นำเอาบทความคนอื่นมาใช้โดยไม่ได้รับอนุญาตละเมิดลิขสิทธิ์หรือไม่?


ก่อนอื่นต้องทราบความหมายของบทความก่อนนะครับว่ามีความหมายว่าอย่างไร บทความตามความหมายพจนานุกรม ฉบับบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บทความ หมายถึง ข้อเขียนซึ่งอาจจะเป็นรายงานหรือการแสดงความคิดเห็น มักตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ วารสาร สารานุกรม เป็นต้น

ดังนั้น การเขียนบทความขึ้นมาสักหนึ่งบทความ หากบทความนั้นเกิดจากการใช้ความรู้ความสามารถของตนเอง ด้วยความวิริยะอุตสาหะ เขียนบทความขึ้นมา โดยได้แสดงความคิดเห็นของตนเอง บทความนั้นก็ถือว่าเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ของผู้เขียนบทความนั้นครับ

หรือนำเอาข้อมูลที่มีอยู่ทั่วไปมาเรียบเรียงใหม่โดยใช้ความรู้ความสามารถของตนเอง ก็ถือว่าได้สร้างสรรค์บทความนั้นขึ้นมา และเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ของผู้เขียนบทความเช่นกันครับ

บทความถือว่าเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 4 เป็นงานประเภทวรรณกรรมครับ

“งานวรรณกรรม” หมายความว่า งานนิพนธ์ที่ทำขึ้นทุกชนิด เช่น หนังสือ จุลสารสิ่งเขียน สิ่งพิมพ์ ปาฐกถา เทศนา คำปราศรัย สุนทรพจน์ และให้ หมายความรวมถึงโปรแกรมคอมพิวเตอร์ด้วย

เรื่องการละเมิดบทความก็ไม่ใช่เรื่องเล่นๆ นะครับ เคยมีคดีขึ้นสู่ศาลจนศาลฎีกาได้ตัดสินคดีมาแล้ว

เรื่องมีอยู่ว่าโจทก์ฟ้องจำเลยว่าตีพิมพ์บทความเรื่องวิตามินอีลงในนิตยาสารเพื่อการโฆษณาประชาสัมพันธ์ผลิตอาหารเสริมโดยจำเลยเพิ่มเติมข้อความบางส่วนในบทความและใช้บทความดังกล่าวเพื่อแสวงหาผลประโยชน์ในทางการค้าของจำเลย จำเลยกระทำละเมิดสิทธิของโจทก์ เป็นการทำซ้ำ ดัดแปลง และเผยแพร่ต่อสาธารณชนแก่งานอันมีลิขสิทธิ์โจทก์โดยไม่ได้รับอนุญาตทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายต่อชื่อเสียง

จำเลยก็ให้การต่อสู้ด้วยนะครับว่า โจทก์ไม่ได้เป็นผู้สร้างสรรค์บทความดังกล่าว บทความดังกล่าวไม่ได้มีผู้ใดเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ เป็นแค่เพียงงานบางส่วนที่เกี่ยวข้องกับประโยชน์ของวิตามินซีที่มีอยู่ทั่วไปเท่านั้น

มีการต่อสู้คดีกันจนกระทั่งศาลฎีกาได้ตัดสินคดี ตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11047/2551 บทความเกี่ยวกับวิตามิน อี ที่โจทก์จัดทำขึ้นตามเอกสารหมาย จ.4 ถึง จ.6 เป็นบทความที่จัดทำขึ้นด้วยการใช้ข้อความที่แตกต่างกัน แม้จะประกอบด้วยข้อมูล เพียง 3 ถึง 5 ย่อหน้าสั้นๆ แต่บทความดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าเป็นการเรียบเรียงขึ้น โดยอาศัยข้อมูลเกี่ยวกับวิตามิน อี ไม่ได้มีลักษณะเป็นเพียงการรวบรวมข้อมูลหรือ เป็นการแปลข้อมูลจากบทความอื่นโดยตรง แต่ได้แสดงให้เห็นถึงทักษะ การตัดสินใจ และความวิริยะอุตสาหะในการนำข้อมูลที่มีอยู่มาเรียบเรียงเป็นบทความ จึงเป็นงาน สร้างสรรค์และถือได้ว่าเป็นงานวรรณกรรมอันมีลิขสิทธิ์ตามกฎหมาย กฎหมายลิขสิทธิ์มุ่งประสงค์ที่จะให้ความคุ้มครองการแสดงออก ไม่ได้ให้ ความคุ้มครองความคิด ดังนั้น แม้บทความเอกสารหมาย จ.7 ถึง จ.9 จะมีเนื้อหา เกี่ยวกับวิตามิน อี แต่ฝ่ายจำเลยนำสืบให้เห็นว่า แนวคิดเกี่ยวกับการนำเสนอข้อมูล เกี่ยวกับวิตามิน อี มีอยู่แล้วในบทความต่างๆ ซึ่งมีปรากฏเป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลาย ทั่วไป ข้อมูลดังกล่าวจึงไม่จำเป็นต้องนำมาจากบทความเอกสารหมาย จ.4 ถึง จ.6 ทั้งบทความตามเอกสารหมาย จ.7 ถึง จ.9 มีการระบุถึงแหล่งที่มาของบทความ อ้างอิงไว้ด้วย เมื่อเปรียบเทียบบทความเอกสารหมาย จ.7 ถึง จ.9 กับบทความ เอกสารหมาย จ.4 ถึง จ.6 แล้ว ไม่ปรากฏว่ามีการนำข้อความที่เป็นสาระสำคัญใน เนื้อหาของบทความเอกสารหมาย จ.4 ถึง จ.6 มาใช้โดยตรง หรือเป็นการดัดแปลง บทความดังกล่าวเพียงเล็กน้อยหรือในส่วนที่ไม่สำคัญ จึงไม่อาจรับฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 ละเมิดลิขสิทธิ์ในบทความเอกสารหมาย จ.4 ถึง จ.6 ของโจทก์ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 18 บุคคลย่อมมีสิทธิในการใช้ชื่อของตน การที่จำเลย ที่ 1 ใช้ชื่อโจทก์ในบทความเอกสารหมาย จ.7 ถึง จ.9 โดยไม่ได้รับอนุญาตจากโจทก์ ย่อมเป็นการละเมิดต่อสิทธิในชื่อของโจทก์ จำเลยที่ 1 ละเมิดลิขสิทธิ์ในชื่อของโจทก์ หาได้ละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์ จึง ไม่จำต้องพิจารณาว่าจะนำข้อสันนิษฐานตาม พ.ร.บ. ลิขสิทธิ์ฯ มาตรา 74 มาใช้แก่ จำเลยที่ 2 ถึงที่ 6 หรือไม่ เมื่อไม่ได้รับประโยชน์จากข้อสันนิษฐานของกฎหมายแล้ว โจทก์จะต้องนำสืบตามข้อกล่าวอ้างของตนให้เห็นว่า จำเลยที่ 2 ถึงที่ 6 ร่วมกับจำเลย ที่ 1 ในการละเมิดสิทธิของโจทก์เช่นใด

สรุปคดีนี้ ศาลฎีกาได้มีคำพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 200,000 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยจะชำระเสร็จสิ้น

ดังนั้น เมื่อเห็นบทความใครแล้วไม่ควรนำมาทำซ้ำ ดัดแปลงให้เป็นบทความของตนเองนะครับ เพราะจะถือว่าเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ของคนอื่นได้ การละเมิดลิขสิทธิ์มีโทษทั้งทางแพ่งและทางอาญานะครับ

คุณสามารถรับชมคลิปเพิ่มเติมได้ที่ช่องทนายไซเบอร์ คลิก>>https://shorturl.asia/vXBft

 695 ผู้เข้าชมเว็บไซต์,  4 views today