กู้ยืมเงิน ต้องทำหลักฐานเป็นหนังสือหรือไม่

หลายคนเคยเป็นทั้งเจ้าหนี้และลูกหนี้ ถ้าเป็นลูกหนี้ก็มีหน้าที่ใช้หนี้เจ้าหนี้นะครับ แต่ถ้าเป็นเจ้าหนี้ก็กลัวว่าลูกหนี้จะไม่จ่ายหนี้ที่ลูกหนี้กู้ยืมเงินไปครับ สำหรับเจ้าหนี้ที่เป็นเจ้าของเงินเวลาจะให้ใครยืมเงินต้องทำสัญญาไว้เป็นหลักฐานให้ชัดเจนนะครับ โดยเฉพาะการกู้ยืมเงินต้องทำเป็นหนังสือและลงลายมือชื่อผู้กู้เป็นสำคัญ ซึ่งกฎหมายกำหนดไว้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 653 บัญญัติว่า การกู้ยืมเงินกว่าสองพันบาทขึ้นไปนั้น ถ้ามิได้มีหลักฐานแห่งการกู้ยืมเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อผู้ยืมเป็นสำคัญ จะฟ้องร้องให้บังคับคดีหาได้ไม่

ดังนั้น การกู้ยืมเงินเพียง 2,000 บาท หรือน้อยกว่า 2,000 บาท ก็ไม่ต้องทำเป็นหนังสือและลงลายมือชื่อผู้กู้ในสัญญากู้นะครับ แต่ถ้าเป็นการกู้ยืมเงินกันตั้งแต่ 2,001 บาท ขึ้นไป ต้องทำเป็นหนังสือและลงลายมือชื่อผู้กู้ด้วยครับ

หลักฐานการกู้ยืมเงิน ไม่จำเป็นต้องทำในรูปแบบสัญญากู้ยืมเงินก็ได้นะครับ อาจจะทำในเอกสาร หรือวัสดุอื่นใดที่ระบุข้อความว่า ผู้กู้ได้รับเงินกู้ไปแล้วจำนวนเท่าไร และมีกำหนดคืนเมื่อไร แบบนี้ก็ถือว่าได้ทำหลักฐานเป็นหนังสือแล้วนะครับ หรือผู้กู้และผู้ให้กู้ไปที่สถานีตำรวจลงบันทึกประจำวันไว้เป็นหลักฐานว่าผู้กู้ได้กู้ยืมเงินผู้กู้ไปจำนวนเท่าไรและจะคืนเมื่อไร โดยผู้กู้เซ็นชื่อไว้ในบันทึกประจำวัน แบบนี้ก็ถือใช้ได้แล้วนะครับ

ที่สำคัญ ผู้กู้ต้องเซ็นชื่อในบันทึกประจำวันนะครับ จะเซ็นชื่อจริง ชื่อเล่น นามแฝง นามปากกาก็ได้  ส่วนผู้ให้กู้ไม่จำเป็นต้องเซ็นชื่อในหนังสือสัญญากู้ก็ได้นะครับ เพราะกฎหมายบังคับให้ผู้กู้เท่านั้นที่ต้องเซ็นชื่อในหนังสือสัญญากู้  ถ้าผู้กู้เซ็นชื่อในหนังสือแล้วก็สามารถใช้เป็นหลักฐานฟ้องร้องบังคับคดีได้ตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 653

หลักฐานการกู้ยืมเงินจะทำในตอนไหน กฎหมายไม่ได้บังคับว่าจะต้องทำตอนกู้ยืมเงินนะครับ จะทำภายหลังจากที่กู้ยืมเงินแล้วก็ได้นะครับ

สรุปคือ การกู้ยืมเงินเกินกว่า 2,000 บาท จะต้องทำหลักฐานเป็นหนังสือและลงลายมือชื่อผู้กู้เป็นสำคัญ ถ้าไม่ได้ทำเป็นหนังสือและลงลายมือชื่อผู้กู้ไว้ก็ไม่สามารถฟ้องร้องบังคับคดีกับผู้กู้ได้ตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 653 หรือรับชมคลิปเพิ่มเติมได้ที่ คลิก>>https://bit.ly/3nFzXQu

 

 77,074 ผู้เข้าชมเว็บไซต์,  2 views today