ลูกจ้างเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ได้หรือไม่


ในกรณีที่ลูกจ้างได้สร้างสรรค์งานขึ้นมาในฐานะที่เป็นลูกจ้าง ใครเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ นายจ้างหรือลูกจ้าง?

เรื่องนี้ กฎหมายกำหนดไว้ชัดเจนครับ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 9 บัญญัติว่า งานที่ผู้สร้างสรรค์ ได้สร้างสรรค์ขึ้นในฐานะพนักงานหรือลูกจ้าง ถ้ามิได้ทำเป็นหนังสือตกลงกันไว้เป็นอย่างอื่น ให้ลิขสิทธิ์ในงานนั้นเป็นของผู้สร้างสรรค์ แต่นายจ้างมีสิทธินำงานนั้นออกเผยแพร่ต่อสาธารณชนได้ตามที่เป็นวัตถุประสงค์แห่งการจ้างแรงงานนั้น

ก่อนอื่นต้องพิจารณาก่อนว่าเป็นนายจ้างลูกจ้างกันหรือไม่ ซึ่งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 575 บัญญัติว่า อันว่าจ้างแรงงานนั้น คือสัญญาซึ่งบุคคลคนหนึ่ง เรียกว่าลูกจ้าง ตกลงจะทำงานให้แก่บุคคลอีกคนหนึ่ง เรียกว่านายจ้าง และนายจ้างตกลงจะให้สินจ้างตลอดเวลาที่ทำงานให้

การจ้างแรงงานจะต้องมีกำหนดเวลาทำงาน วันลา วันหยุด และค่าจ้าง ค่าล่วงเวลา และมีการบังคับบัญชาด้วยนะครับ จึงจะเป็นการจ้างแรงงาน

ผมจะหยิบยกคำพิพากษาศาลฎีกาที่เคยวินิจฉัย ตามคำพิพากษาฎีกาที่ 9523/2544 แม้โจทก์เป็นลูกจ้างของจำเลยและโจทก์สร้างสรรค์โปรแกรมคอมพิวเตอร์พิพาทเพื่อใช้ในกิจการของจำเลยในฐานะที่โจทก์เป็นลูกจ้างของจำเลยก็ตาม แต่ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ฯ มาตรา 9 ก็เป็นการยืนยันอยู่ว่างานโปรแกรมคอมพิวเตอร์พิพาทที่โจทก์สร้างสรรค์ขึ้นมาติดตั้งในเครื่องคอมพิวเตอร์ของจำเลยเพื่อใช้ในกิจการของจำเลยนั้นยังเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ของโจทก์อยู่ เว้นแต่โจทก์ผู้เป็นลูกจ้างและจำเลยซึ่งเป็นนายจ้างจะได้ทำหนังสือตกลงกันไว้ให้งานโปรแกรมคอมพิวเตอร์พิพาทที่โจทก์สร้างสรรค์ขึ้นมานั้นตกเป็นลิขสิทธิ์ของจำเลย ซึ่งไม่ปรากฏว่าโจทก์และจำเลยได้ทำหนังสือตกลงกันไว้ดังกล่าว จึงรับฟังได้ว่าโจทก์เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในงานโปรแกรมคอมพิวเตอร์พิพาท

นายจ้างและลูกจ้างจะต้องตกลงกันเป็นหนังสือ พร้อมกับลงลายมือชื่อนายจ้างและลูกจ้างทั้งสองฝ่าย หรือลงลายมือชื่อลูกจ้างฝ่ายเดียวก็ได้ครับ แต่หากไม่ทำเป็นหนังสือไว้ ลิขสิทธิ์ในผลงานที่ลูกจ้างทำขึ้นก็ตกเป็นของลูกจ้างนะครับ นายจ้างไม่มีสิทธิในงานอันมีลิขสิทธิ์ของลูกจ้าง นายจ้างมีสิทธิเพียงแค่เผยแพร่ต่อสาธารณชนได้เท่านั้นครับ

ตัวอย่างเช่น ลูกจ้างทำงานในตำแหน่งโปรแกรมเมอร์มีหน้าที่ในการเขียนโปรแกรมให้กับนายจ้าง แต่ปรากฏว่านายจ้างและลูกจ้างไม่ได้ทำเป็นหนังสือ งานลิขสิทธิ์ในโปรแกรมคอมพิวเตอร์ก็ตกเป็นของลูกจ้างนะครับ แต่นายจ้างมีสิทธิเอางานที่เป็นโปรแกรมคอมพิวเตอร์ไปเผยแพร่ได้เท่านั้น แต่นายจ้างไม่มีสิทธินำโปรแกรมคอมพิวเตอร์ไปทำซ้ำ หรือดัดแปลงได้นะครับ เพราะละเมิดลิขสิทธิ์ของลูกจ้างได้

ในกรณีที่ลูกจ้างทำงานในตำแหน่งโปรแกรมเมอร์ แต่ในระหว่างทำงาน ลูกจ้างใช้เวลาว่างได้เขียนหนังสือขึ้นมาเล่มหนึ่ง ซึ่งไม่เกี่ยวกับงานของลูกจ้างทำอยู่ หนังสือที่ลูกจ้างเขียนขึ้นมานั้น เป็นงานวรรณกรรม ลูกจ้างเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในหนังสือที่ลูกจ้างเขียนมาแต่เพียงผู้เดียว ไม่เกี่ยวกับนายจ้างนะครับ นายจ้างไม่มีสิทธิเอาไปทำซ้ำ หรือดัดแปลง เผยแพร่งานหนังสือของลูกจ้างครับ

สรุปงานสร้างสรรค์ที่ลูกจ้างได้ทำขึ้นในฐานะที่เป็นลูกจ้างถือว่าเป็นลิขสิทธิ์ของลูกจ้าง หากไม่ได้ทำเป็นหนังสือตกลงเป็นอย่างอื่น ก็ถือว่างานเป็นลิขสิทธิ์ของลูกจ้าง นายจ้างไม่ใช่เจ้าของลิขสิทธิ์ในงานนั้นนะครับ แต่นายจ้างมีสิทธิเพียงนำงานไปเผยแพร่ต่อสาธารณชนได้เท่านั้น นายจ้างไม่มีสิทธิที่จะทำซ้ำ หรือดัดแปลงงานอันมีลิขสิทธิ์ของลูกจ้าง ถ้านายจ้างฝ่าฝืนลูกจ้างมีสิทธิ์ฟ้องนายจ้างละเมิดลิขสิทธิ์ได้นะครับ

นอกจากนายจ้างจะทำสัญญาจ้างแรงงานแล้ว ในสัญญาจ้างแรงงานต้องระบุให้ชัดเจนว่าลิขสิทธิ์ในงานที่ลูกจ้างทำในระหว่างเป็นลูกจ้างตกเป็นลิขสิทธิ์ของนายจ้างแต่เพียงผู้เดียวด้วยนะครับ หรือสามารถรับชมคลิปเพิ่มเติมได้ที่ คลิก>>https://shorturl.asia/4CvRb

 669 ผู้เข้าชมเว็บไซต์,  4 views today