หลักความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน รัฐประศาสโนบาย (Public Policy) ในกฎหมายลิขสิทธิ์ เครื่องหมายการค้า และสิทธิบัตร


หลักความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน เป็นหลักกฎหมายพื้นฐาน ที่รับรองและคุ้มครองเกี่ยวกับผลประโยชน์ของประชาชนส่วนรวมหรือประเทศชาติ เพื่อให้เกิดความสงบสุขของสังคม ห้ามมิให้ผู้ใดฝ่าฝืน แม้ไม่ได้มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นกล่าวอ้างศาลก็สามารถหยิบยกขึ้นมาพิจารณาวินิจฉัยเองได้เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม และได้ถูกบัญญัติไว้ในกฎหมายหลายฉบับ

หลักความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน รัฐประศาสโนบาย ที่บัญญัติไว้ชัดแจ้งเป็นลายลักษณ์อักษรในกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญา ดังต่อไปนี้

1.เครื่องหมายการค้า

เป็นข้อห้ามมิให้รับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าหากเครื่องหมายนั้นขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนหรือรัฐประศาสโนบาย ตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 8 บัญญัติว่า “เครื่องหมายการค้าที่มีหรือประกอบด้วยลักษณะอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้ ห้ามมิให้รับจดทะเบียน…(9) เครื่องหมายที่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนหรือรัฐประศาสโนบาย”

เครื่องหมายการค้าที่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนนั้น ได้แก่เครื่องหมายการค้าที่เป็นภาพเปลือยของชายหญิง หรือภาพลามกอนาจาร หรือภาพชายหญิงกำลังจูบและกอดกันในลักษณะร่วมเพศกัน เป็นต้น

ในกรณีนำภาพถ่ายในงานอันมีลิขสิทธิ์ของคนอื่นมาทำซ้ำหรือดัดแปลงแล้วนำไปจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า ถือว่าเป็นเครื่องหมายที่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนหรือรัฐประศาสโนบาย ตามมาตรา 8 (9)

ซึ่งมีคำพิพากษาศาลฎีกาวินิจฉัยไว้เป็นแนวบรรทัดฐาน ได้แก่

ตามคำพิพากษาฎีกาที่ 4588/2552 วินิจฉัยว่า การนำงานอันมีลิขสิทธิ์ของบุคคลอื่นมาใช้เป็นเครื่องหมายการค้า แม้จะไม่ปรากฏข้อห้ามในกฎหมายว่าด้วยเครื่องหมายการค้าโดยตรง แต่ พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 8 ได้บัญญัติห้ามมิให้รับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าที่มีหรือประกอบด้วยลักษณะของเครื่องหมายที่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนหรือรัฐประศาสโนบาย เมื่อเจตนารมณ์ของกฎหมายว่าด้วยลิขสิทธิ์ต้องการที่จะให้ความคุ้มครองแก่เจ้าของลิขสิทธิ์ และเจตนารมณ์ของกฎหมายว่าด้วยเครื่องหมายการค้าก็มุ่งที่จะให้ความคุ้มครองแก่บุคคลผู้กระทำการโดยสุจริตเป็นสำคัญ ดังนั้น การที่บุคคลใดทำซ้ำหรือดัดแปลงงานอันมีลิขสิทธิ์ของบุคคลอื่นโดยวิธีใด ๆ อันไม่สุจริต และนำไปใช้เป็นเครื่องหมายการค้าของตน ย่อมเป็นการขัดต่อเจตนารมณ์ของกฎหมาย และขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือรัฐประศาสโนบาย

2.สิทธิบัตร

สิทธิบัตรการประดิษฐ์ที่ไม่อาจขอรับสิทธิบัตรได้หากเป็นการประดิษฐ์ที่ขัดต่อความสงบเรียบร้อย หรือศีลธรรมอันดี อนามัย หรือสวัสดิภาพของประชาชน เพื่อความปลอดภัยและความเป็นระเบียบในสังคมก่อให้เกิดความสงบสุขของประชาชน ตามพระราชบัญญัติสิทธิบัตร พ.ศ.2522 มาตรา 9 การประดิษฐ์ดังต่อไปนี้ไม่ได้รับความคุ้มครองตามพระราชบัญญัติ…(5) การประดิษฐ์ที่ขัดต่อความสงบเรียบร้อย หรือศีลธรรมอันดี อนามัย หรือสวัสดิกาพของประชาชน

สิทธิบัตรการประดิษฐ์ที่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดี อนามัย หรือสวัสดิภาพของประชาชนได้แก่ เครื่องเล่นการพนัน กุญแจผี เครื่องผลิตยาเสพติด เครื่องมือในการทรมานหรือประหารมนุษย์ เครื่องทำแท้ง เป็นต้น

ส่วนสิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์ที่ไม่สามารถขอรับสิทธิบัตรได้หากแบบผลิตภัณฑ์ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน เพื่อความเป็นระเบียบและความสงบสุขของสังคมเป็นสำคัญ ตามตามพระราชบัญญัติสิทธิบัตร พ.ศ.2522 มาตรา 58 การออกแบบผลิตภัณฑ์ดังต่อไปนี้ขอรับสิทธิบัตรไม่ได้ (1) แบบผลิตภัณฑ์ที่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน

สิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์ที่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ได้แก่ การนำสัญญาลักษณ์หรือวัตถุต่างๆ ทางศาสนามาออกแบบเป็นผลิตภัณฑ์ หรือการออกแบบรูปร่างรูปทรงที่เป็นภาพลามกอนาจาร เป็นต้น

นอกจากนี้หลักความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ในข้อตกลง TRIPs ได้กำหนดหลักพื้นฐานไว้ให้แก่ประเทศสมาชิกในข้อ 27 (2) บัญญัติว่า “บรรดาสมาชิกอาจไม่ให้สิทธิบัตรในสิ่งประดิษฐ์ เพื่อป้องกันมิให้มีการแสวงหาประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ในดินแดนของตนอันเป็นความจำเป็นเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อย หรือศีลธรรมอันดีของประชาชนรวมทั้งการคุ้มครองชีวิตหรือสุขภาพของมนุษย์ สัตว์ หรือพืช หรือเพื่อหลีกเลี่ยงความเสียหายอย่างร้ายแรงต่อสิ่งแวดล้อม โดยมีเงื่อนไขว่าการไม่ให้สิทธิบัตรดังกล่าวไม่ได้กำหนดขึ้นเพียงเพราะกฎหมายของตนห้ามแสวงหาประโยชน์”

3.ลิขสิทธิ์

หลักความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มิได้บัญญัติไว้ว่าการได้มาในงานอันมีลิขสิทธิ์ที่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือรัฐประศาสโนบาย (Public Policy) ที่ไม่อาจได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายลิขสิทธิ์ ซึ่งแตกต่างกับกฎหมายเครื่องหมายการค้าและกฎหมายสิทธิบัตรที่บัญญัติเกี่ยวกับหลักความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนไว้อย่างชัดเจน ตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 8 (9) และพระราชบัญญัติสิทธิบัตร พ.ศ.2522 มาตรา 9 (5) และมาตรา 58 (1)

แต่มีคำพิพากษาฎีกาที่ 3705/2530 วินิจฉัยว่า ลิขสิทธิ์ที่บุคคลสามารถเป็นเจ้าของได้ จะต้องเป็นลิขสิทธิ์ในงานที่ตนสร้างสรรค์โดยชอบด้วยกฎหมาย แต่เมื่อปรากฏว่าวีดีโอเทปของกลาง 1 ที่โจทก์อ้างว่าเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ มีบทแสดงการร่วมเพศระหว่างหญิงและชายบางตอนอันเป็นภาพลามก ซึ่งผู้ใดทำหรือมีไว้หรือมีส่วนเกี่ยวข้องในการค้า เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 287 งานของโจทก์ดังกล่าวจึงมิใช่งานสร้างสรรค์ตามความหมายแห่งพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 โจทก์จึงไม่ใช่เจ้าของลิขสิทธิ์ ไม่ใช่ผู้เสียหายตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 2 (4) และไม่มีอำนาจฟ้อง

คดีดังกล่าว ผู้สร้างสรรค์เป็นโจทก์ฟ้องจำเลยว่าละเมิดลิขสิทธิ์เทปภาพยนต์ไทยเรื่อง “อาถรรพ์น้ำมันพราย” ศาลฎีกาวินิจฉัยว่าภาพยนตร์เรื่องนี้มีภาพบางตอนเป็นภาพลามก โจทก์ทำและเผยแพร่งานดังกล่าวจึงมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 287 โจทก์จึงไม่เป็นผู้มีลิขสิทธิ์ในภาพยนตร์ดังกล่าวได้ เพราะลิขสิทธิ์ที่สามารถเป็นเจ้าของได้จะต้องเป็นลิขสิทธิ์ในงานที่ตนสร้างสรรค์โดยชอบด้วยกฎหมาย โจทก์จึงไม่ได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายลิขสิทธิ์ งานของโจทก์จึงขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน

ถึงแม้ว่าหลักความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนมิได้ถูกนำมาบัญญัติไว้ในกฎหมายลิขสิทธิ์ก็ตาม แต่ศาลฎีกาก็ได้หยิบยกหลักดังกล่าวขึ้นมาวินิจฉัยตามคำพิพากษาฎีกาที่ 3705/2530 ว่างานสร้างสรรค์ที่จะได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายลิขสิทธิ์จะต้องไม่เป็นงานสร้างสรรค์ที่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน เนื่องจากหลักความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชนเป็นหลักทั่วไปหรือหลักสากลก็ว่าได้ และเป็นหลักกฎหมายพื้นฐานที่รับรองและคุ้มครองเกี่ยวกับผลประโยชน์ของประชาชนส่วนรวมหรือประเทศชาติ เพื่อให้เกิดความสงบสุขของสังคม ห้ามมิให้ผู้ใดฝ่าฝืน แม้ไม่ได้มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นกล่าวอ้างศาลก็สามารถยหยิบยกขึ้นมาพิจารณาวินิจฉัยเองได้

เหตุที่หลักความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือรัฐประศาสโนบาย มิได้นำมาบัญญัติไว้ในกฎหมายลิขสิทธิ์ เนื่องจากขึ้นอยู่กับลักษณะของศีลธรรมจารีตประเพณีและนโยบายแต่ละประเทศ โดยเฉพาะลิขสิทธิ์ในงานศิลปกรรมของบางประเทศมองว่าภาพเปลือยกายเป็นศิลปะไม่ผิดกฎหมาย แต่บางประเทศก็มองว่าผิดทั้งศีลธรรมและผิดกฎหมายด้วย ซึ่งศาลไทยอาจมีความเห็นแตกต่างจากศาลในต่างประเทศได้ เนื่องจากวัฒนธรรมประเพณีท้องถิ่นของแต่ละประเทศแตกต่างกัน

แต่อย่างไรก็ตาม ข้าพเจ้ามีความเห็นว่าควรนำหลักความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือรัฐประศาสโนบาย มาบัญญัติไว้เป็นลายลักษณ์อักษรให้ชัดแจ้งในพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 เลยว่างานสร้างสรรค์ใดเป็นงานที่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชนที่ไม่ได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายลิขสิทธิ์ เพื่อป้องกันมิให้เกิดข้อโต้แย้งโต้เถียงกัน เหมือนอย่างเช่นที่นำมาบัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 8 (9) และพระราชบัญญัติสิทธิบัตร พ.ศ.2522 มาตรา 9 (5) และมาตรา 58 (1)

 394 ผู้เข้าชมเว็บไซต์,  4 views today