การรับรองรัฐเป็นเช่นใด


1.ทฤษฎีการรับรองรัฐ (Recognition Theory)

รัฐ (State) คือ เป็นบุคคลตามกฎหมายระหว่างประเทศ ที่รวมตัวกันเป็นปรึกแผ่นแน่นอน มีการปกครองที่เป็นระเบียบ มีอำนาจอธิปไตยเป็นของตนเอง เป็นอิสระไม่ขึ้นตรงแก่ใคร รัฐต้องมีองค์ประกอบ 4 ประการคือ

1. ประชากร คือ เป็นการรวมตัวกันของมนุษย์ที่อาศัยอยู่ในดินแดน มีจำนวนกี่คนก็ได้ ไม่ได้กำหนดว่ามากหรือน้อย แต่ต้องเป็นสภาพสังคมที่อาศัยอยู่ด้วยกัน

2. ดินแดน คือ มีดินแดนให้ประชากรได้อยู่อาศัยมีอาณาเขตที่แน่นอน ดินแดนนั้นไม่จำกัดบริเวณเนื้อที่จะเล็กหรือใหญ่ก็ได้

3. รัฐบาล คือ จะต้องมีการรัฐบาลเพื่อจัดระเบียบการปกครองของตนเอง ทำหน้าที่บริหารจัดการบริหารสาธารณะให้แก่ประชากร และรักษาความสงบเรียบร้อยในดินแดนของตนเอง

4.อำนาจอธิปไตย คือ อำนาจในการปกครองตนเอง โดยปราศจากการแทรกแซงของบุคคลภายนอก โดยรัฐมีอำนาจอิสระในการจัดการภายในเขตของรัฐ ประชากรต้องอยู่ภายใต้กฎหมายและอำนาจการจัดการของรัฐ

ดังนั้น เมื่อเข้าองค์ประกอบทั้ง 4 ข้อดังกล่าวแล้ว มีฐานะเป็นรัฐ การรับรองรัฐจึงเป็นสิ่งมีความจำเป็นและสำคัญต่อรัฐที่เกิดขึ้นใหม่ หรือประเทศที่หลุดพ้นจากอาณานิคมของประเทศอื่น หรือการแบ่งแยกที่ดินไปก่อตั้งรัฐใหม่

จึงเกิดแนวคิดทฤษฎีการรับรองรัฐที่แตกต่างกันอยู่ 2 ทฤษฎี คือ

1.1 ทฤษฎีก่อตั้งหรือเงื่อนไข (Constitutive Theory)

แนวคิดของทฤษฎีนี้ถือว่า สภาพของรัฐจะเกิดขึ้นได้ โดยการรับรองของรัฐอื่น เป็นการก่อให้เกิดสภาพของรัฐ สภาพบุคคลตามกฎหมายระหว่างประเทศ การรับรองรัฐใหม่ ก่อให้เกิดผลที่สำคัญในทางกฎหมาย ทำให้รัฐใหม่มีสภาพความเป็นรัฐที่สมบูรณ์ แม้รัฐใหม่จะมีองค์ประกอบของรัฐก็ตาม ก็ยังไม่ถือว่าเป็นรัฐตามกฎหมายระหว่างประเทศ จนกว่าจะได้รับการรับรองจากรัฐอื่น การรับรองจากรัฐอื่นจึงเป็นเงื่อนไข หรือองค์ประกอบของการเป็นรัฐเพิ่มเติมจากองค์ประกอบในเรื่องประชากร ดินแดน รัฐบาลและอำนาจอธิปไตย เมื่อรัฐใหม่ไม่ได้การรับรอง ย่อมไม่มีสิทธิและหน้าที่ตามกฎหมายระหว่างประเทศ ทำให้ไม่สามารถมีความสัมพันธ์ในทางกฎหมายกับรัฐสมาชิกเดิมได้

1.2 ทฤษฎีประกาศหรือยืนยัน (Declaration Theory)

แนวคิดของทฤษฎีนี้ถือว่า การรับรองไม่ก่อให้เกิดสภาพของรัฐ แต่เป็นเพียงการประกาศหรือยืนยันสภาพความเป็นจริงที่มีอยู่แล้วเท่านั้น เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่ามีรัฐใหม่เกิดขึ้น โดยรัฐนั้นต้องครบองค์ประกอบ 4 ประการ คือ ประชากร ดินแดน รัฐบาล และอำนาจอธิปไตย ก็แสดงว่ารัฐเกิดขึ้นจริง จึงไม่จำเป็นต้องมีการรับรองรัฐนั้นอีก เพราะเมื่อรัฐมีองค์ประกอบที่สมบูรณ์ดังกล่าว ย่อมถือว่าเป็นรัฐ แม้ว่าจะไม่ได้รับการรับรองจากรัฐอื่น รัฐนั้นก็มีสิทธิและหน้าที่ตามกฎหมายระหว่างประเทศ ทั้งนี้ รัฐที่ไม่ได้รับการรับรองได้ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐอื่นรัฐนั้นยังคงต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายให้แก่รัฐที่ตนไปก่อความเสียหายด้วย

2.หลักการรับรองรัฐ (Recognition)

การรับรองรัฐถือว่าเป็นการยืนยันสภาพการดำรงอยู่ของรัฐ และเป็นการสะดวกในการติดต่อสัมพันธ์กับรัฐอื่น การรับรองรัฐยังเป็นสิ่งที่สำคัญและจำเป็นต่อระบบการปกครองของรัฐนั้นๆ ซึ่งแสดงให้เห็นว่ารัฐที่ได้รับการรับรองจากรัฐอื่นเกิดจากความสมัครใจมิได้เกิดจากการบังคับโดยพิจารณาว่ารัฐที่ถูกรับรองต้องมีคุณสมบัติครบถ้วนรัฐที่รับรองจึงจะรับรองให้จึงเป็นการรักษาสัมพันธ์ระหว่างรัฐหนึ่งต่ออีกรัฐหนึ่งหรือเป็นการเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ และเพื่อประโยชน์ทางการเมืองเป็นสำคัญ

การรับรองรัฐ มี 2 ประเภท คือ

2.1 การรับรองโดยพฤตินัย

หมายถึง รัฐไม่ได้ประกาศเป็นทางการหรือกระทำอย่างชัดแจ้ง รับรองรัฐใหม่ เนื่องจากไม่แน่ใจว่ารัฐนั้นมีสภาพความเป็นรัฐโดยสมบูรณ์หรือไม่ แต่อาจจะเข้าไปทำความสัมพันธ์กับรัฐใหม่ ในลักษณะอย่างไม่เป็นทางการ เช่น การทำข้อตกลงชั่วคราวหรือทำความสัมพันธ์ทางการฑูตอย่างไม่เป็นทางการ โดยส่งผู้แทนพิเศษไปประจำ แทนที่จะเป็นผู้แทนทางการฑูตที่แท้จริงมีลักษณะเป็นการรับรองชั่วคราวไม่ถาวร แต่เป็นขั้นตอนขั้นแรกในการที่จะรับรองโดยนิตินัยในโอกาสต่อไป กล่าวคือ การรับรองโดยพฤตินัยนั้น เป็นการรับรองในฐานะที่รัฐนั้นได้เกิดขึ้นแล้วตามความเป็นจริง และมีคุณสมบัติของรัฐโดยครบถ้วน อาจจะเป็นการรับรองในรูปของการประกาศรับรองติดต่อทางการค้าขายระหว่างกันก็ได้

2.2 การรับรองโดยนิตินัย

หมายถึง การรับรองที่รัฐแสดงออกมาโดยชัดแจ้งที่จะเข้าทำความสัมพันธ์กับรัฐใหม่ เป็นจุดเริ่มต้นในการดำเนินความสัมพันธภาพกับรัฐนั้น กล่าวคือ เป็นการรับรองอย่างเป็นทางการและถาวร เป็นการรับรองต่อสภาพความถูกต้องของรัฐ ซึ่งประเทศที่ให้การรับรองจะต้องมีความมั่นใจว่าประเทศที่เกิดขึ้นใหม่นั้นมีสภาพที่ถูกต้องครบถ้วนสมบูรณ์ แต่มิได้รับรองรัฐมิได้เป็นการรับรองเห็นชอบด้วยกับลัทธิของรัฐนั้น

เมื่อรัฐใดมีองค์ประกอบครบถ้วนทั้ง 4 ประการ คือ มีประชากร มีดินแดน มีรัฐบาล และมีอำนาจอธิปไตย ก็ถือว่าเป็นรัฐโดยสมบูรณ์แล้ว ไม่ว่าจะมีรัฐอื่นๆ รับรองหรือไม่

 367 ผู้เข้าชมเว็บไซต์,  4 views today