โปรแกรมคอมพิวเตอร์ตามกฎหมายลิขสิทธิ์คืออะไร


โปรแกรมคอมพิวเตอร์ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 4 บัญญัติว่า “โปรแกรมคอมพิวเตอร์” หมายความว่า คำสั่ง ชุดคำสั่งหรือสิ่งอื่นใดที่นำไปใช้กับเครื่องคอมพิวเตอร์ เพื่อให้เครื่องคอมพิวเตอร์ทำงานหรือเพื่อให้ได้รับผลอย่างหนึ่งอย่างใด ทั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นภาษาโปรแกรมคอมพิวเตอร์ในลักษณะใด

โปรแกรมคอมพิวเตอร์ คือ คำสั่ง หรือชุดคำสั่ง ที่เขียนขึ้นมาเพื่อให้เครื่องคอมพิวเตอร์ทำงานตามที่ต้องการนั่นเองครับ ซึ่งมีการรับข้อมูลเข้า Input การประมวลผล โปรเซส การแสดงผลออกเป็น Output

โปรแกรมคอมพิวเตอร์ดังกล่าวถือว่าเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ อยู่ในงานประเภทวรรณกรรม “วรรณกรรม” หมายความว่า งานนิพนธ์ที่ทำขึ้นทุกชนิด เช่น หนังสือ จุลสารสิ่งเขียน สิ่งพิมพ์ ปาฐกถา เทศนา คำปราศรัย สุนทรพจน์ และให้ หมายความรวมถึงโปรแกรมคอมพิวเตอร์ด้วย ดังนั้น โปรแกรมคอมพิวเตอร์ถือว่าเป็นงานวรรณกรรม และเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ตามกฎหมายฉบับนี้ครับ

ในเรื่องของการละเมิดโปรแกรมคอมพิวเตอร์ ผมมีคดีที่จะยกมาเป็นตัวอย่างเล่าสู่กันฟังนะครับ ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าสนใจ บริษัทที่เป็นผู้เสียหายคือบริษัทไมโครซอฟท์ ยื่นฟ้องจำเลย โดยจำเลยนำโปรแกรมคอมพิวเตอร์เป็นโปรแกรมไมโครซอฟท์วินโดร์ XP ซึ่งเป็นลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายนำเอามาติดตั้งไว้ในเครื่องคอมพิวเตอร์ของจำเลย ซึ่งโปรแกรมคอมพิวเตอร์ดังกล่าวมีคนอื่นละเมิดมาแล้วจำเลยมาทำละเมิดซ้ำอีก ต่อมามีการดำเนินคดีต่อศาล

จนกระทั่งศาลฎีกาได้มีคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4488/2559 โดยศาลฎีกาได้วินิจฉัยว่า การทำซ้ำโปรแกรมคอมพิวเตอร์อันมีลิขสิทธิ์ของผู้อื่นโดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าของลิขสิทธิ์นั้น ไม่ว่าจะเป็นการทำซ้ำจากบันทึกของงานโปรแกรมคอมพิวเตอร์อันมีลิขสิทธิ์ที่ผู้เสียหายอนุญาตให้ทำขึ้น หรือทำซ้ำจากบันทึกของงานโปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่มีผู้ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้เสียหาย ก็ล้วนเป็นการกระทำต่อโปรแกรมคอมพิวเตอร์อันมีลิขสิทธิ์ซึ่งถือเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ในงานโปรแกรมคอมพิวเตอร์นั้น ตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 30 (1) เพราะชุดคำสั่งที่เขียนด้วยภาษาโปรแกรมคอมพิวเตอร์ (source code) หรือภาษาเครื่อง (object code) อันเป็นโปรแกรมคอมพิวเตอร์ตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 4 ซึ่งบันทึกอยู่ในงานอันมีลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายหรือบันทึกอยู่ในบันทึกของงานที่ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายนั้นเป็นตัวงานโปรแกรมคอมพิวเตอร์อันมีลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายที่ได้รับความคุ้มครองตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 4 และ 6

สรุป โปรแกรมคอมพิวเตอร์ถือว่าเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 4 และเป็นงานประเภทวรรณกรรม ได้แก่ งานนิพนธ์ที่ทำขึ้นทุกชนิด เช่น หนังสือ จุลสารสิ่งเขียน สิ่งพิมพ์ ปาฐกถา เทศนา คำปราศรัย สุนทรพจน์ และให้หมายความรวมถึงโปรแกรมคอมพิวเตอร์ด้วย หรือสามารถรับชมคลิปเพิ่มเติมได้ที่ คลิก>>https://shorturl.asia/NPX7x

 554 ผู้เข้าชมเว็บไซต์,  2 views today