถึงโน้ตเพลงหรือแผนภูมิเพลงที่ได้แยกและเรียบเรียงประสานแล้ว

(5.) โสตทัศนวัสดุ หมายความว่า งานอันประกอบด้วยลำดับของภาพโดยบันทึกลงในวัสดุ ไม่ว่าจะมีลักษณะอย่างใด อันสามารถที่จะนำมาเล่นซ้ำได้อีก โดยใช้เครื่องมือที่จำเป็นสำหรับการใช้วัสดุนั้น และให้หมายความรวมถึงเสียงประกอบงานนั้นด้วย ถ้ามี

(6.) ภาพยนตร์ หมายความว่า โสตทัศนวัสดุอันประกอบด้วยลำดับของภาพซึ่งสามารถนำออกฉายต่อเนื่องได้อย่างภาพยนตร์หรือสามารถบันทึกลงบนวัสดุอื่น เพื่อนำออกฉายต่อเนื่องได้อย่างภาพยนตร์ และให้หมายความรวมถึงเสียงประกอบภาพยนตร์นั้นด้วย ถ้ามี

(7.) สิ่งบันทึกเสียง หมายความว่า งานอันประกอบด้วยลำดับของเสียงดนตรี เสียงการแสดง หรือเสียงอื่นใด โดยบันทึกลงในวัสดุไม่ว่าจะมีลักษณะใดๆ อันสามารถที่จะนำมาเล่นซ้ำได้อีกโดยใช้เครื่องมือที่จำเป็นสำหรับการใช้วัสดุนั้น แต่ทั้งนี้มิให้หมายความรวมถึงเสียงประกอบภาพยนตร์หรือเสียงประกอบโสตทัศนวัสดุอย่างอื่น

(8.) งานแพร่เสียงแพร่ภาพ หมายความว่า งานที่นำออกสู่สาธารณชนโดยการแพร่เสียงทางวิทยุกระจายเสียง การแพร่เสียงและหรือภาพทางวิทยุโทรทัศน์ หรือโดยวิธีการอื่นอันคล้ายคลึงกัน

(9.) งานอื่นใดในแผนกวรรณคดี แผนกวิทยาศาสตร์ หรือแผนกศิลปะ

สิทธิของเจ้าของลิขสิทธิ์

เจ้าของลิขสิทธิ์ย่อมมีสิทธิแต่เพียงผู้เดียว ดังต่อไปนี้

(1.) ทำซ้ำหรือดัดแปลง

(2.) เผยแพร่ต่อสาธารณชน

(3.) ให้เช่าต้นฉบับหรือสำเนางานโปรแกรมคอมพิวเตอร์ โสดทัศนวัสดุ ภาพยนตร์ และสิ่งบันทึกเสียง

(4.) ให้ประโยชน์อันเกิดจากลิขสิทธิ์แก่ผู้อื่น

(5.) อนุญาตให้ผู้อื่นใช้สิทธิตาม (1) (2) หรือ (3) โดยจะกำหนดเงื่อนไขอย่างใดหรือไม่ก็ได้ แต่เงื่อนไขดังกล่าวจะกำหนดในลักษณะที่เป็นการจำกัดการแข่งขันโดยไม่เป็นธรรมไม่ได้

การพิจารณาว่าเงื่อนไขตามวรรคหนึ่ง (5) จะเป็นการจำกัดการแข่งขันโดยไม่เป็นธรรมหรือไม่ ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง

กฎหมายเริ่มให้ความคุ้มครองผู้สร้างสรรค์งานอันมีลิขสิทธิ์เมื่อไร

กฎหมายลิขสิทธิ์เริ่มให้ความคุ้มครองผู้สร้างสรรค์งาน นับแต่เมื่อได้สร้างสรรค์งานอันมีลิขสิทธิ์ตามกฎหมาย

อายุการคุ้มครองลิขสิทธิ์ (มาตรา 19)

(1.) กรณีผู้สร้างสรรค์เป็นบุคคลธรรมดา ลิขสิทธิ์จะมีตลอดอายุผู้สร้างสรรค์ และจะมีต่อไปอีก 50 ปี นับแต่ผู้สร้างสรรค์ถึงแก่ความตาย

(2) กรณีเป็นนิติบุคคล ลิขสิทธิ์จะมีอายุอยู่ 50 ปี นับแต่ได้สร้างสรรค์งานนั้นขึ้น

(3.) กรณีมีผู้สร้างสรรค์ร่วม ลิขสิทธิ์จะมีอยู่ตลอดอายุของผู้สร้างสรรค์ร่วม และมีอยู่ต่อไปอีกเป็นเวลา 50 ปี นับแต่ผู้สร้างสรรค์ร่วมคนสุดท้ายถึงแก่ความตาย

กรณีผู้สร้างสรรค์ร่วมทุกคนตายก่อนโฆษณางาน ให้ลิขสิทธิ์มีอายุ 50 ปี นับแต่มีการโฆษณางานเป็นครั้งแรก

การละเมิดลิขสิทธิ์ (มาตรา 27)

การกระทำอย่างใดอย่างหนึ่งแก่งานอันมีลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินี้ โดยไม่ได้รับอนุญาตตามมาตรา 15 (5) ให้ถือว่าละเมิดลิขสิทธิ์ ถ้าได้กระทำดังต่อไปนี้

(1.) ทำซ้ำหรือดัดแปลง

(2.) เผยแพร่ต่อสาธารณชน

บทกำหนดโทษการละเมิดลิขสิทธิ์ (มาตรา 69 และมาตรา 70)

กำหนดโทษการกระทำละเมิดลิขสิทธิ์แก่งานสร้างสรรค์ประเภทต่างๆ โดยตรง ตามมาตรา 27 และมาตรา 30  เช่น การทำซ้ำหรือดัดแปลง และการเผยแพร่งานต่อสาธารณชน โดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าของลิขสิทธิ์ เป็นต้น ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงสองแสนบาท

แต่ถ้ากระทำความผิดเช่นนี้ เป็นการกระทำเพื่อการค้าให้ระวางโทษจำคุกตั้งแต่หกเดือนถึงสี่ปี หรือปรับตั้งแต่หนึ่งแสนบาทถึงแปดแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ (มาตรา 69)

กำหนดโทษในการกระทำละเมิดลิขสิทธิ์แก่งานสร้างสรรค์ ตามมาตรา 31 เช่น การขายหรือเสนอขาย และเผยแพร่ต่อสาธารณชน ซึ่งงานใดอันละเมิดลิขสิทธิ์ เป็นต้น ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่หนึ่งหมื่นบาทถึงหนึ่งแสนบาท

แต่ถ้าการกระทำความผิดดังกล่าวเป็นการกระทำเพื่อการค้าก็ให้ระวางโทษจำคุกตั้งแต่สามเดือนถึงสองปี หรือปรับตั้งแต่ห้าหมื่นบาทถึงสี่แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

 

 3,578 ผู้เข้าชมเว็บไซต์,  4 views today