ผู้ว่าจ้างเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์หรือไม่


ในกรณีที่ผู้ว่าจ้างได้ว่าจ้างให้ผู้รับจ้างทำงานชิ้นหนึ่ง แต่งานนั้นเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ ใครเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ ระหว่างผู้ว่าจ้างและผู้รับจ้าง?

ผู้ว่าจ้างทำของเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์หรือไม่นั้น ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 10 บัญญัติว่า งานที่ผู้สร้างสรรค์ขึ้นโดยการรับจ้างบุคคลอื่นให้ผู้ว่าจ้างเป็นผู้มีลิขสิทธิ์ในงานนั้น เว้นแต่ผู้สร้างสรรค์และผู้ว่าจ้างจะได้ตกลงกันไว้เป็นอย่างอื่น

มาตรา 10 ได้วางหลักไว้ว่า กรณีการรับจ้างบุคคลอื่นทำงาน ให้ผู้ว่าจ้างเป็นเจ้าของงานอันมีลิขสิทธิ์ แต่มีข้อยกเว้นว่า ผู้รับจ้าง (ผู้สร้างสรรค์งาน) และผู้ว่าจ้างได้ตกลงกันไว้เป็นอย่างอื่น (ข้อตกลงนี้ไม่จำเป็นต้องทำเป็นหนังสือหรือตกลงด้วยวิธีการใดๆ ก็ได้ครับ)

การจ้างทำของคืออะไร การจ้างทำของตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 587 บัญญัติว่า อันว่าจ้างทำของนั้น คือสัญญาซึ่งบุคคลคนหนึ่งเรียกว่าผู้รับจ้าง ตกลง จะทำการงานสิ่งใดสิ่งหนึ่งจนสำเร็จให้แก่บุคคลอีกคนหนึ่งเรียกว่าผู้ว่าจ้าง และผู้ว่าจ้าง ตกลงจะให้สินจ้างเพื่อผลสำเร็จแห่งการที่ทำนั้น

ซึ่งตามสัญญาจ้างทำของหากไม่ได้มีข้อตกลงเป็นอย่างอื่น ลิขสิทธิ์ก็ต้องเป็นของผู้ว่าจ้างนะครับ เพราะสัญญาจ้างทำของจะคำนึงถึงผลสำเร็จของงาน ซึ่งจะแตกต่างจากสัญญาจ้างแรงงานที่ไม่ได้คำนึงถึงผลสำเร็จของงาน แต่มีการบังคับบัญชา มีการกำหนดเวลาทำงาน มีการตอกบัตร มีการทำงานล่วงเวลา จึงเป็นการจ้างแรงงานนะครับ ซึ่งกฎหมายได้บัญญัติว่าในกรณีการจ้างแรงงานลิขสิทธิ์ตกเป็นของผู้รับจ้าง แต่กรณีจ้างทำของลิขสิทธิ์ก็ตกเป็นของผู้ว่าจ้าง แต่ก็มีข้อยกเว้น คือ ตกลงกันเป็นอย่างอื่นครับ

ตัวอย่างเช่น นาย ก.ได้ว่าจ้างให้นาย ข.ถ่ายภาพ การว่าจ้างถ่ายภาพดังกล่าว ไม่มีกำหนดเวลาทำงาน ไม่มีการทำงานล่วงเวลา ไม่มีการตอกบัตรลงเวลาทำงาน ไม่มีการบังคับบัญชา แต่คำนึงถึงผลสำเร็จของงาน คือ การถ่ายภาพให้เสร็จ นาย ข.ต้องส่งมอบงานภาพถ่ายตามที่ นาย ก.กำหนด ในกรณีเช่นนี้ ถือว่าเป็นการจ้างทำของ ลิขสิทธิ์ในการถ่ายภาพตามสัญญาจ้างทำของ ตกเป็นของ นาย ก. ในฐานะผู้ว่าจ้างครับ เว้นแต่ นาย ก.กับ นาย ข. ได้ตกลงเป็นอย่างอื่น เช่น อาจตกลงกันว่าทั้ง นาย ก.และนาย ข.เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ร่วมกัน หรือตกลงให้ลิขสิทธิ์เป็นของ นาย ก. หรือนาย ข.คนใดคนหนึ่งก็ได้ครับ

เรื่องนี้ศาลฎีกาได้วินิจฉัยเกี่ยวกับมาตรา 10 ไว้แล้วครับ ตามคำพิพากษาฎีกาที่ 12466/2547 โดยศาลฎีกาได้วินิจฉัยว่า แม้งานเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่โจทก์ทำให้แก่บริษัท ฮ. จะเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ ซึ่งโจทก์ในฐานะผู้สร้างสรรค์เป็นผู้มีลิขสิทธิ์ในงานดังกล่าวและอาจโอนลิขสิทธิ์ในงาน ดังกล่าวให้แก่บุคคลอื่นตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ฯ มาตรา 8 และมาตรา 17 แต่มาตรา 10 ของพระราชบัญญัติดังกล่าวก็บัญญัติว่า ในกรณีที่งานซึ่งมีลิขสิทธิ์ตามกฎหมายได้ถูกทำขึ้น โดยการว่าจ้าง ผู้ว่าจ้างเป็นผู้มีลิขสิทธิ์ในงานนั้น ผู้รับจ้างซึ่งเป็นผู้สร้างสรรค์งานนั้นหามีลิขสิทธิ์ในงานนั้นไม่ เว้นแต่จะมีข้อตกลงกันไว้เป็นอย่างอื่น ดังนั้น เงินค่าตอบแทนโจทก์ ได้รับจากการเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์จึงไม่ใช่ค่าแห่งลิขสิทธิ์ตามมาตรา 40 (3) แห่ง ป.รัษฎากร เมื่อสัญญาระหว่างโจทก์กับบริษัท ฮ. ซึ่งเป็นนิติบุคคลที่จดทะเบียนตามกฎหมาย ของต่างประเทศ มีสำนักงานอยู่ที่ประเทศญี่ปุ่นได้ทำเป็นหนังสือ โปรแกรมที่ผลิตตาม สัญญาโจทก์ทำการผลิตในประเทศไทย โดยบริษัท ฮ. เป็นผู้กำหนดรูปแบบและ รายละเอียดต่างๆ และโจทก์ส่งมอบโปรแกรมที่ผลิตให้แก่บริษัท ฮ. แล้ว ทั้งไม่ปรากฏ ว่าได้มีการนำโปรแกรมดังกล่าวมาใช้ในประเทศไทย กรณีจึงต้องด้วยบทบัญญัติตาม ป.รัษฎากร มาตรา 80/1 (2) และประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 15) ลงวันที่ 27 ธันวาคม 2534 แล้ว จึงต้องใช้อัตราภาษีร้อยละ 0 ในการ คำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับยอดขายหรือรายรับของโจทก์ที่ได้รับตามสัญญาดังกล่าว

ดังนั้น เมื่อผู้ว่าจ้างไปว่าจ้างให้คนอื่นทำงานและงานนั้นมีลิขสิทธิ์ ลิขสิทธิ์ในงานนั้นย่อมตกเป็นของผู้ว่าจ้างครับ เว้นแต่จะได้ตกลงกันไว้เป็นอย่างอื่น ลิขสิทธิ์ในงานก็เป็นไปตามที่ผู้ว่าจ้างและผู้รับจ้างตกลงกันครับ หรือสามารถรับชมคลิปเพิ่มเติมได้ที่ คลิก>>https://shorturl.asia/1bBxW

 651 ผู้เข้าชมเว็บไซต์,  2 views today