การนำหลักการควบคุมจิตจากการสัมผัสทางทวารทั้ง 6 คือ ตา หู ลิ้น จมูก กายและใจ จะนำมาใช้กับวิชาชีพนักกฎหมายอย่างไรบ้างจึงจะเป็นนักกฎหมายที่ไม่ทุจริตคอรัปชั่น

การทุจริตคอรัปชั่นเป็นปัญหาร้ายแรงที่สุดในประเทศไทย ซึ่งการคอร์รัปชั้นมีตั้งแต่ระดับบุคคลไปจนถึงระดับองค์กร ซึ่งยากแก่การป้องกันได้ โดยเฉพาะผู้กระทำความผิดเป็นนักกฎหมายเสียเอง ก็จะทำให้เกิดความเสียหายต่อประเทศชาติเป็นอย่างมาก การนำหลักการควบคุมจิตจากการสัมผัสทางทวารทั้ง 6 ใช้กับวิชาชีพนักกฎหมายอย่างไรจึงจะเป็นนักกฎหมายที่ไม่ทุจริตคอรัปชั่น มีรายละเอียดดังนี้

1.) นักกฎหมายต้องมีศีลห้าครองใจ

ศีล คือ ความสำรวมระวัง ปิดกั้นความชั่ว และการไม่ล่วงละเมิดข้อห้าม โดยเฉพาะศีลข้อ 2. อทินนาทานา เวรมณี เจตนางดเว้นจากการถือเอาของที่เจ้าของไม่ได้ให้ การทุจริตคอร์รัปชั่นโดยการรับสินบน แม้จะยินยอมให้และรับเงินด้วยความสมัครใจทั้งสองฝ่ายก็ตาม แต่การรับสินบน คือรับสินจ้างเพื่อกระทำผิดหน้าที่ เมื่อมีคนมาเสนอเงินสินบนให้ นักกฎหมายต้องมีสติรู้เท่าทันอารมณ์ความโลภไม่หลงไปกับกิเลสในใจ เพื่อไม่ให้ต้องทำผิดศีลข้อ 2.

2.) นักกฎหมายต้องมีหิริโอตัปปะ

หิริโอตัปปะ คือ ความละอายบาปและความเกรงกลัวบาป นักกฎหมายต้องรู้ก่อนว่าการทุจริตคอร์รัปชั่นเป็นบาป เนื่องจากการทุจริตคอร์รัปชั่นมีมานานฝั่งรากลึกในสังคมไปแล้ว อาทิ ค่าน้ำร้อนน้ำชา, ค่าซื้อความสะดวก ฯลฯ ทำกันจนเคยชินเป็นเรื่องปกติใครๆ ก็ทำกัน จึงไม่คิดว่าเป็นบาป เมื่อนักกฎหมายไม่มีหิริโอตัปปะจึงไปรับสินบนโดยไม่คิดว่าเป็น “เงินบาป” ที่จะเป็นกรรมติดตัวไปทุกภพทุกชาติ ตายไปตกนรกชดใช้กรรมอย่างทุกข์ทรมานแสนสาหัส เมื่อไม่เชื่อเรื่องกฎแห่งกรรม สวรรค์นรกมีจริง ตามคำสอนของพระพุทธเจ้า จึงไม่เกรงกลัวผลที่จะเกิดขึ้นจากการกระทำของตนเองอันเกิดจากการไม่มีหิริโอตัปปะ

3.) นักกฎหมายต้องสันโดษ

สันโดษ คือ ความยินดี ความพอใจ คือความรู้จักพอดี ความรู้จักพอเพียง ต้นเหตุที่นักกฎหมายจะทุจริตคอร์รัปชั่นเกิดจากกิเลส “ความโลภ” โดยแท้ นักกฎหมายต้องหาเลี้ยงชีพอย่างสันโดษแสวงหาทรัพย์โดยชอบธรรม อย่าเห็นความสำคัญของวัตถุเงินทองมากนัก ใช้ชีวิตพอเพียง ไม่ทำผิดกฎหมาย ผิดศีล ผิดธรรม ไม่ใช้จ่ายฟุ่มเฟือย และก่อหนี้จนเกินกำลังของตนเอง นักกฎหมายต้องฝึกกำหนดลมหายใจอานาปานสติเพื่อเอาชนะความชั่วร้ายในจิตใจอวิชชาโดยวิธีการบังคับจิตให้อยู่ในอำนาจจนทำลายกิเลสความโลภทั้งปวงได้ และให้พิจารณาความตายอยู่เป็นนิจว่าตัวเราสักวันหนึ่งก็ต้องตาย ไม่มีใครหนีความตายพ้น มีชีวิตอยู่ได้อย่างมากก็ไม่เกินร้อยปี ตายไปก็เอาอะไรไปไม่ได้เว้นแต่บุญและบาป ใช้ชีวิตแบบสันโดษรู้จักพอเพียงดีกว่า ตอนใกล้ตายจิตจะได้บริสุทธิ์ไม่มีแรงบาปมาดลจิตให้คิดถึงอดีตที่ตัวเองเคยทำชั่วไว้ อย่าใช้คำว่า “รู้อย่างนี้ไม่น่าทำเลย” มันสายไปเสียแล้ว จิตสุดท้ายจะไปสู่ทุคติ คืออบายภูมินั่นเอง

4.) นักกฎหมายต้องยึดมั่นในสิ่งที่ถูกต้องชอบธรรม

นักกฎหมายต้องกล้าที่จะปฏิบัติงานของตนให้เป็นไปด้วยความถูกต้อง เที่ยงตรง โดยปฏิบัติให้ถูกต้องตามหลักกฎหมาย และตามหลักจริยธรรมคุณธรรม ถึงแม้ว่าผู้บังคับบัญชาจะมีคำสั่งให้กระทำผิดกฎหมายทุจริตคอร์รัปชั่น รับสินบน นักกฎหมายจะต้องมีสติกล้าที่จะไม่ปฏิบัติตามคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายโดยโต้แย้งคัดค้านว่าไม่ถูกต้อง เนื่องจากคำสั่งนั้นไม่ใช่สิ่งที่ถูกต้องชอบธรรม ย่อมไม่ผิดวินัยและผิดกฎหมาย นักกฎหมายที่ยึดมั่นในความถูกต้องชอบทำจะยอมลาออกจากตำแหน่งหน้าที่ดีกว่าที่จะมาทำตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย นักกฎหมายแบบนี้จะทำให้ประชาชนเกิดความเชื่อมั่นศรัทธา ที่นั่งอยู่ในใจคน มิใช่นั่งอยู่บนหัวคน และน่ายกย่องสรรเสริญเป็นอย่างยิ่ง

5.) นักกฎหมายต้องซื่อสัตย์ต่อตำแหน่งหน้าที่การงานของตน

นักกฎหมายต้องมีสัจจะ คือ ซื่อสัตย์สุจริต ซื่อตรงและจริงใจต่อหน้าที่การงานของตน มีความประพฤติตรงไปตรงมา ไม่หลอกลวง คดโกง ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริตต่อตนเองและคนอื่น คำนึงถึงผลประโยชน์ส่วนรวมมากกว่าส่วนตน เมื่อมีคนมาเสนอเงินสินบนให้กระทำผิดหน้าที่โดยมิชอบ นักกฎหมายต้องมีสติสัมปชัญญะเมื่อเห็นเงินมากระทบสัมผัสทางทวาร คือ “ตา” ต้องมีสติบังคับจิตไม่ให้ตกอยู่ใต้อำนาจของเงิน แล้วพิจารณาว่า “ซื่อกินไม่หมดคดกินไม่นาน” และความลับไม่มีในโลกมนุษย์ ต้องเผยความจริงขึ้นมาสักวัน การจะคิดได้เช่นนี้นักกฎหมายต้องฝึกอานาปานสติมาพอสมควร และที่สำคัญต้องมีหิริโอตัปปะคำนึงว่าผลจากการกระทำทุจริตคอร์รัปชั่นทำให้ตนเองต้องรับโทษทางอาญาและต้องถูกไล่ออกจากงาน ทำให้ตัวเองเสียชื่อเสียงของวงศ์ตระกูลติดคุกติดตะรางได้รับความอับอายถึงพ่อแม่ญาติพี่น้องของตัวเอง

6.) นักกฎหมายต้องไม่ลุ่มหลงในอำนาจ

เมื่อคนเราไม่เคยมีอำนาจ พอมีอำนาจขึ้นมา มีคนเรียกว่า “ท่าน” ก็เกิดเริ่มหลงในอำนาจจนไม่รู้ว่าอะไรผิดอะไรถูก เรียกว่า “บ้าอำนาจ” จนลืมกำพืดของตนเองว่าเราก็เป็นแค่คนธรรมดาคนหนึ่งไม่ได้วิเศษวิโสแต่อย่างใด ยศตำแหน่งเป็นแค่หัวโขนเท่านั้น ดังสุภาษิตที่ว่า “วัวลืมตีน” ก็ว่าได้ ซึ่งอาจถูกยกย่อปอปั้น ยุยง ส่งเสริม ใช้อำนาจหน้าที่ของตนเองไปทุจริตคอร์รัปชั่นโดยการแสวงหาผลประโยชน์ที่มิชอบด้วยกฎหมายสำหรับตนเองหรือผู้อื่น นักกฎหมายจะต้องบังคับจิตให้พิจารณาโลกธรรม 8 คือ มีลาภ เสื่อมลาภ มียศ เสื่อมยศ สรรเสริญ นินทา สุข ทุกข์ ทุกสรรพสิ่งเป็นอนิจจัง ทุกข์ขัง อนัตตา ไม่น่ายึดมั่นถือมั่น เมื่อนักกฎหมายบังคับจิตได้ก็สามารถบังคับการยึดมั่นถือมั่นในความลุ่มหลงอำนาจได้

7.) นักกฎหมายต้องไม่เห็นแก่เงิน

ขึ้นชื่อว่าเงินใครๆ ก็อยากได้ แต่นักกฎหมายต้องรักษาเกียรติภูมิแห่งวิชาชีพกฎหมาย ทำหน้าที่ของตนด้วยความยึดมั่นในคุณธรรม ไม่ทุจริตคอร์รัปชั่นรับสินบน จนทำให้ประชาชนได้รับความเดือนร้อน เมื่ออายตนะทาง “ตา” มองเห็นเงินก็เกิดความโลภจึงอุปทานยึดมั่นถือมั่นด้วยความโง่ด้วยอวิชชา จึงทำให้อยากได้เงินขึ้นมา หากนักกฎหมายฝึกอานาปานสติแล้วจะสามารถบังคับจิตให้อยู่ในอำนาจของเราไม่ตกอยู่ภายใต้กิเลสความโลภไม่เห็นแก่เงินที่มีคนมาเสนอให้ เมื่อบังคับจิตได้แล้วก็จะพิจารณาต่อไปว่าหากถูกจับได้ไม่คุ้มกับอนาคตที่อุตส่าห์ร่ำเรียนมาและต้องติดคุกไปในที่สุด

สรุปคือ นักกฎหมายจะปฏิบัติตามข้อ 1-7.ได้นั้น ไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องฝึกอานาปานสติมาพอสมควร ดั่งที่พระพุทธทาสภิกขุ ท่านกล่าวว่า “ทุกอย่างอยู่ที่จิต” คือ ความสุขก็ดี ความทุกข์ก็ดี อยู่ที่จิตเป็นสุขหรือทุกข์ เราสามารถบังคับจิตให้รู้สึกสุขหรือทุกข์ได้โดยการฝึกอานาปานสติ ขั้นต้นเรียกว่า “กายานุปัสสนาสติปัฎฐาน” เราไม่สามารถบังคับร่างกายได้โดยตรง แต่เราบังคับร่างกายผ่านทางลมหายใจได้ เพราะร่างกายกับลมหายใจเกี่ยวเนื่องสัมพันธ์กันไม่อาจแยกจากกันได้ ไม่หายใจก็ตาย โดยกำหนดรู้จากลมหายใจที่ยาวอย่างทั่วถึง, รู้จากลมหายใจที่สั้นอย่างไร, รู้กายทั้งปวง และทำลมหายใจให้ระงับลง ขั้นที่ 1.หัดวิ่งตามลมหายใจเข้าออกจากสะดือมาสุดที่จมูกและจากจมูกมาสุดที่สะดือ ขั้นที่ 2 เฝ้ารอดูลมหายใจที่จมูก เรียกว่าอุคคหนิมิต และขั้นที่ 3 ในจิตจะเห็นเป็นดวงขึ้นมาให้จินตนาการกำหนดให้จุดเล็กใหญ่เคลื่อนย้ายเปลี่ยนสีได้เพื่อบังคับดวงจิต เมื่อฝึกถึงขั้นนี้แล้วย่อมแสดงว่าเราบังคับจิตได้ถือว่าเป็น “นายเหนือจิต” เรียกว่า ปฏิภาคนิมิต ถึงขั้นที่จะเกิดสมาธิปฐมฌานแล้ว เพียงแค่ฝึกเท่านี้ก็เกินพอแล้วสำหรับบุคคลธรรมดาที่จะทำให้มีสติสัมปชัญญะและนำมาใช้ในชีวิตประจำวันได้เป็นอย่างดีเอาชนะกิเลสความชั่วร้ายในจิตตัวเองได้ เพราะทุกอย่างอยู่ที่จิต

 691 ผู้เข้าชมเว็บไซต์,  2 views today