3 ประโยชน์การจดแจ้งข้อมูลลิขสิทธิ์


ถึงแม้ว่าลิขสิทธิ์จะได้รับความคุ้มครองทันทีนับแต่ผู้สร้างสรรค์ได้สร้างสรรค์ผลงานโดยไม่ต้องจดทะเบียนก็ตาม แต่ถึงอย่างไรผู้สร้างสรรค์ต้องแจ้งข้อมูลลิขสิทธิ์ไว้ต่อกรมทรัพย์สินทางปัญญา เพื่อแสดงเจตนาว่าตัวเองเป็นเจ้าของผลงานอันมีลิขสิทธิ์นั้น ทางกรมทรัพย์สินทางปัญญาจะออกหนังสือจดแจ้งข้อมูลลิขสิทธิ์ให้ไว้ แต่มิได้เป็นการรับรองว่าผู้สร้างสรรค์เป็นเจ้าของผลงานอันมีลิขสิทธิ์นั้น หากมีข้อพิพาทว่าใครเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ก็ต้องให้ศาลเป็นผู้วินิจฉัยชี้ขาดต่อไป

แต่ประโยชน์ของการจดแจ้งข้อมูลลิขสิทธิ์ต่อกรมทรัพย์สินทางปัญญาก็มี ผมจะอธิบาย 3 ประโยชน์ของการจดแจ้งข้อมูลลิขสิทธิ์ ดังนี้

1.) เป็นหลักประกันกับสถาบันการเงินและการทำธุรกรรมต่างๆ

กฎหมายหลักประกันธุรกิจ คือ กฎหมายที่ออกมาเพื่อรองรับให้ผู้ประกอบการสามารถนำทรัพย์สินที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจ แต่ไม่เป็นที่รองรับของสถาบันการเงินในการใช้เป็นหลักประกัน เช่น สินค้าคงคลัง วัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตสินค้าทรัพย์สินทางปัญญา เป็นต้น มาเป็นหลักประกันในการกู้ยืมเงินได้ ในกรณีที่จดแจ้งข้อมูลลิขสิทธิ์ต่อกรมทรัพย์สินทางปัญญาแล้ว กรมทรัพย์สินทางปัญญาออกหนังสือจดแจ้งข้อมูลลิขสิทธิ์มาเป็นหลักประกันทางธุรกิจได้ครับ

2.) เป็นฐานข้อมูลลิขสิทธิ์

เพื่อเป็นแหล่งข้อมูลในการสืบหาเจ้าของผลงานลิขสิทธิ์ และสามารถนำไปใช้เป็นประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ได้ ซึ่งเจ้าของลิขสิทธิ์ที่ได้ไปจดแจ้งข้อมูลลิขสิทธิ์ไว้ที่กรมทรัพย์สินทางปัญญา เมื่อมีคนต้องการสืบหาเจ้าของงานลิขสิทธิ์ก็สามารถที่จะเข้าไปค้นหาข้อมูลทางเว็บของกรมทรัพย์สินทางปัญญาได้ครับ

3.) เพื่อเป็นหลักฐานเบื้องต้นแสดงถึงความเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์

เพื่อใช้ประกอบในการพิจารณาคดี ซึ่งต้องมีการพิสูจน์ความเป็นเจ้าของที่แท้จริงต่อไป ในการพิจารณาคดีของศาลนั้น ศาลจะพิจารณาว่าใครเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ที่แท้จริง ซึ่งการจดแจ้งข้อมูลลิขสิทธิ์ก็ถือได้ว่าเป็นหลักฐานเบื้องต้นประกอบในการพิจารณาคดีได้ครับ

แต่ถึงอย่างไรก็ตาม หนังสือการจดแจ้งข้อมูลลิขสิทธิ์ มิใช่หลักฐานแสดงความเป็นเจ้าของนะครับ ต้องพิสูจน์ความเป็นเจ้าของต่อไปในชั้นศาล

สรุปคือ ลิขสิทธิ์ไม่จำเป็นต้องไปจดแจ้งข้อมูลลิขสิทธิ์ต่อกรมทรัพย์สินทางปัญญา เพราะว่าลิขสิทธิ์กฎหมายให้ความคุ้มครองทันทีนับแต่วันที่สร้างสรรค์ผลงานขึ้นมา ซึ่งไม่เหมือนกับพวกเครื่องหมายการค้า สิทธิบัตรหรืออนุสิทธิบัตร กฎหมายให้คุ้มครองครองต่อเมื่อได้รับการจดทะเบียนแล้ว

ดังนั้น เมื่อคุณสร้างสรรค์ผลงานอะไรก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นงานวรรณกรรม งานนาฎกรรม งานศิลปกรรม งานดนตรีกรรม งานโสตทัศนวัสดุ งานภาพยนตร์ งานสิ่งบันทึกเสียง งานแพร่เสียงแพร่ภาพ และงานอื่นใดในแผนกวรรณคดี คุณต้องนำผลงานนั้นไปจดแจ้งข้อมูลลิขสิทธิ์ต่อกรมทรัพย์สินทางปัญญาไว้ และคุณจะได้รับหนังสือการจดแจ้งข้อมูลลิขสิทธิ์ที่ออกโดยกรมทรัพย์สินทางปัญญา เพื่อใช้เป็นหลักฐานเบื้องต้นก่อนนะครับ ซึ่งอย่างน้อยก็มีประโยชน์ 3 ข้อ ดังกล่าวข้างต้น หรือสามารถรับชมคลิปเพิ่มเติมได้ที่ คลิก>>https://bit.ly/3nd4zZf

 907 ผู้เข้าชมเว็บไซต์,  2 views today