วัตถุชิ้นเดียวกันอาจได้รับความคุ้มครองที่คาบเกี่ยวกันในกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญา เช่น การออกแบบผลิตภัณฑ์ ศิลปะประยุกต์ และเครื่องหมายการค้ารูปร่างรูปทรงของวัตถุ


ตามกฎหมายรัฐธรรมนูญของสหรัฐอมริกา (Article 1, Section 8, Clause 8 ) กำหนดไว้ว่าให้รัฐสภาของสหรัฐอเมริกา ประกอบด้วยสภาผู้แทนราษฎร์และวุฒิสภา มีอำนาจในการออกกฎหมายที่จะส่งเสริมความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ และศิลปะศาสตร์ (วรรณกรรม, ศิลปกรรม, จิตกรรม, สถาปัตยกรรม ฯลฯ) โดยการให้ความคุ้มครองชั่วระยะเวลาที่จำกัด เพื่อที่จะให้เห็นว่าจะเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในผลงานดังกล่าวตลอดกาลไม่ได้ เมื่อครบกำหนดอายุการคุ้มครองแล้ว ต้องตกเป็นสมบัติสาธารณะ โดยคุ้มครองมีระยะเวลาจำกัดให้แก่ผู้สร้างสรรค์และผู้ประดิษฐ์มีสิทธิแต่เพียงผู้เดียวของงานและการค้นพบดังกล่าว

ตามรัฐธรรมนูญของสหรัฐอเมริกาดังกล่าวข้างต้น มีเจตนารมณ์ให้ความคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาแค่ชั่วระยะเวลาหนึ่ง (จำกัดระยะเวลา) มิได้คุ้มครองตลอดกาล และเมื่อสิ้นสุดระยะเวลาความคุ้มครองตามกฎหมายแล้ว ทรัพย์สินทางปัญญานั้นจะตกเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน ซึ่งเป็นโอกาสที่บุคคลทั่วไป นักประดิษฐ์ นักวิจัย และผู้ประกอบการทั่วไป สามารถนำข้อมูลหรือองค์ความรู้จากทรัพย์สินทางปัญญานั้นไปพัฒนา ต่อยอด และใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ได้ โดยไม่ต้องขออนุญาตเจ้าของเดิมอีกต่อไป

เจตนารมณ์ของกฎหมายดังกล่าวเป็นการกระตุ้นให้ผู้ประดิษฐ์คิดค้นสิ่งใหม่ๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมส่วนรวม โดยรัฐให้ความคุ้มครองเพียงชั่วระยะเวลาหนึ่ง เพื่อให้ผู้ประดิษฐ์สามารถแสวงหาผลประโยชน์จากงานประดิษฐ์ได้อย่างเต็มที่ภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด และเพื่อเป็นการป้องกันการผูกขาด แต่ถ้ารัฐกำหนดให้ความคุ้มครองสิ่งประดิษฐ์โดยไม่มีกำหนดระยะเวลา ผู้ประดิษฐ์ก็จะไม่คิดค้นพัฒนาสิ่งประดิษฐ์ใหม่ๆ หรือไม่พัฒนาปรับปรุงสิ่งประดิษฐ์ของตนเองให้ดีขึ้น เนื่องจากได้รับความคุ้มครองอย่างไม่มีกำหนดเวลา โดยเฉพาะทำให้ผู้ประดิษฐ์นั้นได้สิทธิแต่เพียงผู้เดียวในการผูกขาดเรื่องราคา ทำให้สินค้ามีราคาสูง ไร้คู่แข่งทางการค้า นอกจากนี้ยังไปจำกัดสิทธิของผู้ประดิษฐ์คนอื่นที่จะคิดค้นพัฒนาต่อยอดสิ่งประดิษฐ์นั้นอีกด้วย เป็นเหตุทำให้ผู้ประดิษฐ์คนอื่นไม่สามารถคิดค้นสิ่งประดิษฐ์ใหม่ที่มีคุณภาพและราคาถูกเพื่อแข่งขันกับสิ่งประดิษฐ์ที่ได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายได้

แต่อย่างไรก็ตาม ยังมีช่องว่างหรือช่องโหว่ของกฎหมายที่ทำให้เจ้าของทรัพย์สินทางปัญญาสามารถทำให้สิ่งประดิษฐ์ของตนเองได้รับความคุ้มครองอย่างไม่มีระยะเวลาจำกัดได้ เมื่อพิจารณาตามกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญาของประเทศไทยจำนวนสามฉบับ ได้แก่ พระราชบัญญัติสิทธิบัตร พ.ศ.2522 พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 และพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 ซึ่งอนุญาตให้วัตถุชิ้นเดียวกันสามารถเป็นได้ทั้งงานอันมีลิขสิทธิ์ได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายลิขสิทธิ์ เมื่อนำงานนั้นมาจดสิทธิบัตรได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายสิทธิบัตร และยังสามารถรูปร่างรูปทรงของวัตถุมาจดเครื่องหมายการค้าได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายเครื่องหมายการค้าอีก ดังนั้น จะเห็นว่าวัตถุชิ้นเดียวกันสามารถได้รับความคุ้มครองคาบเกี่ยวหรือซ้ำซ้อนกันในกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญาทั้งสามฉบับดังกล่าว

งานออกแบบผลิตภัณฑ์ ตามพระราชบัญญัติสิทธิบัตรได้บัญญัติว่า “แบบผลิตภัณฑ์ หมายความว่า รูปร่างของผลิตภัณฑ์ หรือองค์ประกอบของลวดลาย หรือสีของผลิตภัณฑ์ อันมีลักษณะพิเศษสำหรับผลิตภัณฑ์ซึ่งสามารถใช้เป็นแบบสำหรับผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมรวมทั้งหัตถกรรมได้”

งานออกแบบผลิตภัณฑ์ดังกล่าวมีลักษณะใกล้เคียงกับงานอันมีลิขสิทธิ์ เป็นงานประเภทงานจิตรกรรม ได้แก่ งานสร้างสรรค์รูปทรงประกอบด้วยเส้น แสง สี หรือสิ่งอื่น อย่างใดอย่างหนึ่งหรือหลายอย่างรวมกัน ลงบนวัสดุอย่างเดียวกันหรือหลายอย่าง” และงานประติมากรรม ได้แก่ งานสร้างสรรค์รูปทรงที่เกี่ยวกับปริมาตรที่สัมผัสและจับต้องได้ และยังเป็นงานศิลปะประยุกต์ ได้แก่ งานที่นำเอางานตาม (1) ถึง (6) อย่างใดอย่างหนึ่งหรือหลายอย่างรวมกันไปใช้ประโยชน์อย่างอื่นนอกเหนือจากการชื่นชมในคุณค่าของตัวงานดังกล่าวนั้น เช่น นำไปใช้สอย นำไปตกแต่งวัสดุหรือสิ่งของอันเป็นเครื่องใช้หรือนำไปใช้เพื่อประโยชน์ทางการค้า และงานทั้งสองอย่างดังกล่าว ยังสามารถนำไปจดเครื่องหมายการค้าในรูปร่างรูปทรงของวัตถุ ตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 4 ที่ได้นิยามเครื่องหมายไว้ว่า “เครื่องหมาย หมายความว่า ภาพถ่าย ภาพวาด ภาพประดิษฐ์ ตรา ชื่อ คำ ข้อความ ตัวหนังสือ ตัวเลข ลายมือชื่อ กลุ่มของสี รูปร่างหรือรูปทรงของวัตถุ หรือสิ่งเหล่านี้อย่างใดอย่างหนึ่งหรือหลายอย่างรวมกัน ดังนั้น วัตถุชิ้นเดียวกันอาจได้รับความคุ้มครองที่คาบเกี่ยวกันและซ้ำซอนในกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญาไม่ว่าจะเป็นตามกฎหมายสิทธิบัตร กฎหมายลิขสิทธิ์ และกฎหมายเครื่องหมายการค้า ทำให้เจ้าของในทรัพย์สินทางปัญญาสามารถเลือกขอรับความคุ้มครองได้จากฎหมายทั้งสามฉบับได้จึงไม่เป็นตามเจตนารมณ์ที่แท้จริงของกฎหมายที่ประสงค์จะให้ความคุ้มครองกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญาอย่างมีระยะเวลาจำกัด

หากมองในมุมของเจ้าของสิทธิบัตรแล้วก็ไม่อยากให้สิ่งประดิษฐ์ของตนเองที่ได้จดสิทธิบัตรไว้คุ้มครองอย่างมีระยะเวลาจำกัด เนื่องจากระยะเวลาคุ้มครองสิทธิบัตรออกแบบผลิตภัณฑ์ มีอายุการคุ้มครอง 10 ปี นับแต่วันขอรับสิทธิบัตร แต่กว่าจะได้รับหนังสือสำคัญรับรองสิทธิบัตรก็ใช้เวลา 2 ถึง 4 ปี เท่ากับได้รับความคุ้มครองและใช้ประโยชน์ได้เพียงแค่ 6 ถึง 7 ปี เมื่อเทียบกับการลงทุนผลิตผลงาน การคิดค้นวิจัย ค่าใช้จ่ายในการทำตลาดที่มากมายมหาศาล ก็ไม่อยากให้คุ้มครองอย่างมีระยะเวลาจำกัด ใครๆ ก็สามารถผลิตแข่งขันกับตนเองได้ โดยเฉพาะเมื่อครบอายุการคุ้มครองแล้วตกเป็นสมบัติสาธารณะ คู่แข่งทางการค้าจะผลิตสินค้าแบบเดียวกัน แน่นอนเขาต้องจำหน่ายในราคาที่ถูกกว่าอยู่แล้ว และพิจารณาคุณภาพแล้วจะเท่ากับหรือดีกว่าสินค้าแบบเดิมหรือไม่ก็ไม่อาจทราบได้ ซึ่งมีคดีตัวอย่างในต่างประเทศ LECO ซึ่งได้จดสิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์ คุ้มครองรูปร่างรูปทรงของตัวต่อเลโก้ไว้ที่ต่างประเทศ ต่อมาเมื่อครบกำหนดอายุการคุ้มครอง 10 ปี แบบตัวต่อเลโก้ตกเป็นสมบัติสาธารณะ มี TYCO ได้ผลิตตัวต่อเลโก้เหมือนกับของ LECO (เหมือนกันทุกอย่าง) โดยการลงโฆษณาเปรียบเทียบว่า TYCO กับ LECO เหมือนกันทุกอย่างไม่ว่าจะเป็นรูปร่างขนาด ผู้บริโภคจะใช้ของ LECO ไปทำไม ราคาแพงกว่า เด็กเล่นไม่น่าก็เบื่อมาซื้อตัวต่อของ TYCO ดีกว่าสินค้าก็เหมือนๆ กัน ประหยัดเงินกว่า กล่าวคือ TYCO มีเจตนาที่จะแย่งลูกค้าของ LECO นั่งเอง การโฆษณาดังกล่าวของ TYCO ทำให้ลูกค้ามาซื้อตัวต่อของ TYCO จำนวนมาก เนื่องจากมีราคาถูกกว่าหลายเท่า ทำให้ LECO จำหน่ายสินค้าไม่ได้ และได้รับความเสียหาย ต่อมา LECO จึงนำตัวต่อเลโก้ไปยื่นจดเครื่องหมายการค้ารูปร่างรูปทรงของวัตถุ แต่ก็ถูกคัดค้านไม่ให้รับจดทะเบียน จนกระทั่งมีการฟ้องร้องคดีต่อศาล ทาง LECO ก็ให้เหตุผลว่ากว่าจะคิดค้นผลิตตัวต่อเลโก้มาได้ต้องเสียค่าใช้จ่ายจำนวนมหาศาล ทั้งค่าการทดลองวิจัย ค่าทำการตลาด ชิ้นส่วนผลิตภัณฑ์ก็ทำด้วยวัสดุอย่างดีมีมาตรฐานไม่มีผลร้ายต่อเด็ก หากให้คนอื่นผลิตจะไม่ได้มาตรฐานมีผลร้ายกับเด็กได้ ส่วนทาง TYCO ก็ให้เหตุผลว่า LECO ผูกขาดทางการตลาด สินค้ามีราคาสูง ของตนมีราคาถูกกว่าสามารถเข้าถึงเด็กๆ ที่ยากจนได้ เนื่องจากเด็กๆ มีอยู่ทั่วโลก ต่างฝ่ายต่างก็มีเหตุผลสนับสนุนข้อกล่าวอ้างตัวเอง และศาลหลายประเทศได้ตัดสินไปในทำนองเดียวกันว่าตัวต่อเลโก้เป็นชิ้นส่วนหนึ่งต้องนำมาต่อกับชิ้นส่วนอื่นๆ ไม่มีลักษณะบ่งเฉพาะในตัวเอง จึงไม่สามรถนำตัวต่อเลโก้ในส่วนของรูปร่างรูปทรงของวัตถุมาจดเครื่องหมายการค้าได้ และศาลก็สั่งให้ TYCO หยุดโฆษณาดังกล่าวในลักษณะเปรียบเทียบ TYCO ทำให้ LECO

ดังนั้น จะเห็นว่าเจ้าของทรัพย์สินทางปัญญาในสิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์เมื่ออายุการคุ้มครองสิ้นสุดลง เจ้าของสิทธิบัตรก็ไม่อยากให้สิ่งประดิษฐ์ที่ตัวเองคิดค้นมาด้วยต้นทุนมหาศาล ต้องตกเป็นสมบัติสาธารณะใครๆ ก็สามารถผลิตได้ จะพยายามที่จะหวงกันไม่ให้คนอื่นผลิตสินค้าในแบบเดียวกัน จึงนำแบบผลิตภัณฑ์ที่หมดอายุการคุ้มครองนั้นมายื่นจดเครื่องหมายการค้าในรูปร่างรูปทรงของวัตถุเพื่อที่จะได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายเครื่องหมายการค้าที่จะได้รับความคุ้มครองไปตลอดกาล โดยไม่มีกำหนดระยะเวลา เพียงแต่ 10 ปี ต้องต่ออายุครั้งหนึ่งเท่านั้น ซึ่งเห็นว่าจะเป็นการผูกขาดทางการค้า และเป็นการขัดต่อเจตนารมณ์ที่แท้จริงของกฎหมายที่ประสงค์ให้มีการคุ้มครองชั่วระยะเวลาหนึ่ง เพื่อเปิดโอกาสที่บุคคลทั่วไปสามารถนำข้อมูลจากทรัพย์สินทางปัญญานั้นไปใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ได้อย่างเต็มที่

นอกจากวัตถุชิ้นเดียวกันจะได้รับความคุ้มครองที่คาบเกี่ยวหรือซ้ำซ้อนกับกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญามาทั้งสามฉบับดังกล่าวข้างต้นแล้ว ยังเปิดโอกาสให้ผู้เป็นเจ้าของทรัพย์สินทางปัญญามีสิทธิอย่างกว้างขวาง กล่าวคือ เมื่อเจ้าของผลงานได้ผลิตชิ้นงานออกมาชิ้นหนึ่งมีลักษณะเป็นสิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์ในรูปร่างรูปทรงของวัตถุ แต่ไม่ได้จดสิทธิบัตรและจดเครื่องหมายการค้า เนื่องจากไม่ทราบว่าชิ้นงานของตัวเองจดทะเบียนสิทธิบัตรและเครื่องหมายการค้าได้หรือไม่เห็นความสำคัญของการจดทะเบียนไม่รู้ว่าจำหน่ายสินค้าชิ้นนี้จะได้กำไรหรือไม่ เนื่องจากการจดสิทธิบัตรก็มีค่าใช้จ่ายอยู่ไม่ใช่น้อย ครั้นต่อมาได้ลงจำหน่ายสินค้าผ่านสื่อโซเชี่ยวมีเดีย เช่นเฟสบุ๊ก ทำให้สินค้าเข้าถึงผู้คนเป็นจำนวนมาก และทำให้สินค้าจำหน่ายดี ย่อมเป็นธรรมดาที่ต้องถูกลอกเลียนแบบจึงทำให้คนอื่นผลิตสินค้าในแบบเดียวกันจำหน่ายแข่งขันโดยใช้กลยุทธตัดราคา เจ้าของชิ้นงานจึงทราบว่าไม่สามารถฟ้องคนทำละเมิดสิทธิบัตรและเครื่องหมายการค้าของตนเองได้ เนื่องจากไม่ได้นำชิ้นงานนั้นไปจดทะเบียนต่อกรมทรัพย์สินทางปัญญา เจ้าของชิ้นงานในฐานะผู้เสียหายจึงหาช่องว่างของกฎหมายยื่นฟ้องผู้กระทำละเมิดข้อหาละเมิดลิขสิทธิ์ในงานศิลปะประยุกต์ ซึ่งกฎหมายให้ความคุ้มครองงานที่ได้สร้างสรรค์มาโดยไม่ต้องมีการจดทะเบียน ทั้งที่เจตนาตั้งแต่แรกของเจ้าของชิ้นงานสร้างสรรค์งานขึ้นมาเพื่อใช้แบบสิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์ตามกฎหมายสิทธิบัตรเท่านั้น แต่เวลายื่นฟ้องต่อศาลกลับหาช่องว่างของกฎหมายฟ้องผู้กระทำละเมิดในข้อหาละเมิดลิขสิทธิ์ และการพิจารณาคดีของศาลไทยใช้ระบบกล่าวหานำหลักความประสงค์ของคู่ความมาใช้ คู่ความเป็นผู้มีบทบาทสำคัญกำหนดทิศทางและความเป็นไปของกระบวนพิจารณา โดยคู่ความเป็นผู้กำหนดข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานในคดี เป็นไปตามความประสงค์ของคู่ความ ศาลต้องวางตัวเป็นกลางโดยเคร่งครัด ในคดีแพ่งศาลวินิจฉัยคดีไปตามประเด็นข้อพิพาทตามคำคู่ความคำฟ้องและคำให้การ ส่วนในคดีอาญาศาลพิจารณาข้อวินิจฉัยในคดีอาญา ว่าจำเลยกระทำความผิดตามฟ้องโจทก์หรือไม่ ศาลไม่มีอำนาจวินิจฉัยนอกฟ้องนอกประเด็นได้ เมื่อโจทก์อาศัยช่องว่างหรือช่องโหว่ของกฎหมายดังกล่าวฟ้องจำเลยละเมิดลิขสิทธิ์ ตามกฎหมายทั้งสามฉบับที่ได้บัญญัติให้ความคุ้มครองวัตถุชิ้นเดียวกันคาบเกี่ยวหรือซ้ำซ้อนกัน ทำให้ศาลไม่สามารถนำบทบัญญัติดังล่าวมาวินิจฉัยให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ที่แท้จริงของกฎหมายได้ เนื่องจากศาลไทยใช้ระบบกล่าวหาตามหลักความประสงค์ของคู่ความ ตามที่ได้กล่าวมาก่อนนี้แล้ว

ผู้เขียนมีความเห็นว่าตามกฎหมายรัฐธรรมนูญของสหรัฐอมริกา (Article 1, Section 8, Clause 8 ) มีเจตนารมณ์ที่จะให้ความคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาแค่ชั่วระยะเวลาหนึ่ง และเมื่อสิ้นสุดระยะเวลาความคุ้มครองตามกฎหมายแล้ว ทรัพย์สินทางปัญญานั้นจะตกเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินเพื่อเป็นประโยชน์ต่อคนทั่วโลก ซึ่งประเทศส่วนใหญ่ทั่วโลกที่ใช้ระบบกฎหมาย Common Law และ Civil Law ก็ยอมรับกันหลักการในรัฐธรรมนูญของสหรัฐอเมริกาอยู่แล้ว มีรากฐานมาจากนักคิดนักปรัชญาสมัยโบราณ จึงนำเป็นแนวคิดร่างเป็นบทบัญญัติกฎหมายดังกล่าวในรัฐธรรมนูญสหรัฐอเมริกา

ดังนั้น ผู้เขียนเห็นว่าควรให้วัตถุชิ้นเดียวกันคุ้มครองได้เฉพาะกฎหมายฉบับใดฉบับหนึ่งเท่านั้น และไม่สามารถนำวัตถุชิ้นเดียวกันได้รับความคุ้มครองทั้งกฎหมายลิขสิทธิ์ กฎหมายสิทธิบัตร และกฎหมายเครื่องหมายการค้า ที่มีลักษณะคาบเกี่ยวหรือซ้ำซ้อนกัน อาทิเช่น ถ้าวัตถุชิ้นนั้นเป็นสิทธิบัตรแล้ว ก็ไม่สามารถเป็นงานลิขสิทธิ์หรือเครื่องหมายการค้าได้ เป็นต้น

 409 ผู้เข้าชมเว็บไซต์,  4 views today