รับจดสิทธิบัตรหรืออนุสิทธิบัตร

รับยื่นจดสิทธิบัตร/อนุสิทธิบัตร

ความสำคัญและความจำเป็นของการจดสิทธิบัตร

หากเอ่ยถึง  สิทธิบัตร หลายท่านอาจจะพอรู้จักกันบ้าง แต่พอจะทราบกันบ้างไหมว่า มันคืออะไร  สำคัญอย่างไร แล้วจำเป็นอย่างไร  เรามาทำความรู้จักกันก่อนดีกว่า

สิทธิบัตร (Patent) คือ หนังสือสำคัญที่ออกให้เพื่อคุ้มครองการประดิษฐ์ หรือการออกแบบผลิตภัณฑ์ ตามมาตรา 3 แห่งพระราชบัญญัติสิทธิบัตร พ.ศ.2522 สิทธิบัตรจึงเป็นทรัพย์สินทางปัญญาประเภทหนึ่งที่เกี่ยวกับการประดิษฐ์คิดค้น

การออกแบบผลิตภัณฑ์ ได้แก่ การประดิษฐ์คิดค้นเครื่องมือเครื่องใช้หรือสิ่งของที่อำนวยความสะดวกในชีวิต ประจำวัน เช่น การประดิษฐ์ รถยนต์,ทีวี,ตู้เย็น,เครื่องทำน้ำอุ่น,คอมพิวเตอร์,โทรศัพท์ หรือการออกแบบรูปร่างรูปทรงขวดต่างๆ หรือการออกแบบลวดลายบนภาชนะหรือบรรจุภัณฑ์ต่างๆ,ถ้วยกาแฟ,ขวดน้ำอัดลม เพื่อให้เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวสินค้านั้นและไม่ให้เหมือนกับสินค้าของคนอื่น เป็นต้น

สิทธิบัตร (Patent) จึงมีลักษณะพิเศษที่กฎหมายให้ความคุ้มครองเจ้าของสิทธิบัตรมีสิทธิแต่เพียง ผู้เดียวในการผลิต ใช้ ขาย มีไว้เพื่อขาย เสนอขายหรือนำเข้าในราชอาณาจักรซึ่งผลิตภัณฑ์ตามสิทธิบัตรนั้น ตามพระราชบัญญัติสิทธิบัตร พ.ศ.2522 มาตรา 36,63

สิทธิบัตร (Patent) ตามกฎหมายไทยมี 3 ประเภท คือ

(1.) สิทธิบัตรการประดิษฐ์ (Invention Patent)  มีความหมายตามนิยามคำศัพท์ตามพระราชบัญญัติสิทธิบัตร พ.ศ.2522 มาตรา 3 การประดิษฐ์ หมายความว่า การคิดค้นหรือคิดทำขึ้น อันเป็นผลให้ได้มาซึ่งผลิตภัณฑ์หรือกรรมวิธีใดขึ้นใหม่ หรือการกระทำใดๆ ที่ทำให้ดีขึ้นซึ่งผลิตภัณฑ์หรือกรรมวิธี ส่วนกรรมวิธี หมายความว่า วิธีการ กระบวนการ หรือกรรมวิธีในการผลิตหรือการเก็บรักษาให้คงสภาพหรือให้มีคุณภาพดีขึ้นหรือ การปรับสภาพให้ดีขึ้นซึ่งผลิตภัณฑ์ และรวมถึงการใช้กรรมวิธีนั้นๆ ด้วย

(2.) สิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์ (Product Design Patent)  มีความหมายตามนิยามคำศัพท์ตามพระราชบัญญัติสิทธิบัตร พ.ศ.2522 มาตรา 3 แบบผลิตภัณฑ์ หมายความว่า รูปร่างของผลิตภัณฑ์ หรือองค์ประกอบของลวดลายหรือสีของผลิตภัณฑ์ อันมีลักษณะพิเศษสำหรับผลิตภัณฑ์ซึ่งสามารถใช้เป็นแบบสำหรับ ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมรวมทั้งหัตถกรรมได้

(3.) อนุสิทธิบัตร (Petty Patent) คือ เป็นสิทธิบัตรประเภทหนึ่ง อนุสิทธิบัตร เป็นหนังสือสำคัญที่ออกให้เพื่อคุ้มครองการประดิษฐ์คิดค้นเช่นเดียวกับสิทธิ บัตร เป็นการประดิษฐ์แบบง่ายไม่จำเป็นต้องมีขั้นตอนการประดิษฐ์ที่ยุ่งยากมากนัก อย่างนี้ก็สามารถนำสิ่งประดิษฐ์นั้นไปจดอนุสิทธิบัตรได้หากเข้าเงื่อนไขตาม ที่กฎหมายบัญญัติไว้

ดังนั้น ด้วยความหมายถึงสิทธิบัตรหรืออนุสิทธิบัตรนี้ หากเราเป็นผู้ผลิตอะไรก็ตามไม่ว่าจะเป็นสิ่งของเครื่องใช้หรือแม้แต่ความคิด ที่เราคิดว่าเราสามารถขายเพื่อสร้างรายได้ หรือเพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อตัวเราและคนอื่นๆ ได้

หากเราไม่ได้ไปทำการจดสิทธิบัตรหรืออนุสิทธิบัตร แต่มีคนลอกเลียนแบบการออกแบบของเรา หรือความคิดของเรา แล้วนำไปจดสิทธิบัตรหรืออนุสิทธิบัตรก่อนเรา จะส่งผลให้เราไม่สามารถผลิต หรือจำหน่ายสินค้าหรือความคิดนั้นๆ ได้

ดังที่เรามักจะเห็นอยู่บ่อยๆ ตามข่าว ที่ได้มีคนไปต่อยอดข้าวหอมมะลิของไทย แล้วนำไปจดสิทธิบัตร จึงทำให้คนไทยได้พัฒนาข้าวหอมมะลิให้ดีขึ้น และนำไปจดสิทธิบัตรบ้าง ซึ่งหากจะกล่าวว่าเป็นการขโมยทรัพย์สินทางปัญญาก็คงไม่แปลก ซึ่งนั่นคงจะส่งผลเสียอย่างมาก

หากเราได้มีการผลิตสินค้าที่มีเราคนเดียวเท่านั้นที่เป็นคนแรกในการผลิต แล้วขายดิบขายดีเป็นเทน้ำเทท่า โกยกำไรมหาศาล แต่เราดันไม่ได้ไปจดสิทธิบัตรหรืออนุสิทธิบัตร เพื่อยืนยันว่าเราเป็นผู้คิดค้นคนแรก  แต่อยู่ดีๆ ด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ก็ดันมีคนมาลอกเลียนแบบ และต่อยอดให้ดีกว่าเรา แล้วนำไปจดสิทธิบัตรหรืออนุสิทธิบัตร  อย่างนี้แล้ว คนที่ต้องเลิกผลิตคงต้องเป็นเรา และคนที่เขานำของเราไปจดสิทธิบัตรยังสามารถฟ้องร้องเราได้อีกต่างหาก แบบนี้ เสียยิ่งกว่าเสีย

คงจะดีกว่าหากเราได้คิดค้น หรือประดิษฐ์อะไรก็ตามเป็นคนแรก ไม่มีใครเหมือน และไม่เหมือนใคร และที่สำคัญสามารถสร้างมูลค่าได้ เราจึงควรไปจดสิทธิบัตรหรืออนุสิทธิบัตรไว้ เพราะเมื่อสินค้าของเราได้แพร่หลายออกไป แน่นอนว่าคงจะต้องเกิดการลอกเลียนแบบ และต้องมีคนพัฒนาต่อยอดให้ดีกว่าเราอย่างแน่นอน แบบนั้นแล้ว เราคงจะสามารถเอาผิด ฟ้องร้อง เรียกร้องค่าเสียหายได้หากเราได้จดสิทธิบัตรหรืออนุสิทธิบัตรในสินค้าของเรา

ตัวอย่างสิทธิบัตร

การประดิษฐ์ที่ขอรับสิทธิบัตรได้ (มาตรา 5)

การประดิษฐ์ที่ขอรับสิทธิบัตรได้ ต้องเป็นการประดิษฐ์ที่มีลักษณะ 3 ประการ ดังนี้

(1.)เป็นการประดิษฐ์ขึ้นมาใหม่ ได้แก่ การประดิษฐ์ที่ไม่เป็นงานที่เปิดเผยอยู่แล้ว

(2.)เป็นการประดิษฐ์ที่มีขั้นตอนการประดิษฐ์สูงขึ้น ได้แก่ เป็นการประดิษฐ์ที่ไม่เป็นที่ประจักษ์โดยง่ายแก่บุคคลที่มีความชำนาญในระดับสามัญสำหรับงานประเภทนั้น

(3.)สามารถประยุกต์ใช้ในอุตสาหกรรมได้ ได้แก่ การประดิษฐ์ที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ในการผลิตทางอุตสาหกรรม  รวมทั้งหัตถกรรม เกษตรกรรมและพาณิชย์กรรม

การประดิษฐ์ที่ขอรับอนุสิทธิบัตรได้

ในการประดิษฐ์ที่ขอรับอนุสิทธิบัตรได้ ไม่จำเป็นต้องขั้นประดิษฐ์สูงขึ้นเหมือนกับสิทธิบัตร เพียงแต่เป็นการประดิษฐ์ขึ้นมาใหม่ และสามารถประยุกต์ใช้ในอุตสาหกรรมได้ ก็เพียงพอแล้ว

กฎหมายเริ่มให้ความคุ้มครองเจ้าของสิทธิบัตรเมื่อใด

กฎหมายสิทธิบัตรให้ความคุ้มครองผู้ทรงสิทธิบัตร ณ วันที่มีการออกสิทธิบัตร (ไม่ใช่วันที่กรมทรัพย์สินทางปัญญาออกสิทธิบัตรให้) ดังนั้น การกระทำละเมิดก่อนวันออกสิทธิบัตรจึงไม่ถือว่าเป็นการกระทำผิดละเมิดสิทธิบัตร เพราะผู้ทรงสิทธิบัตรยังไม่มีสิทธิในเวลานั้น เว้นแต่ว่าผู้กระทำไม่สุจริตรู้อยู่แล้วว่าการประดิษฐ์นั้นได้มีการขอรับสิทธิบัตรไว้แล้ว (มาตรา 35 ทวิ)

กรณีมีผู้ทำละเมิดสิทธิบัตรก่อนวันออกสิทธิบัตร ผู้ทรงสิทธิบัตรมีสิทธิเรียกค่าเสียหายย้อนหลังได้ไปถึงวันที่ประกาศโฆษณา เพราะถือว่าเป็นวันที่สาธารณชนรับรู้ได้ว่ามีการยื่นคำขอรับสิทธิบัตรแล้ว

แต่ทั้งนี้ ผู้ทรงสิทธิบัตรจะฟ้องผู้ทำละเมิดสิทธิบัตรได้ก็ต่อเมื่อมีการออกสิทธิบัตรแล้ว และหลังจากวันรับสิทธิบัตรแล้ว ผู้ทรงสิทธิบัตรมีสิทธิแจ้งให้ผู้กระทำละเมิดสิทธิบัตรให้ระงับการผลิตหรือจำหน่ายอันเป็นการละเมิดสิทธิบัตรได้

อายุการคุ้มครองสิทธิบัตรหรืออนุสิทธิบัตร

(1.)สิทธิบัตรการประดิษฐ์  มีอายุการคุ้มครอง 20 ปี นับแต่วันขอรับสิทธิบัตรในราชอาณาจักร (ไม่ใช่วันที่กรมทรัพย์สินทางปัญญาออกสิทธิบัตรให้)

(2.)สิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์  มีอายุการคุ้มครอง 10 ปี นับแต่วันขอรับสิทธิบัตรในราชอาณาจักร

(3.)อนุสิทธิบัตร  มีอายุการคุ้มครอง 6 ปี นับแต่วันขอรับสิทธิบัตรในราชอาณาจักร และต่ออายุได้ 2 คราว คราวละ 2 ปี

สิทธิของเจ้าของสิทธิบัตร การประดิษฐ์ (มาตรา 36)

ผู้ทรงสิทธิบัตรเท่านั้นมีสิทธิดังต่อไปนี้

(1.) ในกรณีสิทธิบัตรผลิตภัณฑ์ สิทธิในการผลิต ใช้ ขาย มีไว้เพื่อขาย เสนอขายหรือนำเข้ามาในราชอาณาจักรซึ่งผลิตภัณฑ์ตามสิทธิบัตร

(2.) ในกรณีสิทธิบัตรกรรมวิธี สิทธิในการใช้กรรมวิธีตามสิทธิบัตร ผลิต ใช้ ขาย มีไว้เพื่อขาย เสนอขายหรือนำเข้ามาในราชอาณาจักรซึ่งผลิตภัณฑ์ที่ผลิตโดยใช้กรรมวิธีตามสิทธิบัตร

สิทธิของเจ้าของสิทธิบัตร การออกแบบผลิตภัณฑ์ (มาตรา 63)

ผู้ทรงสิทธิบัตรเท่านั้นมีสิทธิใช้แบบผลิตภัณฑ์กับผลิตภัณฑ์ตามสิทธิบัตร หรือขาย หรือมีไว้เพื่อขาย หรือเสนอขาย หรือนำเข้ามาในราชอาณาจักรซึ่งผลิตภัณฑ์ที่ใช้แบบผลิตภัณฑ์ดังกล่าว เว้นแต่การใช้แบบผลิตภัณฑ์เพื่อประโยชน์ในการศึกษาหรือวิจัย

บทลงโทษผู้กระทำละเมิดสิทธิบัตร

มาตรา 22 ห้ามมิให้บุคคลใดซึ่งรู้อยู่ว่าการประดิษฐ์นั้นได้มีผู้ยื่นคำขอรับสิทธิบัตรไว้แล้วเปิดเผยรายละเอียดการประดิษฐ์ไม่ว่าโดยวิธีใด ๆ หรือกระทำโดยประการอื่นที่อาจจะก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้ขอรับสิทธิบัตรก่อนมีการประกาศโฆษณาตามมาตรา 28  เว้นแต่จะได้รับความยินยอมเป็นหนังสือจากผู้ขอรับสิทธิบัตร

มาตรา 82 บุคคลใดฝ่าฝืนมาตรา 22 หรือมาตรา 65  ประกอบด้วยมาตรา 22 หรือมาตรา 65 ทศ ประกอบด้วยมาตรา 22 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

มาตรา 36  ผู้ทรงสิทธิบัตรเท่านั้นมีสิทธิดังต่อไปนี้

(1.) ในกรณีสิทธิบัตรผลิตภัณฑ์ สิทธิในการผลิต ใช้ ขาย มีไว้เพื่อขาย เสนอขายหรือนำเข้ามาในราชอาณาจักรซึ่งผลิตภัณฑ์ตามสิทธิบัตร

(2.) ในกรณีสิทธิบัตรกรรมวิธี สิทธิในการใช้กรรมวิธีตามสิทธิบัตร ผลิต ใช้ ขาย มีไว้เพื่อขาย เสนอขายหรือนำเข้ามาในราชอาณาจักรซึ่งผลิตภัณฑ์ที่ผลิตโดยใช้กรรมวิธีตามสิทธิบัตร

มาตรา 63 ผู้ทรงสิทธิบัตรเท่านั้นมีสิทธิใช้แบบผลิตภัณฑ์กับผลิตภัณฑ์ตามสิทธิบัตร หรือขาย หรือมีไว้เพื่อขาย หรือเสนอขาย หรือนำเข้ามาในราชอาณาจักรซึ่งผลิตภัณฑ์ที่ใช้แบบผลิตภัณฑ์ดังกล่าว เว้นแต่การใช้แบบผลิตภัณฑ์เพื่อประโยชน์ในการศึกษาหรือวิจัย

มาตรา 85 บุคคลใดกระทำอย่างใดอย่างหนึ่งตามมาตรา 36 หรือมาตรา 63 โดยไม่ได้รับอนุญาตจากผู้ทรงสิทธิบัตร ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสี่แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

บริษัท ทนายไซเบอร์ จำกัด ให้บริการรับยื่นจดทะเบียนสิทธิบัตร/อนุสิทธิบัตร

  1. สิทธิบัตร/อนุสิทธิบัตร

1.1. สิทธิบัตรการประดิษฐ์ (ประเภทวิศวกรรม) ได้แก่

– กลไก

– เทคนิค

– โครงสร้าง และกระบวนการ

1.2. สิทธิบัตรการประดิษฐ์ (ประเภทเคมี) ได้แก่ ประเภทสูตรต่างๆ

– เครื่องสำอาง

– สมุนไพร

– อาหาร

– ยา

– ปุ๋ย

2.สิทธิบัตร การออกแบบผลิตภัณฑ์ (ลักษณะภายนอกของผลิตภัณฑ์)

– รูปร่าง และรูปทรง (ไม่เกี่ยวกับเทคนิค)

 10,028 ผู้เข้าชมเว็บไซต์,  6 views today