การประนอมหนี้ตามกฎหมายล้มละลาย


1.บทนํา

1.1 ความสำคัญ

ในปัจจุบันสภาวะเศรษฐกิจของประเทศไทยมีความผันผวนเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะปัญหาไวรัสโควิด-19 ที่แพร่ระบาดไปทั่วโลกรวมทั้งประเทศไทยด้วย จึงส่งผลกระทบต่อการทำธุรกิจ และสภาพทางการเงินของผู้ประกอบการก่อให้เกิดการลดความต้องการสินค้าหรือบริการโดยเฉพาะธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ไม่สามารถประกอบกิจการได้อย่างปกติจึงทำให้ขาดสภาพคล่องทางการเงินและไม่สามารถชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ได้ จึงทำให้ลูกหนี้บางรายอาจจะถูกฟ้องร้องเป็นคดีแพ่ง หรืออาจถูกฟ้องเป็นคดีล้มละลายเป็นจำนวนมากขึ้นในอนาคต และทำเกิดวิกฤติเศรษฐกิจเป็นวงกว้างได้

การจะเป็นบุคคลล้มละลายได้นั้นจะต้องมีหนี้สินล้นพ้นตัว คำว่า “หนี้สินล้นพ้นตัว” หมายถึง ลูกหนี้มีหนี้สินมากกว่าทรัพย์สิน ซึ่งกฎหมายล้มละลายใช้บังคับเมื่อสถานะทางการเงินของลูกหนี้ที่ไม่ปกติ แต่ลูกหนี้มีสถานะทางการเงินที่ปกติจะใช้กฎหมายล้มละลายไม่ได้ กฎหมายล้มละลายจะช่วยให้ลูกหนี้ประนอมหนี้หรือปรับปรุงโครงสร้างหนี้ได้ทั้งก่อน และหลังลูกหนี้ล้มละลายได้ ทั้งนี้ กระบวนการล้มละลายโดยการประนอมหนี้จะมีการชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ทั้งหลายอย่างรวดเร็วและเป็นธรรม โดยมีกระบวนการเพิ่มมูลค่าทรัพย์สินของลูกหนี้ให้สูงสุด ด้วยวิธีการจัดการทรัพย์สินอย่างเป็นระบบระเบียบเพื่อช่วยให้เจ้าหนี้ได้รับเงินอย่างรวดเร็วที่สุดด้วยวิธีการประนอมหนี้หรือปรับโครงสร้างหนี้ ช่วยลดความเสียหายให้แก่เจ้าหนี้ กฎหมายล้มละลายมิได้มีประโยชน์ต่อลูกหนี้เพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่ยังมีประโยชน์ต่อเจ้าหนี้ทั้งหลายอีกด้วย เมื่อเจ้าหนี้คนใดคนหนึ่งเข้าสู่กระบวนการล้มละลายมีการประนอมหนี้ก็จะเป็นประโยชน์แก่เจ้าหนี้คนอื่นๆ ด้วย และเป็นการบังคับให้เจ้าหนี้เข้าสู่กระบวนการล้มละลายด้วย หากไม่เข้ามาในกระบวนการล้มละลายจะทำให้เจ้าหนี้เสียประโยชน์อย่างใดอย่างหนึ่ง การขอประนอมหนี้ในคดีล้มละลายเป็นอีกแนวทางในการลดภาระหนี้ที่รวดเร็ว เพื่อหาเงื่อนไขใหม่ที่ทำให้ลูกหนี้สามารถผ่อนชำระได้โดยไม่เป็นปัญหาจนเกินไป

โดยเฉพาะวิกฤติเศรษฐกิจ หากไม่มีการประนอมหนี้ตามกฎหมายล้มละลายมาจัดการในเรื่องนี้ สังคมอาจจะวุ่นวายเกิดปัญหาตามมา อาทิ ลูกหนี้มีหนี้สินล้นพ้นตัวไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้จึงคิดสั้นฆ่าตัวตายทั้งครอบครัว, การฆ่าล้างหนี้, ลูกหนี้ชำระแต่ดอกเบี้ย เป็นต้น กฎหมายล้มละลายจึงเป็นกฎหมายที่มีวัตถุประสงค์ เพื่อจัดการชำระสะสางหนี้สินของผู้มีหนี้สินล้นพ้นตัว เนื่องจากลูกหนี้มีสถานะการเงินที่ไม่ปกติ โดยการขอประนอมหนี้ก่อนล้มละลายหรือประนอมหนี้หลังล้มละลายได้ เมื่อเข้าสู่กระบวนการล้มละลายแล้วจะนำทรัพย์สินของลูกหนี้มาแบ่งชำระให้แก่บรรดาเจ้าหนี้ทั้งหลายอย่างเท่าเทียม และเป็นธรรมเพื่อประโยชน์ของเจ้าหนี้ทั้งหลายให้ได้รับชำระหนี้จำนวนมากที่สุดอย่างเสมอภาคในเวลาอันรวดเร็ว ทั้งยังเป็นประโยชน์แก่ลูกหนี้ให้ได้ปลดเปลื้องภาระหนี้สินของตน และเป็นประโยชน์ต่อระบบเศรษฐกิจและสังคมโดยรวมอีกด้วย

1.2.วัตถุประสงค์

1.2.1 เพื่อให้ทราบปัญหาการประนอมหนี้กับ บสท. ทำให้ลูกหนี้หรือผู้ค้ำประกัน ถูกศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดโดยศาลไม่ต้องไต่สวน

1.2.2 เพื่อให้ทราบปัญหาการยื่นคำขอประนอมหนี้ก่อนล้มละลาย ลูกหนี้ถูกจำกัดสิทธิยื่นคำขอประนอมหนี้ได้เพียงครั้งเดียว

1.2.3 เพื่อให้ทราบปัญหาการตีความกฎหมาย ในการประนอมหนี้ภายใต้กระบวนการฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้

1.2.4 เพื่อให้ทราบปัญหาการประนอมหนี้นอกศาลตามกระบวนการของ คปน. หรือ CDRAC ยังไม่สามารถคุ้มครองแก่เจ้าหนี้และลูกหนี้ได้มากพอ

1.3.สมมติฐาน

ปัญหาการประนอมหนี้กับ บสท. ทำให้ลูกหนี้หรือผู้ค้ำประกัน ถูกศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดโดยศาลไม่ต้องไต่สวน ปัญหาการยื่นคำขอประนอมหนี้ก่อนล้มละลาย ลูกหนี้ถูกจำกัดสิทธิยื่นคำขอประนอมหนี้ได้เพียงครั้งเดียว ปัญหาการตีความกฎหมาย ในการประนอมหนี้ภายใต้กระบวนการฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ และปัญหาการประนอมหนี้นอกศาลตามกระบวนการของ คปน. หรือ CDRAC ยังไม่สามารถคุ้มครองแก่เจ้าหนี้และลูกหนี้ได้มากพอ ซึ่งตามพระราชกำหนดบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย พ.ศ.2544 และตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 โดยผลที่ได้รับจากการทำรายงานฉบับนี้ เพื่อให้ทราบปัญหาดังกล่าว พร้อมกับการแก้ไขปัญหาดังกล่าวข้างต้น ทั้งเป็นการแก้ปัญหาทั้งข้อกฎหมายและการบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องอีกด้วย

1.4.ขอบเขต

การศึกษานี้จำกัดขอบเขตอยู่ที่เริ่มต้นทำความเข้าใจกับความเป็นมา แนวคิดและทฤษฎีที่เกี่ยวกับการประนอมหนี้ตามกฎหมายล้มละลาย ตั้งแต่การประนอมหนี้ในศาล และการประนอมหนี้นอกศาล นอกจากนั้น ก็จะได้ทำการศึกษากฎหมายเกี่ยวกับการจัดการแก้ไขปัญหาทางด้านกฎหมาย ได้แก่ ปัญหาการประนอมหนี้กับ บสท. ทำให้ลูกหนี้หรือผู้ค้ำประกัน ถูกศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดโดยศาลไม่ต้องไต่สวน ปัญหาการยื่นคำขอประนอมหนี้ก่อนล้มละลาย ลูกหนี้ถูกจำกัดสิทธิยื่นคำขอประนอมหนี้ได้เพียงครั้งเดียว ปัญหาการตีความกฎหมาย ในการประนอมหนี้ภายใต้กระบวนการฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ และปัญหาการประนอมหนี้นอกศาลตามกระบวนการของ คปน. หรือ CDRAC

1.5.วิธีดำเนินการ

การศึกษานี้เป็นการศึกษาค้นคว้าทางเอกสาร โดยอาศัยการศึกษาค้นคว้าและวิเคราะห์ข้อมูลจากข้อเท็จจริงต่างๆ รวมทั้งศึกษากฎหมายที่เกี่ยวข้อง และรวบรวมข้อมูลจากเอกสาร แนวความคิด ทฤษฎี หนังสือ วารสาร บทความ วิทยานิพนธ์ และข้อมูลต่างๆ ที่เกี่ยวข้องที่อยู่ในเว็บไซต์ต่างๆ และหนังสือที่ได้ตีพิมพ์เผยแพร่สู่ประชาชน เพื่อรวบรวมข้อมูลมาประกอบการวิเคราะห์ที่จะก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดในการศึกษานี้ โดยมีการกลั่นกรองข้อมูลและตรวจสอบความเชื่อถือได้ของข้อมูล

1.6.ประโยชน์

1.6.1 เพื่อให้ทราบปัญหาการประนอมหนี้กับ บสท. ทำให้ลูกหนี้หรือผู้ค้ำประกัน ถูกศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดโดยศาลไม่ต้องไต่สวน

1.6.2 เพื่อให้ทราบปัญหาการยื่นคำขอประนอมหนี้ก่อนล้มละลาย ลูกหนี้ถูกจำกัดสิทธิยื่นคำขอประนอมหนี้ได้เพียงครั้งเดียว

1.6.3 เพื่อให้ทราบปัญหาการตีความกฎหมาย ในการประนอมหนี้ภายใต้กระบวนการฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้

1.6.4 เพื่อให้ทราบปัญหาการประนอมหนี้นอกศาลตามกระบวนการของ คปน. หรือ CDRAC ยังไม่สามารถคุ้มครองแก่เจ้าหนี้และลูกหนี้ได้มากพอ

2. แนวความคิด และหรือทฤษฎี การประนอมหนี้ตามกฎหมายล้มละลาย

2.1 กระบวนการประนอมหนี้ทั่วไป

หนี้ (Debt) มีความหมายอย่างกว้าง คือ นิติสัมพันธ์ระหว่างบุคคลสองฝ่าย ซึ่งฝ่ายหนึ่งเรียกว่า “ลูกหนี้” มีหน้าที่ต้องกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งให้แก่อีกฝ่ายหนึ่ง เรียกว่า “เจ้าหนี้” ในทางกฎหมาย

หลักการพื้นฐานของกฎหมายหนี้ มีลักษณะเป็นการบังคับให้ลูกหนี้ชำระหนี้เต็มตามจำเลยภายในระยะเวลาที่กำหนด แต่หากลูกหนี้ไม่สามารถชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ได้เต็มตามจำนวนและภายในระยะเวลาที่กำหนดแล้ว ก็จะมาว่าด้วยเรื่องการประนอมหนี้ หรือปรับโครงสร้างหนี้เพื่อให้โอกาสเจ้าหนี้และลูกหนี้ได้มาทำความตกลงเรื่องนี้กันอีกครั้ง อาจจะเป็นการขยายระยะเวลาการชำระหนี้ออกไป เพื่อให้ลูกหนี้มีเวลาไปหาเงินมาชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ หรือลูกหนี้ขอผ่อนชำระหนี้กับเจ้าหนี้เป็นรายงวด โดยไม่ต้องชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้เต็มจำนวน ก็ขึ้นอยู่กับลูกหนี้และเจ้าหนี้ตกลงกัน หากเจ้าหนี้ยินยอมตามที่ลูกหนี้เสนอข้อตกลงนั้นก็จะทำย่อมทำให้ผลการชำระหนี้ระงับลงบางส่วน หรือเกิดหนี้ใหม่ตามที่ตกลงกัน ซึ่งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์บัญญัติผลของการระงับแห่งหนี้ไว้ด้วย เช่น การปลดหนี้ การหักกลบลบหนี้ การแปลงหนี้ใหม่ เป็นวิธีการตกลงเกี่ยวกับหนี้สินในทางแพ่ง ได้แก่ การประนอมหนี้ในคดีแพ่ง การประนีประนอมยอมความ การไกล่เกลี่ยข้อพิพาท ซึ่งเป็นวิธีการประนอมหนี้เหมือนกัน แต่วิธีการและผลการดำเนินการแตกต่างกันเท่านั้น แต่มีวัตถุประสงค์ท้ายสุดเพื่อการประนอมหนี้ตามกฎหมาย

การประนอมหนี้ทั่วไปอาจเกิดขึ้นจากการที่ลูกหนี้มีปัญหาขาดสภาพคล่อง โดยเฉพาะปัญหาที่เกิดจากวิกฤติทางเศรษฐกิจ เป็นการแก้ไขปัญหาการขาดสภาพคล่อง เพื่อให้ลูกหนี้สามารถดำเนินธุรกิจของตนเองต่อไปได้ ไม่ตกเป็นบุคคลล้มละลาย ซึ่งจะถูกจำกัดสิทธิในการจัดการทรัพย์สินของตนเอง ทำให้ลูกหนี้ประสบปัญหาที่มีสถานะทางการเงินไม่ปกติ เนื่องมากจากมีหนี้สินล้นพ้นตัว หรือมีหนี้สินมากกว่าทรัพย์สินนั่นเอง

2.2 กระบวนการประนอมหนี้ในคดีล้มละลาย

การประนอมหนี้ (Composition) หมายถึง การที่ลูกหนี้ทำความตกลงกันกับเจ้าหนี้ในเรื่องหนี้สินโดยวิธีขอชำระหนี้เพียงบางส่วนหรือโดยวิธีอื่นหากที่ประชุมเจ้าหนี้มีมติพิเศษยอมรับคำขอประนอมหนี้ และศาลเห็นชอบ ลูกหนี้ย่อมไม่ตกเป็นคนล้มละลาย หรือพ้นจากการเป็นคนล้มละลาย อนึ่งการประนอมหนี้มี 2 ระยะคือ ก่อนล้มละลายและหลังล้มละลาย (อ้างอิง :ศาสตราจารย์วิชา มหาคุณ รองศาสตราจารย์ ดร.ภูมิ โชคเหมาะ อาจารย์ไกรสร บารมีอวยชัย อาจารย์ ดร.นันทรัตน์ เตชะมา, เอกสารประกอบคำบรรยายกฎหมายล้มละลายเปรียบเทียบ (Comparative Bankruptcy Law) LAW 6811, ปรับปรุง พ.ศ.2560, น.349)

การประนอมหนี้ หมายถึง การที่ลูกหนี้ทำความตกลงกับเจ้าหนี้ในเรื่องหนี้สินโดยวิธีการขอประนอมหนี้เพียงบางส่วน หรือโดยวิธีการอื่น หากที่ประชุมเจ้าหนี้มีมติพิเศษยอมรับคำขอประนอมหนี้ และศาลเห็นชอบด้วย ลูกหนี้ย่อมไม่ตกเป็นบุคคลล้มละลาย หรือพ้นจากการเป็นบุคคลล้มละลาย

การประนอมหนี้เป็นวิธีหนึ่งที่จะทำให้ลูกหนี้หลุดพ้นจากการล้มละลายซึ่งการประนอมหนี้คือการที่ลูกหนี้ขอทำความตกลงในเรื่องหนี้สินโดยวิธีชำระหนี้บางส่วน หรือโดยวิธีอื่นตามแต่จะตกลงกัน

การขอประนอมหนี้นั้นถ้าลูกหนี้ประสงค์จะขอประนอมหนี้ก็อาจกระทำได้ 2 วิธี คือ

1. ขอประนอมหนี้ก่อนล้มละลาย ซึ่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 ได้บัญญัติไว้ใน มาตรา 45-60

2. ขอประนอมหนี้ภายหลังล้มละลายซึ่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 ได้บัญญัติไว้ใน มาตรา 63

กฎหมายไทยเราในคดีล้มละลายเราเอามาจากอังกฤษ ก็คือการมีหนี้สินล้นพ้นตัวของ ลูกหนี้นั้นเอง หรือลูกหนี้มีทรัพย์สินน้อยกว่าหนี้สิน จึงเป็นลักษณะการเป็นหนี้สินล้นพ้นตัวแบบถาวร การมีหนี้สินล้นพ้นตัวชั่วคราวหรือขาดสภาพคล่องเงินชั่วคราวนั้น นานาประเทศก็เอามาใช้ ประเทศไทยเราก็ออกไปในเชิงนั้น แต่บังเอิญเราก็อยากสะกัดกั้นไม่ให้เขาเป็นคนล้มละลายเพื่อประโยชน์แก่เศรษฐกิจของชาติและก็ขณะเดียวกันก็เป็นประโยชน์ต่อตัวลูกหนี้ด้วย ซึ่งเจ้าหนี้เองก็ต้องเห็นชอบด้วยและศาลก็ต้องเห็นชอบด้วย ก็ใช้หลักการของเขามาเหมือนกัน กระบวนการทางกฎหมายก็จะคล้ายคลึงกันตรงนี้ (อ้างอิง : ฝ่ายวิชาการ นิติศาสตรมหาบัณฑิต รุ่น 1 มหาวิทยาลัยรามคำแหง สาขาวิทยบริการเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดนครราชสีมา คำ
บรรยายวิชากฎหมายล้มละลายเปรียบเทียบ (LA 729) วันเสาร์ที่ 8 มีนาคม 2546, รองศาสตราจารย์ ดร. ภูมิ โชคเหมาะ)

ดังนั้น ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มีรากฐานมาจากกฎหมายล้มละลายของประเทศอังกฤษให้ความสำคัญแก่การล้มละลายขององค์กรธุรกิจ โดยใช้หลักการพักชำระหนี้หรือการหยุดการชำระหนี้โดยอัตโนมัติ แต่ตามกฎหมายล้มละลายของประเทศไทย มีวัตถุประสงค์โดยรวมเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่ทั้งเจ้าหนี้และลูกหนี้ เพื่อจัดการชำระสะสางหนี้สินของผู้มีหนี้สินล้นพ้นตัว โดยนำทรัพย์สินของลูกหนี้มาแบ่งชำระให้แก่บรรดาเจ้าหนี้ทั้งหลายอย่างเท่าเทียมและเป็นธรรม เพื่อประโยชน์ของเจ้าหนี้ทั้งหลายให้ได้รับชำระหนี้จำนวนมากที่สุดอย่างเสมอภาคในเวลาอันรวดเร็ว ทั้งยังเป็นประโยชน์แก่ลูกหนี้ให้ได้ปลดเปลื้องภาระหนี้สินของตน และเป็นประโยชน์ต่อระบบเศรษฐกิจและสังคมโดยรวม หลักการกฎหมายล้มละลายของประเทศไทยนั้น มีลักษณะบังคับให้ลูกหนี้เข้าสู่กระบวนการโดยไม่สมัครใจ ลูกหนี้ไม่สามารถสมัครใจเข้าสู่กระบวนการได้ด้วยตนเอง

การประนอมหนี้ก่อนล้มละลายไม่ค่อยประสบความสำเร็จ เนื่องจากเจ้าหนี้เป็นสถาบันการเงินที่มีหลักประกัน ยิ่งเจ้าหนี้มีมากกว่าหนึ่งสถาบันการเงินก็มีโอกาสที่จะประนอมหนี้ประสบความผลสำเร็จ เมื่อเจ้าหนี้ไม่ยอมประนอมหนี้ลูกหนี้ก็จะถูกศาลมีคำพิพากษาให้ลูกหนี้ล้มละลายต่อไป

3.เนื้อหาสาระ

3.1 หลักเกณฑ์การฟ้องคดีล้มละลาย (มาตรา 9)

(1) ลูกหนี้มีหนี้สินล้นพ้นตัว

(2) ลูกหนี้ซึ่งเป็นบุคคลธรรมดา เป็นหนี้เจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์คนเดียวหรือหลายคนเป็นจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งล้านบาท หรือลูกหนี้ซึ่งเป็นนิติบุคคลเป็นหนี้เจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์คนเดียวหรือหลายคนเป็นจำนวนไม่น้อยกว่าสองล้านบาท

(3) หนี้นั้นอาจกำหนดจำนวนได้โดยแน่นอน ไม่ว่าหนี้นั้นจะถึงกำหนดชำระโดยพลันหรือในอนาคตก็ตาม

ในการพิจารณาคดีล้มละลายตามฟ้องของเจ้าหนี้ ศาลต้องพิจารณาเอาความจริงตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 9 หรือมาตรา 10 ถ้าศาลพิจารณาได้ความจริง ให้ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้เด็ดขาด แต่ถ้าไม่ได้ความจริงหรือลูกหนี้นำสืบได้ว่าอาจชำระหนี้ได้ทั้งหมดหรือมีเหตุอื่นที่ไม่ควรให้ลูกหนี้ล้มละลาย ให้ศาลยกฟ้อง ตามมาตรา 14

เมื่อเข้าหลักเกณฑ์ดังกล่าวข้างต้นแล้ว ศาลจะมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด บรรดาเจ้าหนี้ทั้งหลายต้องมายื่นคำขอรับชำระหนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ ภายในเวลา 2 เดือน นับแต่วันโฆษณาคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด (มาตรา 91) เพื่อที่ลูกหนี้จะได้ทราบว่าลูกหนี้มีหนี้สินเท่าใด และจะจัดการกับทรัพย์สินดังกล่าวอย่างไร ดังนั้น จะเห็นได้ว่าในการดำเนินคดีล้มละลายทันที แต่ใช้วิธีการพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้ไว้ก่อน เพื่อให้โอกาสให้ลูกหนี้ได้ประนอมหนี้กับเจ้าหนี้ก่อนล้มละลาย (มาตรา 45-60) หากลูกหนี้ไม่ขอประนอมหนี้ หรือที่ประชุมเจ้าหนี้ไม่มีมติไม่เห็นชอบด้วย ลูกหนี้จะถูกศาลพิพากษาให้ล้มละลาย แต่ถ้าลูกหนี้สามารถประนอมหนี้กับเจ้าหนี้สำเร็จ ลูกหนี้ก็ไม่ต้องถูกศาลพิพากษาให้เป็นบุคคลล้มละลาย ถึงอย่างไรก็ตาม ลูกหนี้ยังสามารถประนอมหนี้หลังล้มละลายได้อีก (มาตรา 63)

การประนอมหนี้เป็นอีกวิธีหนึ่งที่จะทำให้ลูกหนี้ไม่ต้องถูกศาลพิพากษาให้ล้มละลาย การประนอมหนี้ คือ การที่ลูกหนี้ขอทำความตกลงกับเจ้าหนี้ในเรื่องหนี้สินโดยชำระหนี้บางส่วน หรือชำระหนี้โดยวิธีการอื่นตามที่ตกลงกัน ซึ่งการประนอมหนี้มีได้ทั้งก่อนและหลังล้มละลาย

3.2 การประนอมหนี้ในศาล

3.2.1 การประนอมหนี้ภายใต้กระบวนการพระราชกำหนดบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย พ.ศ. 2544 (มาตรา 57)

ตามมาตรา 57 การประนอมหนี้โดยการปรับโครงสร้างหนี้ เป็นกระบวนการที่บรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย (บสท.) กับลูกหนี้ โดยสมัครใจร่วมกันแก้ไขปัญหาในการดำเนินการชำระหนี้โดยกำหนดเงื่อนไขการชำระหนี้ขึ้นมาใหม่ มีวัตถุประสงค์เพื่อฟื้นฟูกิจการของประเทศ โดยการแก้ไขปัญหาสินทรัพย์ด้อยคุณภาพให้เป็นไปอย่างรวดเร็ว และเพื่อให้ลูกหนี้ที่สุจริต อยู่ในฐานะที่จะชําระหนี้ได้ภายในเวลาที่กำหนดและสามารถดำเนินกิจการใหม่ได้ต่อไปได้

วิธีการปรับโครงสร้างนี้ ตามมาตรา 57 วรรคสอง กำหนดให้บรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย (บสท.) มีอำนาจดำเนินการปรับโครงสร้างหนี้ ดังต่อไปนี้

(1) ลดเงินต้น ดอกเบี้ย อัตราดอกเบี้ย และระยะเวลาที่จะคํานวณดอกเบี้ย ขยายระยะเวลาการชําระหนี้หรือผ่อนปรนเงื่อนไขในการชําระหนี้อย่างอื่นให้แก่ลูกหนี้และในกรณีที่เห็นสมควรเพื่อความเป็นธรรมอย่างทัดเทียมกันและความรวดเร็ว จะผ่อนปรนเงื่อนไขใน การชําระหนี้ดังกล่าวเป็นการทั่วไปให้แก่ลูกหนี้ทั้งหมดหรือบางประเภทก็ได้

(2) แปลงหนี้ของลูกหนี้เป็นทุนในกิจการของลูกหนี้

(3) รับโอนทรัพย์สินหรือสิทธิเรียกร้องจากลูกหนี้เพื่อชำระหนี้หรือจำหน่ายทรัพย์สินหรือสิทธิเรียกร้องบางส่วนของลูกหนี้ดังกล่าวให้แก่บุคคลภายนอก แต่ในกรณีที่ทรัพย์สินที่จะโอนหรือจำหน่ายไม่ใช่ทรัพย์สินที่เป็นหลักประกันแห่งหนี้ ต้องได้รับความยินยอมของลูกหนี้ก่อน

(4) รับโอนหุ้นหรือซื้อหุ้นเพิ่มทุนของลูกหนี้ เพื่อประโยชน์ในการปรับปรุงกิจการของลูกหนี้

(5) ใช้มาตรการอื่นใดโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการ

การดำเนินการปรับโครงสร้างหนี้ตาม (1) ถึง (5) คณะกรรมการบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย (บสท.) จะกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขให้ บสท.ปฏิบัติก็ได้

ผลการปรับโครงสร้างหนี้ดังกล่าว เมื่อลูกหนี้ กับ บสท. ได้ร่วมมือปรับโครงสร้างหนี้ และได้มีการชำระหนี้ตามที่ปรับโครงสร้างหนี้ ทำให้ลูกหนี้และผู้ค้ำประกันได้หลุดพ้นจากหนี้ ตามมาตรา 58 แต่ลูกหนี้หรือผู้ค้ำประกันไม่ให้ความร่วมมือกับ บสท.ทำการยักย้ายถ่ายเท หรือปิดบังซ้อนเร้นทรัพย์สินของตนเอง บสท. มีอำนาจดำเนินการยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดของลูกหนี้ หรือผู้ค้ำประกัน โดยไม่ต้องดำเนินการไต่สวน และให้ศาลหรือเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยล้มละลายต่อไปโดยเร็ว ตามมาตรา 58 วรรคท้าย

3.2.2 การประนอมหนี้ภายใต้กระบวนการกฎหมายล้มละลาย

(3.2.2.1) การประนอมหนี้ก่อนล้มละลาย (มาตรา 45-60)

ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 ตามมาตรา 14 บัญญัติว่า ในการพิจารณาคดีล้มละลายตามคำฟ้องของเจ้าหนี้นั้น ศาลต้องพิจารณาเอาความความจริงตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 9 หรือมาตรา 10 ถ้าศาลพิจารณาได้ความจริง ให้ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้เด็ดขาด แต่ถ้าไม่ได้ความจริงหรือลูกหนี้นำสืบได้ว่าอาจชำระหนี้ได้ทั้งหมดหรือมีเหตุอื่นที่ไม่ควรให้ลูกหนี้ล้มละลาย ให้ศาลยกฟ้อง ดังนั้น เจ้าหนี้ที่จะฟ้องลูกหนี้ให้ล้มละลายต้องระบุในคำฟ้อง และนำสืบให้ได้ความว่าลูกหนี้มีหนี้สินมากกว่าทรัพย์สิน หรือลูกหนี้อาจจะนำสืบให้เข้าข้อสันนิษฐานตามกฎหมายตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 8 ก็ได้ หากลูกหนี้นำสืบไม่ได้ตามความดังกล่าว ให้ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้เด็ดขาด

การประนอมหนี้ก่อนล้มละลายจะกระทำได้ ต่อเมื่อศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดแล้ว เมื่อศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดของลูกหนี้แล้ว แจ้งคำสั่งให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ทราบเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จะประกาศคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดในหนังสือพิมพ์ และราชกิจจานุเบกษา พร้อมทั้งประกาศให้บรรดาเจ้าหนี้ทั้งหลายยื่นคำขอรับชำระหนี้ ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ภายในกำหนดเวลา 2 เดือน นับแต่วันโฆษณาคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด ตามมาตรา 91 ดังนั้น ย่อมทำให้ลูกหนี้หมดอำนาจในการจัดการทรัพย์สินของตนเอง และอำนาจในการจัดการทรัพย์สินของลูกหนี้ตกแก่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ ลูกหนี้จะต้องยื่นคำขอประนอมหนี้และต้องมีการจัดประชุมเจ้าหนี้ครั้งแรกโดยเร็วที่สุด เพื่อปรึกษาว่าจะควรยอมรับคำขอประนอมหนี้ของลูกหนี้ หรือควรขอให้ศาลพิพากษาให้ลูกหนี้ล้มละลาย และปรึกษาถึงวิธีจัดการทรัพย์สินของลูกหนี้ ตามมาตรา 31

(3.2.2.2) การขอประนอมหนี้ (มาตรา 45)

การประนอมหนี้ก่อนล้มละลาย ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 45 บัญญัติว่า “เมื่อลูกหนี้ประสงค์จะทำความตกลงในเรื่องหนี้สินโดยวิธีขอชำระหนี้ แต่เพียงบางส่วนหรือโดยวิธีอื่น ให้ทำคำขอประนอมหนี้เป็นหนังสือยื่นต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ ภายในกำหนดเจ็ดวันนับแต่วันยื่นคำชี้แจงเกี่ยวกับกิจการและทรัพย์สินตามมาตรา ๓๐ หรือภายใน เวลาตามที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้กำหนดให้

คำขอประนอมหนี้ต้องแสดงข้อความแห่งการประนอมหนี้ หรือวิธีจัดกิจการหรือ ทรัพย์สินและรายละเอียดแห่งหลักประกัน หรือผู้ค้ำประกัน ถ้ามี และอย่างน้อยต้องมีรายละเอียด ดังต่อไปนี้

(1) ลำดับการชำระหนี้ตามพระราชบัญญัตินี้

(2) จำนวนเงินที่ขอประนอมหนี้

(3) แนวทางและวิธีการในการปฏิบัติตามคำขอประนอมหนี้

(4) กำหนดเวลาชำระหนี้

(5) การจัดการกับทรัพย์สินอันเป็นหลักประกัน ถ้ามี

(6) ผู้ค้ำประกัน ถ้ามี

ถ้าคำขอประนอมหนี้มีรายการไม่ครบถ้วนชัดเจนตามวรรคสอง ให้เจ้าพนักงาน พิทักษ์ทรัพย์แจ้งให้ลูกหนี้แก้ไขให้ครบถ้วนชัดเจน ให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เรียกประชุมเจ้าหนี้ เพื่อปรึกษาลงมติพิเศษว่าจะยอมรับคำขอประนอมหนี้นั้นหรือไม่”

การประนอมหนี้ก่อนล้มละลาย ตามมาตรา 45 เป็นการทำความตกลงในเรื่องหนี้สิน โดยวิธีการชำระหนี้บางส่วนหรือโดยวิธีอื่น ทั้งนี้ การประนอมก่อนล้มละลายเป็นสิทธิของลูกหนี้ที่จะขอประนอมหนี้หรือไม่ก็ได้ กฎหมายมิได้บัญญัติบังคับไว้ เมื่อลูกหนี้ถูกศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์แล้ว หากลูกหนี้ประสงค์จะขอประนอมหนี้ ลูกหนี้ต้องยื่นคำขอประนอมหนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ภายใน 7 วัน นับแต่วันที่ยื่นคำชี้แจงเกี่ยวกับกิจการและทรัพย์สิน หรือภายในกำหนดเวลาที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์กำหนด ตามมาตรา 30 แต่ทั้งนี้จะต้องก่อนการประชุมครั้งแรก (มาตรา 31) ซึ่งการประชุมเจ้าหนี้ครั้งแรกต้องทำภายหลังจากศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้เด็ดขาดโดยเร็วที่สุด เพื่อพิจารณาว่าจะยอมรับว่าคำขอประนอมหนี้ของลูกหนี้หรือไม่ ถ้าลูกหนี้ไม่ยื่นคำขอประนอมหนี้หรือยื่นแล้วแต่เจ้าหนี้ไม่ยอมรับคำขอประนอมหนี้นั้น ศาลก็ต้องพิพากษาให้ลูกหนี้ล้มละลาย ตามมาตรา 61 ซึ่งการพิจารณาคำขอประนอมหนี้ของลูกหนี้ต้องใช้มติพิเศษของที่ประชุมเจ้าหนี้ ว่าจะยอมรับคำขอประนอมหนี้หรือไม่ ตามมาตรา 45 วรรคท้าย

ในคำขอประนอมหนี้นั้น ต้องแสดงข้อความแห่งการประนอมหนี้ เพื่อตกลงในเรื่องหนี้สินกับเจ้าหนี้ โดยวิธีการชำระหนี้เพียงบางส่วนหรือโดยวิธีการอื่น ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 45 วรรคสอง วิธีการจัดการกิจการหรือทรัพย์สินและรายละเอียดแห่งหลักประกันหรือผู้ค้ำประกัน (ถ้ามี) และอย่างน้อยต้องมีรายละเอียดดังต่อไปนี้

(1) ลำดับการชำระหนี้ตามพระราชบัญญัตินี้

(2) จำนวนเงินที่ขอประนอมหนี้

(3) แนวทางและวิธีการในการปฏิบัติตามคำขอประนอมหนี้

(4) กำหนดเวลาชำระหนี้

(5) การจัดการกับทรัพย์สินอันเป็นหลักประกัน ถ้ามี

(6) ผู้ค้ำประกัน ถ้ามี

เมื่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้รับคำขอประนอมหนี้จากลูกหนี้แล้ว เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จะเรียกประชุมเจ้าหนี้ เพื่อปรึกษาหารือลงมติพิเศษว่าจะยอมรับคำขอประนอมหนี้หรือไม่ (มาตรา 45 วรรคท้าย) การประนอมหนี้ดังกล่าวจะถือว่าเป็นผลสำเร็จ ผูกมัดเจ้าหนี้ทั้งหลายนอกจากจะได้ลงมติพิเศษยอมรับคำขอประนอมหนี้จากเจ้าหนี้แล้วศาลจะต้องมีคำสั่งเห็นชอบด้วย (มาตรา 46) เมื่อศาลได้รับคำขอประนอมหนี้จากเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์แล้ว ศาลจะสั่งให้นัดพิจารณาคำขอประนอมหนี้ โดยไต่สวนลูกหนี้โดยเปิดเผย เพื่อให้ทราบกิจการและทรัพย์สินของลูกหนี้ เหตุผลที่ทำให้มีหนี้สินล้นพ้นตัวตลอดจนความประพฤติของลูกหนี้ว่าได้กระทำ หรือละเว้นกระทำการใดซึ่งเป็นความผิดเกี่ยวกับกฎหมายล้มละลาย ตามมาตรา 42 จากนั้นจึงพิจารณาคำขอประนอมหนี้ตามรายงานของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ กับความเห็นของที่ประชุมเจ้าหนี้ว่าเห็นชอบกับการประนอมหนี้หรือไม่เมื่อศาลเห็นชอบด้วยกับการประนอมหนี้ของลูกหนี้แล้วก็จะผูกมัดเจ้าหนี้ทั้งหมดในเรื่องหนี้ซึ่งอาจขอรับชำระได้ ก็จะเข้าสู่กระบวนการจัดการทรัพย์สินหรือหนี้สินตามข้อตกลงในการประนอมหนี้ทันที หากต่อมาลูกหนี้ผิดนัดไม่ชำระหนี้ตามที่ได้ตกลงไว้ในการประนอมหนี้ หรือการประนอมหนี้นั้นไม่อาจดำเนินไปได้โดยปราศจากอยุติธรรมหรือจะเป็นการเนิ่นช้าเกินสมควร หรือการประนอมหนี้เกิดจากการหลอกลวงทุจริต เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์หรือเจ้าหนี้ร้องขอต่อศาลให้ยกเลิกการประนอมหนี้และพิพากษาให้ลูกหนี้ล้มละลายได้ (มาตรา 60)

(3.2.2.3) ผลการประนอมหนี้ (มาตรา 56)

ผลของการประนอมหนี้ มีดังนี้

(1) เมื่อการประนอมหนี้เป็นผลสำเร็จ ย่อมถือว่าคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดยกเลิกไปตัว ลูกหนี้มีอำนาจกลับมาจัดการทรัพย์สินดังเดิม แต่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ยังคงมีหน้าที่ดูแลให้ลูกหนี้ปฏิบัติตามข้อประนอมหนี้ หรือร้องขอให้ศาลยกเลิกการร้องขอประนอมหนี้ได้

(2) การประนอมหนี้ซึ่งที่ประชุมเจ้าหนี้ ได้ยอมรับและศาลเห็นชอบด้วยแล้ว ผูกมัดเจ้าหนี้ทั้งหมดในเรื่องหนี้ซึ่งอาจขอรับชำระได้ แต่ไม่ผูกมัดเจ้าหนี้คนหนึ่งคนใดในเรื่องหนี้ ซึ่งตามพระราชบัญญัตินี้ลูกหนี้ไม่อาจหลุดพ้นโดยคำสั่งปลดจากล้มละลายได้ เว้นแต่เจ้าหนี้คนนั้นได้ ยินยอมด้วยในการประนอมหนี้

(3) เจ้าหนี้คนหนึ่งคนใดหรือเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ มีอำนาจขอต่อศาล ให้บังคับลูกหนี้หรือผู้ค้ำประกันให้ปฏิบัติตามข้อความที่ประนอมหนี้ได้

(4) การประนอมหนี้ไม่ทำให้บุคคลซึ่งเป็นหุ้นส่วนกับลูกหนี้หรือรับผิดร่วมกับลูกหนี้ หรือค้ำประกันหรืออยู่ในฐานะอย่างผู้ค้ำประกันของลูกหนี้ หลุดพ้นจากความรับผิดไปด้วย เมื่อศาลมีคำสั่งเห็นชอบด้วยการประนอมหนี้ก่อนล้มละลาย ถือว่าคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดนั้นเป็นอันยกเลิกไปในตัว ลูกหนี้กลับมาเป็นผู้มีอำนาจจัดการทรัพย์สินและกิจการของตนเองได้เหมือนเดิม ตามที่ศาลฎีกาได้วินิจฉัย ดังนี้

คำพิพากษาฎีกาที่ 6067/2547 “จำเลยที่ 2 ถูกศาลจังหวัดแพร่มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดเมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2535 อำนาจในการจัดการกิจการและทรัพย์สินของจำเลยที่ 2 ย่อมตกอยู่แก่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์แต่ผู้เดียว ห้ามมิให้จำเลยที่ 2 กระทำการใด ๆ เกี่ยวกับทรัพย์สินหรือกิจการของตน เว้นแต่จะได้กระทำตามคำสั่งหรือความเห็นชอบของศาล เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ ผู้จัดการทรัพย์หรือที่ประชุมเจ้าหนี้ดังที่บัญญัติตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 22 และ มาตรา 24 แต่เมื่อศาลจังหวัดแพร่มีคำสั่งเห็นชอบด้วยการประนอมหนี้ก่อนล้มละลายของจำเลยที่ 2 เมื่อวันที่ 25 มกราคม 2536 จำเลยที่ 2 ย่อมกลับมามีอำนาจในการประกอบกิจการและทรัพย์สินของตนเองได้อีกต่อไปจวบจนกระทั่งศาลจังหวัดแพร่ได้มีคำสั่งยกเลิกการประนอมหนี้ และพิพากษาให้จำเลยที่ 2 ล้มละลายเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2541 ได้ความตามสำเนาคำพิพากษาคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 3657/2542 ของศาลจังหวัดเชียงราย ปรากฏว่า จำเลยที่ 1 กู้ยืมเงินโจทก์เมื่อวันที่ 11 เมษายน 2540 โดยมีจำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกัน และตามสำเนาคำพิพากษาคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 3741/2542 ส. และ ว. จำเลยที่ 1 และที่ 2 ในคดีดังกล่าวกู้ยืมเงินโจทก์เมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2540 โดยมีจำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกัน อันเป็นช่วงเวลาที่จำเลยที่ 2 กลับมามีอำนาจในการจัดการกิจการและทรัพย์สินของตนเองเนื่องจากศาลจังหวัดแพร่มีคำสั่งเห็นชอบ ด้วยการประนอมหนี้ก่อนล้มละลายของจำเลยที่ 2 ดังนี้ จำเลยที่ 2 ย่อมมีอำนาจทำสัญญาค้ำประกันหนี้แก่โจทก์ได้โดยชอบ มูลหนี้ตามสัญญาค้ำประกันที่โจทก์นำมาฟ้องจำเลยที่ 2 ทั้งสองคดีดังกล่าวจึงสมบูรณ์ ไม่ต้องห้ามตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 22 และมาตรา 24”

การประนอมหนี้ซึ่งที่ประชุมเจ้าหนี้ได้ยอมรับและศาลเห็นชอบด้วยแล้ว ผูกมัดเจ้าหนี้ทั้งหมดในเรื่องหนี้ซึ่งอาจขอรับชำระหนี้ได้ แต่ไม่ผูกมัดเจ้าหนี้ในเรื่องหนี้ที่ไม่อาจหลุดพ้น โดยคำสั่งปลดจากล้มละลายได้ เว้นแต่เจ้าหนี้นั้นจะยินยอมด้วยในการประนอมหนี้ (มาตรา 56)

ดังนั้น เมื่อมีการประนอมหนี้ย่อมผูกมัดเจ้าหนี้ทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นเจ้าหนี้ที่ได้ยื่นขอรับชำระหนี้ไว้แล้วและเจ้าหนี้ที่ไม่ได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ไว้ด้วย เจ้าหนี้จะมายื่นฟ้องให้ลูกหนี้รับผิดไม่ได้ ตามที่ศาลฎีกาได้วินิจฉัยไว้ ดังนี้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1001/2509 (ประชุมใหญ่) “หนี้ของลูกหนี้ซึ่งมีอยู่ก่อนลูกหนี้ถูกศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดนั้น เจ้าหนี้จะต้องยื่นคำขอรับชำระหนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ภายในกำหนดสองเดือน นับแต่วันโฆษณาคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดตามพระราชบัญญัติล้มละลาย มาตรา 27,91 เมื่อเจ้าหนี้ไม่ได้ร้องขอรับชำระหนี้ตามวิธีการดังกล่าว จนได้มีการประนอมหนี้เรียบร้อยและศาลสั่งปิดคดีแล้ว หากหนี้ของเจ้าหนี้ไม่ใช่หนี้ดังที่ระบุไว้ในมาตรา 77 การประนอมหนี้นั้นก็ผูกมัดเจ้าหนี้ด้วยตามมาตรา 56 เจ้าหนี้จะมาฟ้องลูกหนี้ให้ต้องรับผิดในหนี้นั้นในภายหลังมิได้(ประชุมใหญ่ ครั้งที่ 12/2509)”

และคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6349/2537 “ก่อนจำเลยที่ 3 ถูกพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดในคดีก่อน จำเลยที่ 1ได้เบิกเงินเกินบัญชีตามสัญญาจากโจทก์แล้ว อันทำให้เกิดมูลหนี้ที่จำเลยที่ 3 จะต้องรับผิดต่อโจทก์ตามสัญญาค้ำประกัน หนี้ตามสัญญาค้ำประกันของจำเลยที่ 3 จึงเป็นหนี้ที่เกิดขึ้นก่อนวันที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยที่ 3 เด็ดขาด อยู่ในบังคับที่โจทก์จะต้องยื่นคำขอรับชำระหนี้ แม้หนี้ตามสัญญาค้ำประกันของจำเลยที่ 3 จะยังไม่ถึงกำหนดชำระในขณะที่จำเลยที่ 3 ถูกพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด เพราะจำเลยที่ 1 ยังไม่ผิดนัด โจทก์ก็ต้องยื่นคำขอรับชำระหนี้ตามมูลหนี้สัญญาค้ำประกันในคดีล้มละลายคดีก่อนภายในกำหนดเวลา 2 เดือน นับแต่วันโฆษณาคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 27,91,94 เมื่อโจทก์ไม่ได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ในคดีล้มละลายดังกล่าวจนได้มีการประนอมหนี้ก่อนล้มละลายและศาลมีคำสั่งเห็นชอบด้วยการประนอมหนี้ของจำเลยที่ 3 แล้ว โจทก์ก็ต้องถูกผูกมัดโดยการประนอมหนี้ด้วยตามพระราชบัญญัติ ล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 56 โจทก์จะนำหนี้ตามสัญญาค้ำประกันดังกล่าวมาฟ้องให้จำเลยที่ 3 ต้องรับผิดและล้มละลายอีกไม่ได้ ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนศาลฎีกายกขึ้นวินิจฉัยเองได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142(5) ประกอบด้วยพระราชบัญญัติ ล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 153”

(3.2.2.4) การยกเลิกการประนอมหนี้ (มาตรา 60)

ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 60 บัญญัติว่า “ถ้าลูกหนี้ผิดนัดไม่ชำระหนี้ตามที่ได้ตกลงไว้ในการประนอมหนี้ก็ดี หรือ ปรากฏแก่ศาลโดยมีพยานหลักฐานว่า การประนอมหนี้นั้นไม่อาจดำเนินไปได้โดยปราศจากอยุติธรรม หรือจะเป็นการเนิ่นช้าเกินสมควรก็ดี หรือการที่ศาลได้มีคำสั่งเห็นชอบด้วยนั้นเป็นเพราะถูกหลอกลวง ทุจริตก็ดี เมื่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์รายงานหรือเจ้าหนี้คนใดมีคำขอโดยทำเป็นคำร้อง ศาลมี อำนาจยกเลิกการประนอมหนี้และพิพากษาให้ลูกหนี้ล้มละลาย แต่ทั้งนี้ไม่กระทบถึงการใดที่ได้ กระทำไปแล้วตามข้อประนอมหนี้นั้น

เมื่อศาลได้พิพากษาดังกล่าวในวรรคก่อนแล้ว ให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์โฆษณา คำพิพากษาในราชกิจจานุเบกษาและในหนังสือพิมพ์รายวันไม่น้อยกว่าหนึ่งฉบับ ในคำโฆษณาให้ระบุ ชื่อ ตำบลที่อยู่ อาชีพของลูกหนี้ และวันที่ศาลได้มีคำพิพากษา ทั้งให้แจ้งกำหนดเวลาให้เจ้าหนี้ทั้งหลายเสนอคำขอรับชำระหนี้ที่ลูกหนี้ได้กระทำขึ้นในระหว่างวันที่ศาลได้มีคำสั่งเห็นชอบด้วยการ ประนอมหนี้ถึงวันที่ศาลพิพากษาให้ลูกหนี้ล้มละลาย ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ด้วย

ศาลจะยกเลิกประนอมหนี้ได้ 4 กรณี ดังนี้

(1) ลูกหนี้ผิดนัด ไม่ชำระหนี้ตามที่ตกลงไว้ในการประนอมหนี้

(2) ปรากฏแก่ศาลว่าการประนอมหนี้ไม่อาจดำเนินไปโดยปราศจากอยุติธรรม

(3) ปรากฏแก่ศาลว่าการประนอมหนี้นั้น จะเป็นการเนิ่นช้าเกินสมควร

(4) การที่ศาลได้มีคำสั่งเห็นชอบด้วยการประนอมหนี้เพราะถูกหลอกลวงทุจริต

ผลการยกเลิกการประนอมหนี้ เมื่อยกเลิกการประนอมหนี้แล้วข้อตกลงตามข้อประนอมหนี้เป็นอันยกเลิกไป ลูกหนี้มีหน้าที่ต้องชำระหนี้ตามหนี้เดิมซึ่งอาจมีจำนวนมากกว่าตามข้อตกลงประนอมหนี้ กรณีเช่นนี้ลูกหนี้จะย้อนกลับไปขอให้บังคับตามข้อตกลงประนอมหนี้อีกไม่ได้

ตามคำพิพากษาฎีกาที่ 2071/2535 ศาลฎีกาได้วินิจฉัยว่า “ลูกหนี้ตกเป็นผู้ผิดนัดตามคำขอประนอมหนี้ก่อนล้มละลาย เมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ยกเลิกการประนอมหนี้ก่อนล้มละลายของลูกหนี้ โดยเหตุที่ลูกหนี้เป็นผู้ผิดเงื่อนไขไม่ปฏิบัติตามสัญญาประนอมหนี้ลูกหนี้จะถือปฏิบัติเอาตามสัญญาประนอมหนี้ซึ่งศาลมีคำสั่งยกเลิกต่อไปอีกไม่ได้ ต้องรับผิดชำระหนี้ส่วนที่เหลือแก่เจ้าหนี้ตามหนี้เดิมที่ยังไม่ได้รับชำระหนี้เต็มจำนวนหนี้ ส่วนข้อผูกมัดเจ้าหนี้ตามมาตรา 56 แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 จะผูกมัดเจ้าหนี้ทั้งหมดได้ต่อเมื่อลูกหนี้มิได้เป็นผู้ผิดนัดตามข้อตกลงในสัญญาประนอมหนี้ซึ่งที่ประชุมเจ้าหนี้ยอมรับ และศาลมีคำสั่งเห็นชอบเท่านั้น”

(3.2.2.5) การประนอมหนี้ภายหลังล้มละลาย (มาตรา 63)

ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 63 บัญญัติว่า “เมื่อศาลพิพากษาให้ล้มละลายแล้ว ลูกหนี้จะเสนอคำขอประนอมหนี้ก็ได้ ในกรณีนี้ให้นำบทบัญญัติของส่วนที่ 6 การประนอมหนี้ก่อนล้มละลาย ในหมวด 1 กระบวนพิจารณา ตั้งแต่ขอให้ล้มละลายจนถึงปลดจากล้มละลาย มาใช้บังคับโดยอนุโลม แต่ถ้าลูกหนี้ได้เคยขอประนอมหนี้ ไม่เป็นผลมาแล้ว ห้ามมิให้ลูกหนี้ขอประนอมหนี้ภายในกำหนดเวลาหกเดือนนับแต่วันที่การขอประนอมหนี้ครั้งสุดท้ายไม่เป็นผล

การขอประนอมหนี้ตามวรรคหนึ่งไม่เป็นเหตุให้ เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ต้องเลื่อน หรืองดการจำหน่ายทรัพย์สิน เว้นแต่กรณีมีเหตุอันสมควรที่อาจเป็นประโยชน์แก่การขอประนอมหนี้
ถ้าศาลเห็นชอบด้วยการประนอมหนี้ ศาลมีอำนาจสั่งให้ยกเลิกการล้มละลาย และจะสั่งให้ลูกหนี้กลับมีอำนาจจัดการเกี่ยวกับทรัพย์สินของตน หรือจะสั่งประการใดตามที่เห็นสมควรก็ได้”

ดังนั้น การประนอมหนี้ล้มละลาย ลูกหนี้อาจขอประนอมหนี้ก่อนล้มละลาย (มาตรา 45-60) หรือขอประนอมหนี้ภายหลังล้มละลายได้ (มาตรา 63) ซึ่งมาตรา 63 บัญญัติให้นำหลักเกณฑ์การประนอมหนี้ก่อนล้มละลายมาใช้บังคับโดยอนุโลม แต่ถ้าลูกหนี้เคยขอประนอมหนี้ไม่เป็นผลมาแล้วห้ามมิให้ลูกหนี้ขอประนอมหนี้ภายในกำหนดเวลา 6 เดือน นับแต่วันที่การขอประนอมหนี้ครั้งสุดท้ายไม่เป็นผล ตามมาตรา 63 วรรคหนึ่ง

กรณีที่ศาลเห็นชอบด้วยกับการประนอมหนี้หลังล้มละลายนั้น ตามมาตรา 63 วรรคท้าย ให้ศาลสั่งยกเลิกการล้มละลาย และสั่งให้ลูกหนี้กลับมีอำนาจจัดการเกี่ยวกับทรัพย์สินของตนหรือสั่งประการใดตามที่เห็นสมควรก็ได้ ส่วนเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ย่อมไม่มีอำนาจไปจัดการทรัพย์สินของลูกหนี้อีกต่อไป เมื่อลูกหนี้ผิดนัดเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์คงมีเพียงอำนาจเพียงรายงานต่อศาล เพื่อให้ศาลมีคำสั่งยกเลิกการประนอมหนี้และพิพากษาให้ลูกหนี้ล้มละลายเท่านั้น ตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1097/2539

คำพิพากษาฎีกาดังกล่าว วินิจฉัยว่า “ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า เมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งเห็นชอบด้วยการประนอมหนี้ภายหลังล้มละลายของลูกหนี้ และมีคำสั่งให้ยกเลิกการล้มละลายกับให้ลูกหนี้กลับมีอำนาจจัดการเกี่ยวกับทรัพย์สินของตนตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 63 ลูกหนี้ย่อมหลุดพ้นจากภาวะล้มละลายและมีอำนาจจัดการเกี่ยวกับกิจการและทรัพย์สินของลูกหนี้ต่อไป และการประนอมหนี้ภายหลังล้มละลายซึ่งที่ประชุมเจ้าหนี้ได้ยอมรับและศาลเห็นชอบแล้วก็ผูกมัดเจ้าหนี้ทั้งหมดในเรื่องหนี้ซึ่งอาจขอรับชำระหนี้ได้ตามมาตรา 63ประกอบมาตรา 56 ดังนั้นในส่วนที่เกี่ยวกับคดีล้มละลายลูกหนี้จึงมีหน้าที่ที่จะต้องชำระหนี้ตามที่ได้ตกลงไว้ในการประนอมหนี้ภายหลังล้มละลายเท่านั้น ส่วนเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ก็ยังคงมีอำนาจหน้าที่อีกบางประการ โดยเฉพาะตามที่พระราชบัญญัติล้มละลายพ.ศ. 2483 มาตรา 63 ประกอบมาตรา 60 กำหนดไว้คือ ถ้าลูกหนี้ผิดนัดไม่ชำระหนี้ตามที่ได้ตกลงไว้ในการประนอมหนี้ภายหลังล้มละลาย เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ชอบที่จะรายงานต่อศาลให้มีคำสั่งยกเลิกการประนอมหนี้และพิพากษาให้ลูกหนี้ล้มละลาย การที่ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เรียกประชุมเจ้าหนี้เพิ่มเติมเงื่อนไขการประนอมหนี้ โดยให้ลูกหนี้นำเงินที่มีสิทธิจะได้รับจากการขายทอดตลาดในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 6013/2533 ของศาลชั้นต้น มาชำระหนี้ให้แก่กองทรัพย์สินของลูกหนี้เท่ากับเป็นการขอให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ดำเนินการนอกเหนือไปจากอำนาจหน้าที่ที่มีอยู่ตามกฎหมาย และมีผลเท่ากับเป็นการเข้าไปจัดการทรัพย์สินของลูกหนี้โดยตรง ในขณะที่ลูกหนี้หลุดพ้นจากภาวะล้มละลายแล้ว อันเป็นการฝ่าฝืนกฎหมายดังวินิจฉัยมาแล้ว ที่ผู้ร้องฎีกาว่าการที่ลูกหนี้มีสิทธิที่จะได้รับเงินในคดีแพ่งดังกล่าวเป็นข้อเท็จจริงเกิดขึ้นใหม่เปลี่ยนแปลงไป ตราบใดที่ไม่กระทบกระเทือนข้อตกลงประนอมหนี้ก็สามารถนัดประชุมเจ้าหนี้เพื่อเพิ่มเติมเงื่อนไขในการประนอมหนี้ได้นั้น เห็นว่าเมื่อการประนอมหนี้ซึ่งที่ประชุมเจ้าหนี้ได้ยอมรับและศาลเห็นชอบด้วยผูกมัดเจ้าหนี้ทั้งหมด ในเรื่องหนี้ซึ่งอาจขอรับชำระหนี้ได้ และลูกหนี้มีหน้าที่ต้องชำระหนี้ตามข้อตกลงในการประนอมหนี้นั้นแล้ว ไม่ว่าภายหลังจากนั้นจะเกิดมีข้อเท็จจริงเกี่ยวกับทรัพย์สินของลูกหนี้อย่างไร แม้จะมีผลทำให้เจ้าหนี้สามารถได้รับชำระหนี้ได้เร็วกว่าที่ลูกหนี้ตกลงไว้ในการประนอมหนี้ก็ไม่อาจนัดประชุมเจ้าหนี้ เพื่อเพิ่มเติมเงื่อนไขข้อตกลงประนอมหนี้นอกเหนือไปจากที่ลูกหนี้ได้ตกลงไว้ในการประนอมหนี้นั้นได้ เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จึงไม่มีอำนาจที่จะเรียกประชุมเจ้าหนี้ได้ตามคำร้อง

3.2.3 การประนอมหนี้ภายใต้กระบวนการฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ (มาตรา 90/1-90/90)

การฟื้นฟูกิจการ เป็นส่วนหนึ่งในกฎหมายล้มละลาย โดยมีวัตถุประสงค์จะทำการประนอมหนี้หรือปรับโครงสร้างหนี้ให้กับลูกหนี้ กล่าคือ เป็นการช่วยเหลือลูกหนี้ที่ประสบปัญหาขาดสภาพคล่องทางการเงินเป็นการชั่วคราวได้มีโอกาสกลับมาดำเนินกิจการต่อไปได้โดยไม่ต้องเข้าสู่กระบวนการล้มละลาย

ผู้มีสิทธิ์ขอฟื้นฟูกิจการต้องมีเงื่อนไข ดังนี้

(1) ลูกหนี้มีหนี้สินล้นพ้นตัว หรือไม่สามารถชำระหนี้ตามกฎหมายได้

(2) เป็นหนี้เจ้าหนี้คนเดียวหรือหลายคนรวมกันเป็นจำนวนแน่นอน ไม่น้อยกว่าสิบล้านบาท ไม่ว่าหนี้นั้นจะถึงกำหนดชำระโดยพลันหรือในอนาคตก็ตาม

(3) มีเหตุอันสมควรและมีช่องทางที่จะฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้

(4) ศาลยังไม่มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด

(5) ยังไม่มีการจดทะเบียนเลิกนิติบุคคล หรือนิติบุคคลเลิกกันโดยสาเหตุอื่น หรือศาลมีคำสั่งให้เพิกถอนทะเบียนนิติบุคคล

(6) ยื่นคำขอโดยสุจริต

เมื่อศาลรับคำขอฟื้นฟูกิจการแล้ว ลูกหนี้จะได้รับสภาวะพักชำระหนี้ (Automatic stay) คือลูกหนี้ได้รับความคุ้มครองตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 12 ทันที เป็นสภาวะป้องกันลูกหนี้ในการถูกเจ้าหนี้ฟ้องร้องบังคับคดีหรือชำระหนี้ในระหว่างการฟื้นฟูกิจการ

สภาวะพักชำระหนี้ (Automatic stay) ตามมาตรา 90/12 บัญญัติว่า “ภายใต้บังคับมาตรา 90/13 และมาตรา 90/14 นับแต่วันที่ศาลมีคำสั่งรับคำร้องขอไว้ เพื่อพิจารณาจนถึงวันครบกำหนดระยะเวลาดำเนินการตามแผนหรือวันที่ดำเนินการเป็นผลสำเร็จตามแผนหรือวันที่ศาลมีคำสั่งยกคำร้องขอหรือจำหน่ายคดีหรือยกเลิกคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการหรือยกเลิกการฟื้นฟูกิจการ หรือพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้เด็ดขาดตามความในหมวดนี้

(1) ห้ามมิให้ฟ้องหรือร้องขอให้ศาลพิพากษาหรือสั่งให้เลิกนิติบุคคลที่เป็นลูกหนี้ ถ้ามีการฟ้องหรือร้องขอคดีดังกล่าวไว้ก่อนแล้ว ให้ศาลงดการพิจารณาคดีนั้นไว้

(2) ห้ามมิให้นายทะเบียนมีคำสั่งให้เลิก หรือจดทะเบียนเลิกนิติบุคคลที่เป็นลูกหนี้ และห้ามมิให้นิติบุคคลนั้นเลิกกันโดยประการอื่น

(3) ห้ามมิให้ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์ และตลาดหลักทรัพย์ กรมการประกันภัยหรือหน่วยงานของรัฐตามมาตรา 90/4 (6) แล้วแต่กรณี สั่งให้เพิกถอนใบอนุญาตประกอบกิจการของลูกหนี้หรือสั่งให้ลูกหนี้หยุดประกอบกิจการ เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากศาลที่รับคำร้องขอ

(4) ห้ามมิให้ฟ้องลูกหนี้เป็นคดีแพ่งเกี่ยวกับทรัพย์สินของลูกหนี้หรือเสนอข้อพิพาท ที่ลูกหนี้อาจต้องรับผิดหรือได้รับความเสียหายให้อนุญาโตตุลาการชี้ขาด ถ้ามูลแห่งหนี้นั้นเกิดขึ้นก่อน วันที่ศาลมีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผน และห้ามมิให้ฟ้องลูกหนี้เป็นคดีล้มละลาย ในกรณีที่มีการฟ้องคดี หรือเสนอข้อพิพาทให้อนุญาโตตุลาการชี้ขาดไว้ก่อนแล้ว ให้งดการพิจารณาไว้ เว้นแต่ศาลที่รับคำร้องขอจะมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น

(5) ห้ามมิให้เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาบังคับคดีแก่ทรัพย์สินของลูกหนี้ ถ้ามูลแห่งหนี้ตามคำพิพากษานั้นเกิดขึ้นก่อนวันที่ศาลมีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผน ในกรณีที่ได้ดำเนินการบังคับคดีไว้ ก่อนแล้วให้ศาลงดการบังคับคดีนั้นไว้ เว้นแต่ศาลที่รับคำร้องขอจะมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น หรือการบังคับ คดีได้สำเร็จบริบูรณ์แล้วก่อนที่เจ้าพนักงานบังคับคดีจะทราบว่าได้มีการยื่นคำร้องขอ หรือการบังคับคดีตามคำพิพากษาให้ลูกหนี้ส่งมอบทรัพย์เฉพาะสิ่งเสร็จก่อนวันดังกล่าวนั้น

ในกรณีที่ทรัพย์สินที่ยึดหรืออายัดไว้เป็นของเสียง่าย หรือถ้าหน่วงช้าไว้จะเป็น การเสี่ยงต่อความเสียหายหรือค่าใช้จ่ายจะเกินส่วนแห่งค่าของทรัพย์สินนั้น ให้เจ้าพนักงานบังคับคดีขายได้โดยวิธีขายทอดตลาดหรือวิธีอื่นที่สมควร แล้วให้กักเงินไว้ ถ้าศาลมีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผนก็ให้ เจ้าพนักงานบังคับคดีมอบเงินนั้นแก่ผู้บริหารแผนนำไปใช้จ่ายได้ ถ้าศาลมีคำสั่งยกคำร้องขอหรือจำหน่ายคดีหรือยกเลิกคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการหรือยกเลิกการฟื้นฟูกิจการก็ให้เจ้าพนักงานบังคับคดีจ่ายเงินให้แก่เจ้าหนี้ ตามคำพิพากษา แต่ถ้าศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้เด็ดขาดและยังเหลือเงินอยู่ ให้ส่งมอบให้แก่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ต่อไป

(6) ห้ามมิให้เจ้าหนี้มีประกันบังคับชำระหนี้เอาแก่ทรัพย์สินที่เป็นหลักประกัน เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากศาลที่รับคำร้องขอ หรือเมื่อล่วงพ้นระยะเวลาหนึ่งปี นับแต่วันที่ศาลมีคำสั่งรับคำร้องขอ ระยะเวลาดังกล่าวศาลอาจขยายได้อีกไม่เกินสองครั้ง ครั้งละไม่เกินหกเดือน

(7) ห้ามมิให้เจ้าหนี้ซึ่งบังคับชำระหนี้ได้เองตามกฎหมายยึดทรัพย์สินหรือขายทรัพย์สินของลูกหนี้

(8) ห้ามมิให้เจ้าของทรัพย์สินที่เป็นสาระสำคัญในการดำเนินกิจการของลูกหนี้ ตามสัญญาเช่าซื้อ สัญญาซื้อขาย หรือสัญญาอื่นที่มีเงื่อนไขหรือเงื่อนเวลาในการโอนกรรมสิทธิ์ หรือสัญญาเช่าที่ยังไม่สิ้นกำหนดเวลาที่ได้ตกลงกันไว้ติดตามและเอาคืนซึ่งทรัพย์สินดังกล่าวที่อยู่ในความครอบครองของลูกหนี้หรือของบุคคลอื่นที่อาศัยสิทธิของลูกหนี้ รวมตลอดจนฟ้องร้องบังคับคดีเกี่ยวกับทรัพย์สินและหนี้ซึ่งเกิดขึ้นจากสัญญาดังกล่าว ถ้ามีการฟ้องคดีดังกล่าวไว้ก่อนแล้วให้ศาลงดการพิจารณาคดีนั้นไว้ เว้นแต่ศาลที่รับคำร้องขอจะมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น หรือหลังจากวันที่ศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการ ลูกหนี้ เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ ผู้บริหารชั่วคราว ผู้ทำแผน ผู้บริหารแผน หรือผู้บริหารแผนชั่วคราว แล้วแต่กรณีผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าซื้อ ราคา ค่าตอบแทนการใช้ทรัพย์ หรือค่าเช่า ตามสัญญาสองคราวติดต่อกัน หรือกระทำผิดสัญญาในข้อที่เป็นสาระสำคัญ

(9) ห้ามมิให้ลูกหนี้จำหน่าย จ่าย โอน ให้เช่า ชำระหนี้ ก่อหนี้ หรือกระทำการใด ๆ ที่ก่อให้เกิดภาระในทรัพย์สิน นอกจากเป็นการกระทำที่จำเป็นเพื่อให้การดำเนินการค้าตามปกติของ ลูกหนี้สามารถดำเนินต่อไปได้ เว้นแต่ศาลที่รับคำร้องขอจะมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น

(10) คำสั่งตามวิธีการชั่วคราวของศาลที่ให้ยึด อายัด ห้ามจำหน่าย จ่าย โอน ทรัพย์สินของลูกหนี้ หรือให้พิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้ชั่วคราว ซึ่งมีอยู่ก่อนวันที่ศาลมีคำสั่งรับคำร้องขอไว้เพื่อพิจารณานั้น ให้ศาลที่รับคำร้องขอมีอำนาจสั่งให้ระงับผลบังคับไว้ หรือแก้ไขเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างหนึ่งอย่างใดตามที่เห็นสมควรก็ได้ แต่ถ้าต่อมาศาลนั้นมีคำสั่งยกคำร้องขอหรือจำหน่ายคดีหรือ ยกเลิกคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการหรือยกเลิกการฟื้นฟูกิจการก็ให้มีคำสั่งเกี่ยวกับวิธีการชั่วคราวหรือคำสั่ง พิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้ชั่วคราวดังกล่าวตามที่เห็นสมควรต่อไป

(11) ห้ามมิให้ผู้ประกอบการสาธารณูปโภค เช่น ไฟฟ้า ประปา โทรศัพท์ งดให้บริการ แก่ลูกหนี้ เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากศาลที่รับคำร้องขอ หรือหลังจากวันที่ศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการ ลูกหนี้ เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ ผู้บริหารชั่วคราว ผู้ทำแผน ผู้บริหารแผน หรือผู้บริหารแผนชั่วคราว แล้วแต่กรณี ไม่ชำระค่าบริการที่เกิดขึ้นหลังจากวันที่ศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการสองคราวติดต่อกัน บทบัญญัติในวรรคหนึ่งไม่ห้ามผู้ประกอบการสาธารณูปโภค ที่จะมีคำร้องให้ศาลที่รับคำร้องขอมีคำสั่งเพื่อคุ้มครองประโยชน์ของผู้ร้องตามที่ศาลเห็นสมควร

คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาล หรือคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ ที่ขัดหรือแย้งกับบทบัญญัติในอนุมาตราหนึ่งอนุมาตราใดของวรรคหนึ่งไม่มีผลผูกพันลูกหนี้ การออกคำสั่งของนายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัท นายทะเบียนนิติบุคคลที่เกี่ยวข้อง หรือผู้มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับนิติบุคคลซึ่งเป็นลูกหนี้ การทำนิติกรรมหรือการชำระหนี้ใดๆ ที่ขัดหรือแย้งกับบทบัญญัติในอนุมาตราหนึ่งอนุมาตราใดของวรรคหนึ่ง การนั้นเป็นโมฆะ

วัตถุประสงค์และประโยชน์ของสภาวะการพักชำระหนี้มีอยู่หลายประการ ได้แก่ (อ้างอิง : นายอนุรักษ์ นิยมเวช ประธานคณะกรรมาธิการพัฒนาการเมืองและการมีส่วนร่วมของประชาชน วุฒิสภา, บทความทางวิชาการ เรื่องการฟื้นฟูกิจการภายใต้พระราชบัญญัติล้มละลาย, น.87)

(1) การสงวนและรักษาทรัพย์สินของลูกหนี้เอาไว้ เพื่อให้ลูกหนี้ยังคงสามารถใช้ในการประกอบ ธุรกิจได้ต่อไป และรวบรวมไปจัดสรรชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ตามแผนฟื้นฟูกิจการแทนที่จะปล่อยให้ เจ้าหนี้ไปฟ้องร้องบังคับคดีกันเอาเองซึ่งอาจจะมีผลกระทบถึงการประกอบธุรกิจของลูกหนี้และก่อ ให้เกิดการได้เปรียบเสียเปรียบระหว่างเจ้าหนี้

(2) ให้โอกาสและระยะเวลาช่วงหนึ่งแก่ลูกหนี้ในการพิจารณา หาทางแก้ไขปัญหาของกิจการ ตลอดจนการเจรจาหาทางออกร่วมกับเจ้าหนี้โดยไม่ต้องวิตกกังวลว่าจะถูกเจ้าหนี้ฟ้องร้องบังคับ เพื่อชำระหนี้

(3) การบรรเทาภาวะวิกฤตทางการเงินเป็นการชั่วคราว เพื่อให้ลูกหนี้สามารถดำเนินกิจการ ต่อไปได้

(4) ให้เจ้าหนี้และลูกหนี้ เข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการตามกฎหมายภายใต้สภาวะการพักชำระหนี้ตามรายละเอียดดังจะได้กล่าวต่อไป

ดังนั้น ในกรณีที่ศาลเห็นชอบด้วยตามแผนฟื้นฟูกิจการผู้บริหารแผน จะดำเนินการตามแผนในระยะเวลา 5 ปี และขอขยายได้ 2 ครั้งๆ ละไม่เกิน 1 ปี ในระหว่างการฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ ลูกหนี้ยังสามารถประกอบธุรกิจตามความจำเป็นเพื่อให้สามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้ แต่ลูกหนี้จะจำหน่าย จ่าย โอน ให้เช่า ชำระหนี้ ก่อหนี้ หรือกระทำการใดๆ ที่ก่อให้เกิดภาระในทรัพย์สินไม่ได้ เว้นแต่ศาลจะมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น

หัวใจสำคัญในการประนอมหนี้ในกระบวนการฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ คือ สภาวะการพักชำระหนี้ (Automatic stay) ที่เป็นประโยชน์แก่ลูกหนี้ ทั้งนี้ เพื่อให้กิจการของลูกหนี้สามารถดำเนินต่อไปได้อย่างต่อเนื่อง เพื่อเปิดโอกาสให้มีการเจรจาประนอมหนี้หรือปรับโครงสร้างหนี้กับเจ้าหนี้ทั้งหลายไม่ว่าเจ้าหนี้ภายในหรือนอกประเทศ รวมถึงเป็นโอกาสให้มีการปรับโครงสร้างหนี้องค์กร กระบวนการทำงาน และแผนธุรกิจ ทำให้ลูกหนี้สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพขึ้น และทำให้ธุรกิจของลูกหนี้มีสภาพคล่องโดยลูกหนี้ไม่ต้องกังวลว่าจะถูกเจ้าหนี้ฟ้องร้องให้ชำระหนี้ หรือถูกเรียกให้ชำระหนี้ในระหว่างการฟื้นฟูกิจการได้

3.3 การประนอมหนี้นอกศาล

การประนอมหนี้ภายใต้หลักเกณฑ์การปรับปรุงโครงสร้างหนี้ของคณะกรรมการ เพื่อส่งเสริมการปรับปรุงโคร้างสร้างหนี้ (คปน.) หรือ CDRAC เป็นกระบวนการที่สำคัญอย่างยิ่งที่จะทำให้ประเทศไทยมีภาวะเศรษฐกิจดีขึ้นโดยรัฐเข้ามามีบทบาทโดยมอบหมายให้ธนาคารแห่งประเทศไทยที่เป็นองค์กรสำคัญทำหน้าที่ในการประสานงานระหว่างเจ้าหนี้และลูกหนี้เพื่อทำการประนอมหนี้ ให้ประสบผลสำเร็จ เพื่อจะได้มีประโยชน์ทั้งฝ่ายเจ้าหนี้และลูกหนี้ โดยเฉพาะผลประโยชน์ส่วนร่วมของประเทศชาติบ้านเมือง

สำนักงานคณะกรรมการเพื่อส่งเสริมการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ (สปน.) ซึ่งเป็นส่วนงานหนึ่งในธนาคารแห่งประเทศไทย ขึ้นตรงต่อผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย องค์กรทั้ง 3 องคืกรจะเป็นตัวกลางในการประสานงาน และสนับสนุนให้มีการปรับโครงสร้างหนี้ของคปน. หรือ CDRAC โดยกำหนดให้สถานบันการเงินที่จัดตั้งขึ้น ในประเทศไทยหรือในต่างประเทศ ในประเทศไทยหรือในต่างประเทศก็ตามรวมทั้งลูกหนี้ รายใหญ่ ซึ่งทางสปน. จะกำหนดให้เข้าร่วมลงนามในสัญญา ระหว่างลูกหนี้และเจ้าหนี้ (Debtor-Creditor Agreement on Debt Restructuring Process หรือเรียกกันสั้นๆ ว่า Debtor-Creditor Agreement) และได้กำหนดให้เจ้าหนี้ทั้งหลายลงนามในสัญญาระหว่างเจ้าหนี้ (Inter-Creditor Agreement on Restructure Plan Votes and Executive Decision Panel Procedures หรือที่เรียกกันสั้นๆ ว่า Inter-Creditor Agreement) ซึ่งสัญญาทั้งสอง ได้กำหนดกติกา ขั้นตอน และกำหนดเวลาในการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ไว้อย่างเป็นระบบรวมทั้งกำหนดกระบวนการแก้ไข ข้อขัดแย้งระหว่างฝ่ายเจ้าหนี้ และฝ่ายลูกหนี้โดยผ่านผู้ไกล่เกลี่ย (Mediator) และได้กำหนดกระบวนการของคณะผู้ชี้ขาด (Executive Decision Panel) เพื่อพิจารณาการรับหรือไม่รับแผนในกรณีที่เจ้าหนี้มีมติเกินกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนหนี้ แต่ไม่ถึงสามในสี่ (75%) ตามที่สัญญากำหนด กล่าวโดยสรุปก็คือ กระบวนการปรับโครงสร้างหนี้ภายใต้การดูแลของคปน.หรือ CDRAC นั้น เป็นการกำหนดความผูกพันทางสัญญาระหว่างฝ่ายเจ้าหนี้และฝ่ายลูกหนี้เพื่อให้การปรับโครงสร้างหนี้มีกระบวนการที่ชัดเจน เป็นรูปธรรมมากขึ้นและมีกำหนดเวลาในการดำเนินการที่ชัดเจนในปัจจุบันนี้การปรับโครงสร้างหนี้ภายใต้กระบวนการของคปน. หรือ CDRAC ทำให้เกิดผลสำเร็จสำหรับหนี้รายใหญ่ๆ ของประเทศ แต่ผลสำเร็จดังกล่าวจะนำมาซึ่งผลสำเร็จในการปรับ โครงสร้างหนี้อย่างแท้จริง และมีผลอย่างต่อเนื่องหรือไม่นั้น ผู้เขียนจะวิเคราะห์ให้เห็นในลำดับต่อไป (อ้างอิง : การปรับโครงสร้างหนี้ในมุมมองของนักกฎหมาย, นายชัยภัทร กำจัดดัสกร, น.7)

รัฐได้จัดตั้งคณะกรรมการเพื่อส่งเสริมการปรับโครงสร้างหนี้ (คปน.) หรือ CDRAC ในเดือนมิถุนายน พ.ศ.2541 เพื่อประสานการเจรจาระหว่างลูกหนี้ ผู้ที่อาจเข้าร่วมกิจการใหม่ นายธนาคาร และผู้จัดการบริษัทเงินทุน ในการวางมาตรการปรับโคร้างสร้างหนี้ แผนงานหรือวิธีปรับโครงสร้างหนี้ส่วนใหญ่ใช้กรอบของ Landon Approach ซึ่งสนับสนุนให้เจ้าหนี้ทำงานร่วมกัน แลกเปลี่ยนข้อมูลเกี่ยวกับลูกหนี้ตระหนักถึงลำดับก่อนหลังของการทวงหนี้ หาวิธีการแก้ปัญหานอกศาล และยินยอมให้สินเชื่อต่อเนื่องไป โดยปกติแล้วกรณีการปรับโครงสร้างหนี้ คปน. ช่วยเพิ่มความคล่องตัวได้ คือ กรณีของหนี้ที่เกี่ยวโยงกับเจ้าหนี้หลายราย ซึ่งลูกหนี้สมัครใจที่จะร่างแผนการปรับโครงสร้างหนี้ (กรณีที่เกี่ยวโยงกับเจ้าหนี้รายเดียวมักได้รับการจัดการโดยเจ้าหนี้รายนั้นๆ หรือบริษัทบริหารสินทรัพย์ของเจ้าหนี้) หลังจากนั้น คปน.จะดำเนินการต่อไปสู่ข้อตกลงระหว่างเจ้าหนี้และลูกหนี้ พร้อมทั้งข้อตกลงระหว่างเจ้าหนี้ด้วยกันเอง (อ้างอิง : สินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) และปรับโครงสร้างหนี้ในประเทศไทย, ปกรณ์ วิชยานนท์ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศ, น.10)

การปรับโครงสร้างหนี้โดยคณะกรรมการเพื่อส่งเสริมการปรับโครงสร้างหนี้ (คปน.) หรือ CDRAC ใช้วิธีการลดดอกเบี้ย กำหนดระยะเวลาปลอดหนี้ ยืดอายุการชำระหนี้คืน ตัดหนี้บางส่วนออกเป็นหนี้สูญ เป็นต้น ซึ่งช่วยลดหนี้ NPL เป็นอย่างมาก

3.4 คำพิพากษาให้ล้มละลาย (มาตรา 61,62)

ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 61 บัญญัติว่า “เมื่อศาลได้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้เด็ดขาดแล้ว และเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์รายงานว่าเจ้าหนี้ได้ลงมติในการประชุมเจ้าหนี้ครั้งแรกหรือในคราวที่ได้เลื่อนไป ขอให้ศาลพิพากษาให้ลูกหนี้ล้มละลายก็ดี หรือไม่ลงมติประการใดก็ดี หรือไม่มีเจ้าหนี้ไปประชุมก็ดี หรือการประนอมหนี้ไม่ได้รับความเห็นชอบก็ดี ให้ศาลพิพากษาให้ลูกหนี้ล้มละลาย และเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีอำนาจจัดการทรัพย์สินของบุคคลล้มละลาย เพื่อแบ่งแก่เจ้าหนี้ทั้งหลาย
ให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์โฆษณาคำพิพากษาในราชกิจจานุเบกษา และในหนังสือพิมพ์รายวันไม่น้อยกว่าหนึ่งฉบับในคำโฆษณาให้ระบุชื่อ ตำบลที่อยู่ อาชีพของลูกหนี้และวันที่ ศาลได้มีคำพิพากษา”

มาตรา 62 บัญญัติว่า “การล้มละลายของลูกหนี้เริ่มต้นมีผลตั้งแต่วันที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์”

ดังนั้น คำพิพากษาให้ล้มละลายจะมีได้ต่อเมื่อกรณีลูกหนี้ผิดนัดไม่ชำระหนี้ ตามข้อตกลงในการประนอมหนี้ (มาตรา 60) และกรณีลูกหนี้ไม่ได้ขอประนอมหนี้ก่อนล้มละลายหรือการขอประนอมหนี้ก่อนล้มละลายไม่เป็นผลสำเร็จ (มาตรา 61) เนื่องจากมาตรา 61 เป็นบทบังคับให้ศาลพิพากษาให้จำเลยล้มละลายทันที ตามคำพิพากษาฎีกาที่ 980/2531 “พ.ร.บ.ล้มละลาย ฯ มาตรา 61 เป็นบทบังคับให้ศาลพิพากษาให้จำเลยล้มละลายทันที เมื่อได้ดำเนินคดีตามขั้นตอนของมาตราดังกล่าวครบถ้วนแล้ว ส่วนปัญหาที่จำเลยฎีกาคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด และคดีอยู่ในระหว่างพิจารณาไม่กระทบกระเทือนถึงการที่ศาลชั้นต้นจะดำเนินคดีล้มละลายต่อไปตามขั้นตอน เพราะคดีล้มละลายต้องกระทำโดยเร่งด่วน ตามมาตรา 13 หากต่อมาคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดเปลี่ยนแปลงไป คำพิพากษาให้จำเลยล้มละลายก็ต้องเปลี่ยนแปลงไปด้วย เพราะการล้มละลายเริ่มต้นมีผลตั้งแต่วันที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ตามมาตรา 62”

เมื่อศาลได้สั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้เด็ดขาดแล้ว เจ้าหนี้ได้ลงมติขอให้ศาลพิพากษาให้ลูกหนี้ล้มละลาย หรือไม่มีมติประการใดหรือไม่มีเจ้าหนี้ไปประชุมหรือการประนอมหนี้ไม่ได้รับความเห็นชอบ ให้ศาลพิพากษาให้ลูกหนี้ล้มละลาย การล้มละลายของลูกหนี้ เริ่มต้นมีผลตั้งแต่วันที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์

4.วิเคราะห์

จากการได้ศึกษาแนวความคิด และทฤษฎี วิวัฒนาการหรือประวัติความเป็นมา และเนื้อหาสาระของการประนอมหนี้ตามกฎหมายล้มละลายดังกล่าวแล้ว จึงพบว่ามีอุปสรรคและปัญหาการประนอมหนี้ในคดีล้มละลาย ดังนี้

4.1 ปัญหาการประนอมหนี้กับ บสท. ทำให้ลูกหนี้หรือผู้ค้ำประกัน ถูกศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดโดยศาลไม่ต้องไต่สวน

ตามพระราชกำหนดบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย พ.ศ. 2544 มาตรา 58 วรรคท้าย บัญญัติว่า “ถ้าลูกหนี้หรือผู้ค้ำประกันไม่ให้ความร่วมมือกับ บสท. ในการปรับโครงสร้างหนี้ ตามที่ บสท. สั่งโดยที่ตนอยู่ในฐานะที่จะดำเนินการได้ หรือยักย้ายถ่ายเท หรือปิดบังซ่อนเร้นทรัพย์สินของตน ให้ บสท. ดำเนินการยื่นคําร้องต่อศาลเพื่อสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดของลูกหนี้ หรือผู้ค้ำประกัน แล้วแต่กรณีโดยไม่ต้องดำเนินการไต่สวน และให้ศาลและเจ้าพนักงานพิทักษ์ ทรัพย์ดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยล้มละลายต่อไปโดยเร็ว”

เมื่อพิจารณาคำว่า “ไม่ให้ความร่วมมือ” ตามบทบัญญัติมาตราดังกล่าว มีความหมายอย่างกว้าง และเป็นการตีความในปัญหาข้อเท็จจริงด้วย มิได้บัญญัติให้ชัดเจนว่าการกระทำใดมีลักษณะเป็นการให้ความร่วมมือและไม่ให้ความร่วมมือเป็นอย่างใด การไม่ให้ความร่วมมือในการปรับโครงสร้างหนี้ บสท.อาจจะเป็นปัญหาเรื่องการตีความกฎหมายที่ทำให้ บสท.มีอำนาจในการใช้ดุลพินิจมากจนเกินไป ซึ่งมิได้กำหนดขอบเขต หรือการกระทำใดบ้างที่ถือว่าลูกหนี้หรือผู้ค้ำประกันไม่ให้ความร่วมมือกับ บสท.จนทำให้ บสท.ยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดของลูกหนี้หรือผู้ค้ำประกันได้ และที่สำคัญศาลไม่ต้องดำเนินการไต่สวนแต่อย่างใด เพียงแต่ศาลพิจารณาแต่เพียงว่าลูกหนี้หรือผู้ค้ำประกัน ได้ให้ความร่วมมือหรือไม่เท่านั้น ไม่เปิดโอกาสให้ลูกหนี้นำพยานหลักฐานเข้ามาพิสูจน์ว่ามีเหตุที่ไม่ควรให้ลูกหนี้ล้มละลายเหมือนกับตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 14 ที่กำหนดให้ศาลพิจารณาเอาความจริงตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 9 หรือมาตรา 10 ถ้าศาลพิจารณาได้ความจริงให้ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้เด็ดขาด ดังนั้น การที่ลูกหนี้จะเข้าสู่กระบวนการล้มละลาย ควรให้ลูกหนี้ได้ประนอมหนี้กับเจ้าหนี้ได้เต็มที่ หากประนอมหนี้กับเจ้าหนี้ไม่สำเร็จ ก็ควรเข้าสู่กระบวนการไต่สวนเพื่อให้ได้ความจริง ตามมาตรา 14 ดังกล่าว เพื่อให้ได้ความจริงให้มากที่สุด และกระทบสิทธิ์ของลูกหนี้น้อยที่สุด

นอกจากนี้ ตามมาตรา 58 วรรคท้าย ก็มิได้กำหนดจำนวนหนี้ที่ บสท.จะร้องขอให้ศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดของลูกหนี้หรือผู้ค้ำประกันไว้ว่าต้องมีจำนวนเท่าใด เหมือนอย่างเช่นตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 9 ที่กำหนดหนี้ที่มีจำนวนแน่นอน กรณีบุคคลธรรมดาไม่น้อยกว่าหนึ่งล้านบาท กรณีนิติบุคคลไม่น้อยกว่าสองล้านบาท เป็นต้น

ดังนั้น เมื่อลูกหนี้หรือผู้ค้ำประกันไม่ให้ความร่วมมือในการปรับโครงสร้างหนี้ บสท.ก็จะดำเนินการยื่นคําร้องต่อศาลเพื่อสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดของลูกหนี้หรือผู้ค้ำประกัน โดยไม่ต้องดำเนินการไต่สวน และให้ศาลและเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยล้มละลาย โดยมิได้คำนึงว่าลูกหนี้ซึ่งเป็นบุคคลธรรมดาเป็นหนี้เจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์คนเดียว หรือหลายคนเป็นจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งล้านบาท หรือลูกหนี้ซึ่งเป็นนิติบุคคลเป็นหนี้เจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์คนเดียวหรือหลายคนเป็นจำนวนไม่น้อยกว่าสองล้านบาท กล่าวคือ เป็นหนี้จำนวนเท่าใดก็ทำให้ลูกหนี้หรือผู้ค้ำประกันถูกศาลพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดได้แล้ว ย่อมไม่ได้รับความเป็นธรรมแก่ลูกหนี้หรือผู้ค้ำประกัน

4.2 ปัญหาการยื่นคำขอประนอมหนี้ก่อนล้มละลาย ลูกหนี้ถูกจำกัดสิทธิยื่นคำขอประนอมหนี้ได้เพียงครั้งเดียว

ในทางปฏิบัติ เมื่อลูกหนี้ยื่นคำขอประนอมหนี้ภายในกำหนดระยะเวลาที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์กำหนดแล้ว แต่ในที่ประชุมเจ้าหนี้ลงมติไม่รับคำขอประนอมหนี้ และมีมติขอให้ศาลพิพากษาให้ลูกหนี้เป็นบุคคลล้มละลาย เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จึงรายงานศาลขอให้ไต่สวนลูกหนี้โดยเปิดเผย และพิพากษาให้ลูกหนี้เป็นบุคคลล้มละลาย แต่ก่อนที่ศาลจะพิพากษาให้ลูกหนี้เป็นบุคคลล้มละลายนั้น ลูกหนี้จะยื่นคำขอประนอมหนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เป็นครั้งที่สองไม่ได้ ลูกหนี้ไม่มีสิทธิ์ยื่นขอประนอมหนี้กับเจ้าหนี้ได้หลายๆ ครั้ง เหมือนกับการประนอมหนี้หลังล้มละลาย (มาตรา 63) ให้สิทธิ์ลูกหนี้สามารถทำได้ แต่ติดเงื่อนไขแต่เพียงว่าห้ามลูกหนี้ขอระนอมหนี้ภายในกำหนดเวลาหกเดือน นับแต่วันที่การขอประนอมหนี้ครั้งสุดท้ายไม่เป็นผลเท่านั้น

ทั้งนี้ ศาลฎีกาก็ได้มีคำพิพากษาวางบรรทัดฐานไว้ว่า กฎหมายมีเจตนารมณ์ให้ขอประนอมหนี้ก่อนล้มละลายได้เพียงครั้งเดียว ตามฎีกาที่ 1350/2546 “พระราชบัญญัติล้มละลายฯ มาตรา 61 บัญญัติบังคับให้ศาลพิพากษาให้ลูกหนี้ล้มละลายทันที เมื่อได้ดำเนินคดีมาตามขั้นตอนของมาตรานี้ครบถ้วนแล้ว ศาลจะงดพิพากษา หรือรอการพิพากษา หรือพิพากษาเป็นอย่างอื่นไม่ได้ และกฎหมายมีเจตนารมณ์ให้ขอประนอมหนี้ก่อนล้มละลายได้เพียงครั้งเดียว หากจำเลยจะขอประนอมหนี้อีกก็ชอบที่จะเสนอคำขอได้ในตอนหลังเมื่อศาลพิพากษาให้จำเลยล้มละลายแล้ว ดังนั้น การที่จำเลยยื่นคำขอประนอมหนี้ก่อนล้มละลายเข้ามาอีกอันมิใช่เป็นการขอแก้ไขคำขอประนอมหนี้ตามมาตรา 47 และเป็นการพ้นระยะเวลาตามมาตรา 45 แล้ว การยื่นคำขอประนอมหนี้ก่อนล้มละลายอีกครั้งจะทำให้คดีล้มละลายไม่อาจดำเนินไปได้โดยรวดเร็วผิดวัตถุประสงค์ของกฎหมายล้มละลายจึงเป็นการไม่ชอบ” ตามกฎหมายและแนวคำวินิจฉัยจากคำพิพากษาดังกล่าวยังเป็นการจำกัดสิทธิ์ของลูกหนี้ ให้ยื่นขอประนอมหนี้ก่อนล้มละลายได้เพียงแค่ครั้งเดียว

การประนอมหนี้ก่อนล้มละลาย มักไม่ค่อยประสบความสำเร็จ และลูกหนี้ถูกศาลมีคำพิพากษาให้ล้มละลายในที่สุด เนื่องจากลูกหนี้ยื่นขอประนอมหนี้ก่อนล้มละลายได้แค่เพียงครั้งเดียว แต่หากก่อนที่ศาลจะมีคำพิพากษาให้ลูกหนี้ล้มละลาย กฎหมายเปิดโอกาสให้ลูกหนี้สามารถยื่นคำขอประนอมหนี้ก่อนล้มละลายอย่างไม่จำกัด ก็มีโอกาสที่ลูกหนี้จะขอประนอมหนี้ก่อนล้มละลายประสบความสำเร็จ ลูกหนี้ไม่ต้องสูญเสียอำนาจในการจัดการทรัพย์สินของตนเอง ซึ่งจะไม่ทำให้กิจการของลูกหนี้ที่กระทำอยู่ต้องหยุดชะงัก และมีโอกาสที่ลูกหนี้จะประนอมหนี้กับเจ้าหนี้สำเร็จและรอดพ้นจากการที่ลูกหนี้เป็นบุคคลล้มละลายได้

4.3 ปัญหาการตีความกฎหมาย ในการประนอมหนี้ภายใต้กระบวนการฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้

4.3.1 การตีความคำว่า “การประนอมหนี้” ภายใต้กระบวนการฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 90/1 มิได้บัญญัติบทนิยาม คำว่า “การประนอมหนี้ในการฟื้นฟูกิจการ” ไว้แต่อย่างใด เหมือนกับการประนอมหนี้ก่อนล้มละลายที่กฎหมายบัญญัติไว้อย่างชัดเจนในมาตรา 45-60 และการประนอมหนี้หลังล้มละลาย ตามมาตรา 63

แต่การประนอมหนี้ในกระบวนการฟื้นฟูกิจการนั้นได้บัญญัติไว้ใน รายการในแผนฟื้นฟูกิจการมาตรา 90/42 โดยเฉพาะวรรคแรก (3) (ข) การชำระหนี้ การยืดกำหนดเวลาชำระหนี้ การลดจำนวนหนี้ลง และการจัด กลุ่มเจ้าหนี้ ดังนั้น กระบวนการประนอมหนี้ตามกฎหมายฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ คือ การชำระหนี้ การยืดเวลากำหนดชำระหนี้ และการลดจำนวนหนี้ลงมา

และตามมาตรา 90/1 มิได้บัญญัติคำนิยามการประนอมหนี้ให้ชัดเจนว่าการประนอมหนี้ภายใต้กระบวนการฟื้นฟูกิจการเป็นอย่างไร มีขอบเขตและเนื้อหาอย่างไร เหมือนกับการประนอมหนี้ตามกฎหมายล้มละลายสามัญ มาตรา 45 วรรคแรก ที่บัญญัติไว้โดยชัดเจนว่า “….ทำความตกลงเรื่องหนี้สินโดยวิธีขอชำระหนี้แต่เพียงบางส่วนหรือโดยวิธีอื่น…” แต่การประนอมหนี้ภายใต้กระบวนการฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้กลับนำมาบัญญัติไว้ในรายการในแผนฟื้นฟูกิจการในมาตรา 90/42 โดยเฉพาะวรรคแรก (3) (ข) การชำระหนี้ การยืดกำหนดเวลาชำระหนี้ การลดจำนวนหนี้ลง และการจัด กลุ่มเจ้าหนี้ จึงทำให้เกิดความสับสนในการตีความกฎหมายดังกล่าวได้

4.3.2 การตีความคำว่า “สินทรัพย์” ภายใต้กฎหมายล้มละลาย ในแผนนั้นต้องมีรายละเอียดตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 90/42 ซึ่งบัญญัติว่า “ในแผนให้มีรายการต่อไปนี้เป็นอย่างน้อย….(2) รายละเอียดแห่งทรัพย์สินและภาระผูกพันต่างๆ ของลูกหนี้ในขณะที่ศาลสั่งให้ฟื้นฟูกิจการ….” ซึ่งคำว่า “สินทรัพย์” ตามกฎหมายล้มละลายมิได้บัญญัติคำนิยามไว้ แต่คำว่าสินทรัพย์มีปรากฏในกฎหมายล้มละลายสามัญ ในมาตรา 30 วรรคหนึ่ง (2) บัญญัติว่า “เมื่อศาลได้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดแล้ว ลูกหนี้ต้องปฏิบัติดังต่อไปนี้… (2) ภายในเวลาเจ็ดวันนับแต่วันที่ลูกหนี้ได้ทราบคำสั่งนั้น ลูกหนี้ต้องไปสาบานตัว ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ และยื่นคำชี้แจงเกี่ยวกับกิจการ และทรัพย์สินของลูกหนี้ตามแบบพิมพ์ แสดงเหตุผลที่ทำให้มีหนี้สินล้นพ้นตัว สินทรัพย์และหนี้สิน ชื่อ ตำบลที่อยู่ และอาชีพของเจ้าหนี้ ทรัพย์สินที่ได้ให้เป็นประกันแก่เจ้าหนี้และวันที่ได้ให้ทรัพย์สินนั้น ๆ เป็นประกัน รายละเอียดแห่งทรัพย์สินอันจะตกได้แก่ตนในภายหน้า ทรัพย์สินของคู่สมรส ตลอดจนทรัพย์สินของบุคคลอื่นซึ่งอยู่ในความยึดถือของตน”

ซึ่งคำว่า “สินทรัพย์” ในมาตราดังกล่าว เป็นสินทรัพย์ในทางบัญชี หมายถึง ทรัพยากรที่มีและอยู่ในความควบคุมของกิจการ สินทรัพย์อาจจะเป็นสิ่งที่มีตัวตนหรือไม่มีตัวตนก้ได้ ซึ่งสามารถตีราคามูลค่าเป็นเงินได้ ทรัพยากรดังล่าวเป็นผลของเหตุการณ์ในอดีต ซึ่งกิจการคาดว่าจะได้รับประโยชน์เชิงเศรษฐกิจจากทรัพยากรในอนาคต นักบัญชีจะนำมาแสดงเป็นตารางแบ่งแยกซ้ายขวา ด้านซ้ายเป็นสินทรัพย์และด้านขวาเป็นหนี้สิน

คำว่า “ทรัพย์สิน” และ “สินทรัพย์” มีความหมายแตกต่างกัน กล่าวคือ ทรัพย์สิน หมายถึงรายการของวัตถุทั้งที่มีรูปร่างและไม่มีรูปร่างที่ถือครองได้ ซึ่งมีมูลค่าเป็นเงิน ทรัพย์สินแบ่งออกเป็น 3 ประเภท คือ ทรัพย์สินมีตัวตน ทรัพย์สินทางการเงิน และทรัพย์สินที่ไม่มีตัวตน ส่วนสินทรัพย์ หมายถึง สิทธิและทรัพยากรที่มีอยู่ ซึ่งเกิดจากการประกอบการสามารถแสดงค่าเป็นตัวเงินได้และจะให้ประโยชน์ในอนาคต ซึ่งนอกจากจะหมายถึงรายการสินทรัพย์แล้ว ยังรวมถึงรายจ่ายที่จ่ายไปและรวมถึงสิทธิเรียกร้อง แต่ประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นแก่กิจการยังมีอยู่ เช่น รายจ่ายรอตัดบัญชี เป็นต้น

เนื่องจากตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มิได้บัญญัติคำนิยามคำว่า “สินทรัพย์” ไว้ให้ชัดเจน จึงเกิดปัญหาการตีความอย่างกว้าง จนกระทั้งศาลฎีกาวินิจฉัยกำหนดเป็นแนวบรรทัดฐานไว้ว่า “สินทรัพย์หมายถึงทรัพย์กรที่มีอยู่ในความควบคุมของกิจการ และประโยชน์ที่ได้รับในเชิงเศรษฐกิจจากทรัพยากรนั้นในอนาคต สินทรัพย์จึงรวมทั้งทรัพย์สินและสิทธิเรียกร้องร้อง” ปรากฏตามคำพิพากษาฎีกาที่ 5610/2548

ตามคำพิพากษาศาลฎีกาดังกล่าว วินิจฉัยว่า “การพิจารณาว่าแผนชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ แผนนั้นจะต้องมีรายละเอียดตาม พ.ร.บ.ล้มละลายฯ มาตรา 90/42 บัญญัติว่า “ในแผนให้มีรายการต่อไปนี้เป็นอย่างน้อย… (2) รายละเอียดแห่งสินทรัพย์ หนี้สินและภาระผูกพันต่างๆ ของลูกหนี้ในขณะที่ศาลสั่งให้ฟื้นฟูกิจการ…” คำว่า สินทรัพย์ หมายถึง ทรัพยากรที่อยู่ในความควบคุมของกิจการ และประโยชน์ที่ได้รับในเชิงเศรษฐกิจจากทรัพยากรนั้นในอนาคต สินทรัพย์จึงรวมทั้งทรัพย์สินและสิทธิเรียกร้อง กรณีนี้ลูกหนี้มีหนี้เงินให้กู้ยืมซึ่งมีสิทธิเรียกร้องในหนี้ดังกล่าว แต่ในแผนไม่ปรากฏว่าสิทธิเรียกร้องในหนี้เงินดังกล่าว ผู้ทำแผนได้กำหนดวิธีการจัดการไว้อย่างไรที่จะให้เจ้าหนี้ได้ประโยชน์สูงสุด รวมทั้งหนี้ให้กู้ยืมเงินจำนวนมากที่กรรมการของลูกหนี้มีส่วนประมาทก่อให้เกิดความเสียหาย ลูกหนี้อาจฟ้องเรียกค่าสินไหมทดแทนแก่กรรมการได้ซึ่งในการเรียกร้องนั้นเจ้าหนี้ของลูกหนี้จะเป็นผู้เรียกบังคับได้เท่าที่เจ้าหนี้ยังมีสิทธิเรียกร้องแก่ลูกหนี้อยู่ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1169 หากลูกหนี้ล้มละลายเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์สามารถใช้วิธีการทวงหนี้ตาม พ.ร.บ.ล้มละลายฯ มาตรา 118 หรือมาตรา 119 เรียกร้องหนี้ดังกล่าวได้ หรือหากเป็นหนี้เด็ดขาดตามคำพิพากษาก็มีระยะเวลาการบังคับคดี 10 ปี ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 271 ดังนั้น ถือได้ว่าแผนกล่าวถึงรายละเอียดแห่งสินทรัพย์ไม่ครบถ้วน ไม่เป็นไปตาม พ.ร.บ.ล้มละลายฯ มาตรา 90/42 (2)”

4.4 ปัญหาการประนอมหนี้นอกศาลตามกระบวนการของ คปน.หรือ CDRAC ยังไม่สามารถคุ้มครองแก่เจ้าหนี้และลูกหนี้ได้มากพอ

การประนอมหนี้โดยการปรับโครงสร้างหนี้นอกศาล ตามกระบวนการของ คปน.หรือ CDRAC ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เนื่องจากอยู่ภายใต้การกดดันของหลายฝ่ายทั้งจากฝ่ายลูกหนี้ ผู้ที่อาจเข้าร่วมกิจการใหม่ นายธนาคาร และผู้จัดการบริษัทเงินทุน และอยู่ภายใต้ข้อจำกัดของกฎหมาย มีกำหนดเวลาที่สั้นและกระชั้นมาก ทำให้เกิดการเร่งรีบเพื่อทำแผนในการปรับโครงสร้างหนี้ ในการทำบันทึกข้อตกลง หรือสัญญาปรับโครงสร้างหนี้ที่ทำโดยเร่งรีบทำให้มิได้วิเคราะห์สถานภาพ และความเหมาะสมในการปรับโครงสร้างหนี้อย่างเพียงพอ

ในการประนอมหนี้นอกศาลโดยวิธีการปรับโครงสร้างหนี้ตามกระบวนการของ คปน.หรือ CDRAC ยังไม่สามารถให้ความคุ้มครองเจ้าหนี้ และลูกหนี้ได้อย่างพอเพียง เหมือนกับการปรับโครงสร้างหนี้ในกระบวนการล้มละลายที่มีระบบคุ้มครองลูกหนี้ ที่เรียกว่าภาวะพักชำระหนี้ (Automatic stay) ห้ามมิให้ฟ้องร้องบังคับคดีหรือดำเนินกระบวนพิจารณาต่างๆ เพื่อบังคับหลักประกันหรือทรัพย์สินของลูกหนี้ในระหว่างที่ปรับโครงสร้างนี้นอกศาล อันเนื่องจากมีสาเหตุว่าเจ้าหนี้กลัวจะขาดอายุความจึงต้องฟ้องร้องลูกหนี้ต่อศาลไว้ก่อน หรือกรณีเจ้าหนี้มีประกันอาจไม่อยากให้เจ้าหนี้รายอื่นที่ไม่ได้มาปรับโครงสร้างหนี้มาฟ้องร้องลูกหนี้ของตนก่อน เจ้าหนี้จึงฟ้องศาลเพื่อบังคับหลักประกันไว้ก่อนถึงแม้จะมีการทำบันทึกข้อตกลงหรือหนังสือสัญญาปรับโครงสร้างหนี้ก็ตาม เป็นต้น โดยเฉพาะกรณีเจ้าหนี้มีหลายรายบางรายอยู่ต่างประเทศ การปรับโครงสร้างหนี้ตามกระบวนการของคปน.หรือ CDRAC ซึ่งกำหนดให้เจ้าหนี้ทุกรายต้องเดินทางมาลงนามในสัญญาปรับโครงสร้างหนี้ ซึ่งบุคคลที่จะต้องลงนาม คือ เจ้าหนี้ ลูกหนี้ แต่ตามอำนาจของ คปน.ไม่สามารถไปบังคับเจ้าหนี้ที่อยู่ต่างประเทศได้ให้เจ้าหนี้ที่อยู่ต่างประเทศมาลงนามในสัญญาปรับโครงสร้างหนี้ได้ จึงไม่สามารถควบคุมและผูกมัดเจ้าหนี้ที่อยู่ต่างประเทศได้จึงทำให้การปรับโครงสร้างหนี้กรณีเจ้าหนี้บางราย อยู่ต่างประเทศไม่ประสบผลสำเร็จ

5.สรุป/เสนอแนะ

5.1 สรุป

จากการที่ได้ศึกษาวิเคราะห์ข้อมูลแล้วสามารถพอสรุปได้ว่า กระบวนการประนอมหนี้ตามกฎหมายล้มละลาย ได้แก่ การประนอมหนี้ในศาล คือการประนอมหนี้ภายใต้กระบวนการกฎหมายบริหารสินทรัพย์ไทย และภายในกระบวนการกฎหมายล้มละลาย แบ่งแยกออกไปอีก เป็นการประนอมหนี้ก่อนล้มละลาย (มาตรา 45-60) การประนอมหนี้ภายหลังล้มละลาย (มาตรา 63) และการประนอมหนี้ภายใต้กระบวนการพิจารณาเกี่ยวกับการฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ โดยศาลล้มละลายกลาง (มาตรา 90/1-90/90) และการประนอมหนี้นอกศาล คือ การประนอมหนี้ภายใต้หลักเกณฑ์การปรับปรุงโครงสร้างหนี้การประนอมหนี้ภายใต้หลักเกณฑ์การปรับปรุงโครงสร้างหนี้ของคณะกรรมการ เพื่อส่งเสริมการปรับปรุงโคร้างสร้างหนี้ (คปน.) หรือ CDRAC มีกฎหมายมาเกี่ยวข้องหลายฉบับ อาทิ พระราชกำหนดบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย พ.ศ.2544 และพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 ซึ่งจะเห็นว่าการประนอมหนี้มีทั้งการประนอมหนี้ในและนอกศาล แต่ผลทางกฎหมายแตกต่างกัน รวมทั้งมีอุปสรรคและปัญหาในการดำเนินการขอประนอมหนี้ตามกฎหมายล้มละลายเป็นอย่างมาก

แต่ทั้งนี้ การประนอมหนี้ตามกฎหมายล้มละลายมีวัตถุประสงค์อย่างเดียวกันเพื่อที่จะช่วยลูกหนี้ที่มีหนี้สินล้นพ้นตัว คือ ลูกหนี้มีหนี้สินมากกว่าทรัพย์สิน กฎหมายล้มละลายจะช่วยให้ลูกหนี้ประนอมหนี้หรือปรับปรุงโครงสร้างหนี้ได้ทั้งก่อน และหลังลูกหนี้ล้มละลายได้ เพื่อเป็นการประนอมหนี้ที่ชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ทั้งหลายอย่างรวดเร็วและเป็นธรรม การขอประนอมหนี้ในคดีล้มละลาย เป็นอีกแนวทางในการลดภาระหนี้ที่รวดเร็ว เพื่อหาเงื่อนไขใหม่ที่ทำให้ลูกหนี้สามารถผ่อนชำระได้โดยไม่เป็นปัญหาจนเกินไป

กล่าวโดยสรุป คือการประนอมหนี้เป็นกระบวนการที่สำคัญอย่างยิ่งที่จะทำให้ประเทศไทยมีภาวะเศรษฐกิจดีขึ้น โดยการประนอมหนี้ทั้งในศาลและนอกศาล ไม่ว่าจะเป็นการประนอมหนี้ก่อนและหลังล้มละลาย เพื่อจะได้มีประโยชน์ทั้งฝ่ายเจ้าหนี้และลูกหนี้ กล่าวคือ การเปลี่ยนเงื่อนไขการชำระหนี้เพื่อให้ลูกหนี้สามารถชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ได้ โดยไม่ต้องผิดนัดชำระหนี้ อาจทำให้ลูกหนี้ต้องถูกคิดดอกเบี้ยผิดนัดชำระหรือมีประวัติค้างจ่ายในข้อมูลเครดิตบูโรได้ การประนอมหนี้ คือ การยืดระยะเวลาผ่อนชำระหนี้ ลดอัตราดอกเบี้ยที่เคยตกลงหรือกำหนดไว้ในสัญญาเพื่อลดภาระดอกเบี้ยจ่าย ยกหรือผ่อนปรนดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้ เพื่อให้ค่างวดที่ผ่อนเข้ามาสามารถตัดเงินต้นได้มากขึ้น เพิ่มเงินทุนหมุนเวียนเพื่อเสริมสภาพคล่องและสำรองเงินไว้ใช้ยามฉุกเฉิน เปลี่ยนประเภทหนี้จากสินเชื่อดอกเบี้ยสูงเป็นสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ ปิดจบจ่ายคืนหนี้เร็วขึ้น เพื่อลดภาระดอกเบี้ย และรีไฟแนนซ์ปิดสินเชื่อจากที่เดิม เพื่อใช้สินเชื่อที่ใหม่ที่มีเงื่อนไขที่ดีกว่า

5.2 เสนอแนะ

จากการที่ได้ศึกษาสามารถเสนอแนะทางแก้ไขปัญหา ดังนี้

5.2.1 ข้อเสนอแนะปัญหาการประนอมหนี้กับ บสท. ทำให้ลูกหนี้หรือผู้ค้ำประกัน ถูกศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดโดยศาลไม่ต้องไต่สวน

ประเด็นเรื่องให้ความร่วมมือในการปรับโครงสร้างหนี้ ตามพระราชกำหนดบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย พ.ศ.2544 มาตรา 58 วรรคท้าย ควรกำหนดคำนิยาม “ให้ความร่วมมือในการปรับโครงสร้างหนี้” โดยกำหนดหลักเกณฑ์ และวิธีการให้ชัดเจน ว่าแบบไหนให้ความร่วมมือและแบบไหนไม่ให้ความร่วมมือ เพื่อที่จะต้องไม่มีตีความกฎหมายอย่างกว้างกันอีกต่อไป ทั้งนี้ ควรจะแก้ไขให้ศาลล้มละลายกลางมีอำนาจในพิจารณาเอาความจริง ตามที่บัญญัติไว้ใน มาตรา 9 หรือมาตรา 10 เพื่อเปิดโอกาสให้ลูกหนี้หรือผู้ค้ำประกัน นำพยานหลักฐานเข้ามาพิสูจน์ว่า มีเหตุที่ไม่ควรให้ลูกหนี้ล้มละลาย เหมือนกับตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 14 เป็นต้น และควรแก้ไขให้กำหนดจำนวนหนี้ที่แน่นอนจำนวนเท่าใด ที่ บสท.จะยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดของลูกหนี้หรือผู้ค้ำประกัน เหมือนกับเช่นที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 9 ลูกหนี้ซึ่งเป็นบุคคลธรรมดาเป็นหนี้เจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์คนเดียวหรือหลายคน เป็นจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งล้านบาท หรือลูกหนี้ซึ่งเป็นนิติบุคคลเป็นหนี้เจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์คนเดียว หรือหลายคนเป็นจำนวนไม่น้อยกว่าสองล้านบาท

5.2.2 ข้อเสนอแนะปัญหาการยื่นคำขอประนอมหนี้ก่อนล้มละลาย ลูกหนี้ถูกจำกัดสิทธิ์ยื่นคำขอประนอมหนี้ได้เพียงครั้งเดียว

ประเด็นการยื่นคำขอประนอมหนี้ก่อนล้มละลายลูกหนี้ถูกจำกัดสิทธิ์ยื่นคำขอประนอมหนี้ได้เพียงครั้งเดียวทำให้การประนอมหนี้ก่อนล้มละลายไม่ค่อยประสบความสำเร็จ และลูกหนี้ถูกศาลมีคำพิพากษาให้ล้มละลาย ผู้เขียนขอให้เสนอแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 45 โดยกำหนดให้ลูกหนี้สามารถยื่นคำขอประนอมหนี้ก่อนล้มละลายไม่จำกัดระยะเวลา จนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาให้ลูกหนี้ล้มละลาย เมื่อลูกหนี้สามารถยื่นคำขอประนอมหนี้ก่อนล้มละลายอย่างไม่จำกัด ก็มีโอกาสที่ลูกหนี้จะขอประนอมหนี้ก่อนล้มละลายประสบความสำเร็จ และไม่ตกเป็นบุคคลล้มละลาย

5.3 ข้อเสนอแนะปัญหาการตีความกฎหมายการประนอมหนี้ในกฎหมายล้มละลาย

5.3.1 กรณีคำว่าประนอมหนี้ภายใต้กระบวนการฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้

ผู้เขียนเห็นว่าควรกำหนดให้มีคำนิยาม คำว่า “ประนอมหนี้ในการฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้” เพื่อให้เกิดความชัดเจนไม่เกิดความสับสนในการตีความของกฎหมาย โดยกำหนดนิยามเพิ่มไปในมาตรา 90/1 ว่า “ประนอมหนี้ในการฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ หมายความว่า การชำระหนี้ การยืดเวลากำหนดชำระหนี้ และการลดหนี้ลงมา”

5.3.2 กรณีคำว่าสินทรัพย์ในกฎหมายล้มละลาย

ผู้เขียนเห็นว่าควรกำหนดคำนิยาม คำว่า “สินทรัพย์” เพื่อความชัดเจนของความหมายไม่ต้องแปลความหมายกันและเป็นแนวทางในการใช้ดุลพินิจในการตีความของศาล โดยกำหนดคำนิยามว่า “สินทรัพย์ หมายความว่า ทรัพยากรที่มีอยู่ในการควบคุมของกิจการ และประโยชน์ที่ได้รับในเชิงเศรษฐกิจจากทรัพยากรนั้นในอนาคต สินทรัพย์รวมถึงทรัพย์สินและสิทธิเรียกร้องด้วย”

นอกจากนี้ ตามกฎหมายล้มละลายสามัญ ในมาตรา 30 คำชี้แจงเกี่ยวกับกิจการ และทรัพย์สินของลูกหนี้ ผู้เขียนเห็นว่าควรใช้คำว่า “สินทรัพย์” แทนคำว่า “ทรัพย์สิน” เพื่อลดความสับสนให้เกิดความชัดเจนในการตีความกฎหมาย เนื่องจากสินทรัพย์มีความหมายกว้างกว่าทรัพย์สิน รวมถึงสิทธิเรียกร้องด้วย

5.4 ข้อเสนอแนะปัญหาการประนอมหนี้นอกศาลตามกระบวนการของ คปน.หรือ CDRAC ยังไม่สามารถคุ้มครองแก่เจ้าหนี้และลูกหนี้ได้มากพอ

ผู้เขียนเห็นว่าควรนำหลักสภาวะพักชำระหนี้ (Automatic stay) มาใช้กับการประนอมหนี้นอกศาลในกรณีประนอมหนี้ตามกระบวนการของ คปน.หรือ CDRAC เหมือนกับการฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ตามกฎหมายล้มละลายเพื่อคุ้มครองลูกหนี้ได้อย่างเต็มที่ กล่าวคือ นับแต่วันที่ลูกหนี้และเจ้าหนี้ลงลายมือชื่อในสัญญาประนอมหนี้หรือปรับโครงสร้างหนี้ ห้ามมิให้เจ้าหนี้ฟ้องร้องบังคับคดีกับลูกหนี้ บังคับหลักประกัน และทรัพย์สินของลูกหนี้ ในระหว่างการปรับโครงสร้างหนี้นอกศาลตามกระบวนการของ คปน.

 658 ผู้เข้าชมเว็บไซต์,  2 views today