ทำสัญญาบันทึกข้อตกลงชดใช้ค่าเสียหายปลอม มาเรียกค่าเสียหายละเมิดเครื่องหมายการค้า

สรุปข้อเท็จจริงสำคัญของคำพิพากษาฎีกาที่ 3823/2563 ได้ดังนี้

1.จำเลยและพวกร่วมกันทำสัญญาบันทึกข้อตกลงชดใช้ค่าเสียหายปลอม โดยใช้หัวกระดาษและตราสัญลักษณ์ของบริษัทเจ้าของลิขสิทธิ์โดยไม่ได้รับอนุญาต

2.จำเลยและพวกนำสัญญาปลอมดังกล่าวไปแสดงต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจ เพื่ออ้างว่าได้รับมอบอำนาจจากบริษัทเจ้าของลิขสิทธิ์และมีอำนาจเรียกค่าเสียหายจากผู้เสียหาย

3.จำเลยและพวกแจ้งข้อความเท็จต่อเจ้าพนักงานตำรวจ เพื่อใช้เป็นหลักฐานในการตรวจค้นผู้เสียหาย

4.จำเลยและพวกนำสัญญาปลอมกลับมาบันทึกในรายงานประจำวันของเจ้าหน้าที่ โดยระบุข้อความเท็จว่าผู้เสียหายยินยอมชดใช้ค่าเสียหาย

5.การกระทำของจำเลยและพวกเป็นการปลอมเอกสารสิทธิ ใช้เอกสารปลอม และแจ้งข้อความเท็จต่อเจ้าพนักงาน ซึ่งเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท

คำพิพากษาฎีกาที่ 3823/2563

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91, 137, 264, 265, 267, 268, 309, 310, 337 ให้จำเลยคืนหรือชดใช้เงิน 35,000 บาท แก่ผู้เสียหาย และนับโทษจำคุกจำเลยในคดีนี้ต่อจากโทษจำคุกในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 1091/2560 ของศาลชั้นต้น

จำเลยให้การปฏิเสธ แต่เมื่อสืบพยานโจทก์เสร็จแล้ว จำเลยถอนคำให้การเดิมและให้การใหม่เป็นรับสารภาพในข้อหาร่วมกันข่มขืนใจผู้อื่น ร่วมกันหน่วงเหนี่ยวกักขัง และร่วมกันกรรโชกทรัพย์ ส่วนข้อหาอื่นนอกจากนี้ให้การปฏิเสธ และรับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อ

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 137 (ที่ถูก (เดิม)), 267 (ที่ถูก (เดิม)), 309 วรรคสอง (ที่ถูก (เดิม)), 310 (ที่ถูก วรรคแรก (เดิม)), 337 (ที่ถูก วรรคแรก (เดิม)) ประกอบมาตรา 83 การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกันให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ความผิดฐานร่วมกันแจ้งข้อความอันเป็นเท็จ และความผิดฐานร่วมกันแจ้งให้เจ้าพนักงานผู้กระทำการตามหน้าที่จดข้อความอันเป็นเท็จ เป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานร่วมกันแจ้งให้เจ้าพนักงานผู้กระทำการตามหน้าที่จดข้อความอันเป็นเท็จ ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 1 ปี ความผิดฐานร่วมกันข่มขืนใจผู้อื่นโดยร่วมกระทำความผิดด้วยกันตั้งแต่ห้าคนขึ้นไป ฐานร่วมกันหน่วงเหนี่ยวกักขัง และฐานร่วมกันกรรโชกทรัพย์ เป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานร่วมกันกรรโชกทรัพย์ ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 3 ปี จำเลยให้การรับสารภาพข้อหาร่วมกันข่มขืนใจผู้อื่น โดยร่วมกระทำความผิดด้วยกันตั้งแต่ห้าคนขึ้นไป ร่วมกันหน่วงเหนี่ยวกักขัง และร่วมกันกรรโชกทรัพย์ ภายหลังสืบพยานโจทก์เสร็จแล้ว เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสาม ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 เป็นจำคุก 2 ปี รวม 2 กระทง คงจำคุก 3 ปี ให้จำเลยคืนหรือชดใช้เงินจำนวน 35,000 บาท แก่ผู้เสียหาย นับโทษจำคุกของจำเลยในคดีนี้ต่อจากโทษจำคุกของจำเลยในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 1091/2560 หมายเลขแดงที่ 1203/2561 ของศาลชั้นต้น ข้อหาอื่นนอกจากนี้ให้ยก

โจทก์อุทธรณ์โดยอธิบดีอัยการสำนักงานคดีศาลสูงภาค 2 ซึ่งอัยการสูงสุดได้มอบหมาย รับรองให้อุทธรณ์ในความผิดฐานร่วมกันแจ้งข้อความอันเป็นเท็จ และร่วมกันแจ้งให้เจ้าพนักงานผู้กระทำการตามหน้าที่จดข้อความอันเป็นเท็จในปัญหาข้อเท็จจริง

จำเลยอุทธรณ์ขอให้ลงโทษสถานเบาและรอการลงโทษ

ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาแก้เป็นว่า สำหรับความผิดฐานร่วมกันแจ้งข้อความอันเป็นเท็จ และฐานร่วมกันแจ้งให้เจ้าพนักงานผู้กระทำการตามหน้าที่จดข้อความอันเป็นเท็จ ตามฟ้องข้อ 1.1 และ 1.5 เป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท และจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 265 (เดิม), 268 วรรคแรก ประกอบมาตรา 265 (เดิม) จำเลยเป็นผู้ปลอมเอกสารสิทธิและใช้เอกสารสิทธิปลอม จึงให้ลงโทษฐานใช้เอกสารสิทธิปลอมกระทงเดียวตามมาตรา 268 วรรคสอง จำคุก 2 ปี เมื่อรวมกับโทษจำคุก 2 ปี ฐานกรรโชกทรัพย์ และโทษจำคุก 1 ปี ฐานร่วมกันแจ้งให้เจ้าพนักงานผู้กระทำการตามหน้าที่จดข้อความอันเป็นเท็จ ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นแล้ว เป็นจำคุก 5 ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

จำเลยฎีกา โดยศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับฎีกาเฉพาะความผิดฐานร่วมกันปลอมเอกสารสิทธิและใช้เอกสารสิทธิปลอมตามฟ้องข้อ 1.3 และ 1.5

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้แย้งกันในชั้นนี้รับฟังเป็นยุติว่า บริษัท ด. เป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าตราสโมสรฟุตบอลทีมลิเวอร์พูล ซึ่งนำมาใช้กับชุดกีฬา ในการดูแล ป้องกันและปราบรามการลอกเลียนเครื่องหมายการค้าดังกล่าวในประเทศไทย ขณะเกิดเหตุบริษัท ด. มอบอำนาจให้บริษัท ฮ.โดยนาย ม. นางสาว ช.นางสาว ว. เป็นผู้มีอำนาจดำเนินการ ในวันเวลาเกิดเหตุตามฟ้อง พันตำรวจโท น. เจ้าพนักงานตำรวจสถานีตำรวจภูธรสระบัว ร่วมกับพวกตั้งด่านตรวจบนถนนหมายเลข 359 บริเวณหมู่ที่ 7 ตำบลลาดตะเคียน อำเภอกบินทร์บุรี จังหวัดปราจีนบุรี ต่อมามีนาย ส. กับพวกอีก 4 คน ได้แก่ จำเลย นาย ฉ. จ่าสิบเอกหรือนาย ค.หรือ ก. และนาย อ. นำหนังสือมอบอำนาจพร้อมสำเนารายงานประจำวันรับแจ้งเป็นหลักฐาน ซึ่งนาย ส.กับพวกดังกล่าวร่วมกันแจ้งข้อความอันเป็นเท็จต่อพันตำรวจตรี น.พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรสระบัวว่าเป็นผู้รับมอบอำนาจช่วงจากนาย อ.ซึ่งรับมอบอำนาจต่อมาจากนาย ค.ผู้รับมอบอำนาจของบริษัท ด. เพื่อดำเนินคดีอาญาแก่ผู้ละเมิดสิทธิในเครื่องหมายการค้าสโมรสรฟุตบอลทีมลิเวอร์พูลมาแสดงต่อพันตำรวจโท น. เพื่อขอเข้าร่วมในการตั้งด่านตรวจสินค้าที่ละเมิดเครื่องหมายการค้าดังกล่าว และตั้งจุดตรวจอยู่ห่างจากด่านของเจ้าพนักงานตำรวจประมาณ 50 ถึง 60 เมตร ครั้นเวลา 16.30 นาฬิกา นาย อ. ผู้เสียหาย กับนาง ส.ภริยา และนาย ก.บุตรชาย ขับรถกระบะกลับจากซื้อสินค้าเบ็ดเตล็ด และชุดกีฬามีตราเลียนแบบเครื่องหมายการค้าสโมสรฟุตบอลทีมลิเวอร์พูลอันเป็นสินค้าละเมิดสิทธิในเครื่องหมายการค้าจดทะเบียนของบริษัท ด.รวม 10 ชุด ที่ตลาดโรงเกลือ อำเภออรัญประเทศ มาถึงด่านตรวจที่เกิดเหตุ ได้ถูกเจ้าพนักงานตำรวจเรียกให้จอดรถ จำเลยกับพวกอีกคนหนึ่งเดินเข้ามาตรวจดูที่กระบะท้ายรถ เห็นชุดกีฬาดังกล่าวจึงเรียกให้ผู้เสียหายเลื่อนรถไปจอดที่จุดตรวจค้นของจำเลยกับพวก นาย ส.แสดงเอกสารยืนยันว่าตนเองเป็นผู้รับมอบอำนาจของบริษัท ด.ข่มขู่ผู้เสียหายและนาย ก.ว่าหากไม่ยอมชำระเงิน 50,000 บาท จะดำเนินคดีในข้อหาละเมิดเครื่องหมายการค้าของบริษัทดังกล่าว นาย ก.ต่อรองลงเหลือ 35,000 บาท จากนั้นนาย ก.นั่งรถไปกับจำเลยเพื่อเบิกถอนเงินจากตู้ฝากถอนเงินอัตโนมัติแล้วมอบให้จำเลยกับพวก จากนั้นจึงมีการทำสัญญาบันทึกข้อตกลงชดใช้ค่าเสียหาย แล้วนาย ส.กับพวกร่วมกันแจ้งข้อความอันเป็นเท็จต่อพันตำรวจตรี น.เพื่อบันทึกไว้เป็นหลักฐานถึงเรื่องที่นาย ส.เป็นผู้รับมอบอำนาจจากบริษัทเจ้าของเครื่องหมายการค้าได้เจรจาตกลงยอมรับค่าเสียหายจำนวน 35,000 บาท จากผู้เสียหายอันเป็นการยอมความกัน สำหรับความผิดฐานร่วมกันแจ้งข้อความอันเป็นเท็จและความผิดฐานร่วมกันแจ้งให้เจ้าพนักงานผู้กระทำการตามหน้าที่จดข้อความอันเป็นเท็จ ตามฟ้องข้อ 1.1 และ 1.5 กับความผิดฐานร่วมกันข่มขืนใจผู้อื่น โดยร่วมกระทำความผิดด้วยกันตั้งแต่ห้าคนขึ้นไป ฐานร่วมกันหน่วงเหนี่ยวกักขัง และฐานร่วมกันกรรโชกทรัพย์ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับฎีกา คดีจึงยุติไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2

คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า จำเลยกระทำความผิดฐานร่วมกันปลอมเอกสารสิทธิและใช้เอกสารสิทธิปลอมหรือไม่ เห็นว่า สัญญาบันทึกข้อตกลงชดใช้ค่าเสียหาย มีนาย ส.และผู้เสียหายร่วมลงลายมือชื่อของตนเพื่อใช้เป็นหลักฐานยืนยันว่า ผู้เสียหายยินยอมชำระเงินให้แก่นาย ส.ซึ่งเป็นตัวแทนหรือผู้รับมอบอำนาจช่วงของบริษัท ด.จำนวน 35,000 บาท เนื่องจากละเมิดสิทธิในเครื่องหมายการค้าตราสโมสรฟุตบอลทีมลิเวอร์พูลด้วยการมีชุดกีฬาที่เลียนแบบเครื่องหมายการค้าดังกล่าวไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย โดยเอกสารดังกล่าวมีหัวกระดาษและตราสัญลักษณ์ของบริษัท ด.เจ้าของลิขสิทธิ์และเครื่องหมายการค้า ทำให้บุคคลทั่วไปเห็นแล้วเชื่อว่าบริษัทดังกล่าวทำขึ้น แม้ความจริงบริษัทดังกล่าวไม่ได้ทำบันทึกข้อตกลงนั้นกับผู้เสียหาย แต่การที่พวกของจำเลยซึ่งไม่ได้รับมอบอำนาจจากเจ้าของลิขสิทธิ์และเครื่องหมายการค้าที่แท้จริง กลับทำสัญญาบันทึกข้อตกลงชดใช้ค่าเสียหายกับผู้เสียหาย เพื่อให้ผู้เสียหายหลงเชื่อว่าเป็นเอกสารสิทธิที่แท้จริงแล้วนำไปใช้อ้างต่อพันตำรวจตรี น.เพื่อแสดงให้เห็นว่าได้ยอมความโดยชอบ ทำให้คดีในส่วนอาญาระงับโดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน แม้จะมิใช่เอกสารที่แท้จริงของบริษัทดังกล่าวก็ตาม ก็เป็นการทำปลอมเอกสารสิทธิขึ้นทั้งฉบับและใช้เอกสารสิทธิปลอม อันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 264 มาตรา 265 และมาตรา 268 ถึงแม้จะไม่ได้ความว่าจำเลยเป็นผู้แจ้งข้อความอันเป็นเท็จลงในรายงานประจำวันรับแจ้งเป็นหลักฐาน และทำสัญญาบันทึกข้อตกลงชดใช้ค่าเสียหายแล้วนำไปแจ้งให้เจ้าพนักงานลงบันทึกในรายงานประจำวันรับแจ้งเป็นหลักฐานก็ตาม แต่ข้อเท็จจริงจากทางนำสืบของโจทก์ได้ความว่า จำเลยกับพวกร่วมกันตรวจค้นสินค้าละเมิดสิทธิในเครื่องหมายการค้า เมื่อพบว่าผู้เสียหายมีสินค้าละเมิดสิทธิในเครื่องหมายการค้า จำเลยกับพวกร่วมกันเรียกเงิน 50,000 บาท จากผู้เสียหาย เมื่อนาย ก.บุตรผู้เสียหายต่อรองกับจำเลยเพื่อขอลดจำนวนเงินค่าเสียหาย จำเลยยอมลดเงินเหลือ 35,000 บาท จากนั้นจำเลยกับพวกขับรถพานาย ก.ไปถอนเงินจากตู้ฝากถอนเงินอัตโนมัติ แล้วพานาย ก.ไปที่สถานีตำรวจ และจำเลยเป็นผู้ขอเงิน 35,000 บาท จากนาย ก.ก่อนลงจากรถ แล้วพานาย ก.ไปพบผู้เสียหายที่ร้านค้าข้างสถานีตำรวจ จากนั้นกลุ่มของจำเลยจึงนำเอกสาร มาให้ผู้เสียหายลงลายมือชื่อ พฤติการณ์ของจำเลยดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าร่วมรู้เห็นเป็นใจกับพวกของจำเลยกระทำความผิดมาตั้งแต่แรก ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า จำเลยร่วมกับพวกกระทำความผิดฐานปลอมเอกสารสิทธิและใช้เอกสารสิทธิปลอม ตามฟ้องข้อ 1.3 และ 1.4 การที่จำเลยกับพวกร่วมกันแจ้งข้อความอันเป็นเท็จต่อเจ้าพนักงานตำรวจเพื่อนำไปใช้เป็นหลักฐานในการตรวจค้นผู้เสียหาย แล้วนำสัญญาบันทึกข้อตกลงชดใช้ค่าเสียหายกลับมาลงบันทึกประจำวันโดยแจ้งให้เจ้าพนักงานผู้กระทำการตามหน้าที่จดข้อความอันเป็นเท็จลงในบันทึกรายงานประจำวันรับแจ้งเป็นหลักฐานอันเป็นเอกสารราชการเพื่อใช้เป็นหลักฐานว่า นาย ส.พวกของจำเลยเป็นผู้รับมอบอำนาจช่วงมาเป็นผู้เสียหายและนาย อ.เป็นผู้ละเมิดสินค้าลิขสิทธิ์ โดยผู้รับมอบอำนาจช่วงตรวจพบสินค้าละเมิดสิทธิอยู่ในความครอบครองของนาย อ. แต่ตกลงค่าเสียหายกันเองโดยผู้ละเมิดยินยอมชดใช้ค่าเสียหายเป็นเงิน 35,000 บาท และทุกฝ่ายจะไม่เอาความกันภายหลังทั้งทางแพ่งและทางอาญา แม้จะกระทำต่างเวลากันแต่เป็นการกระทำโดยมีเจตนาเดียวกันเพื่อให้ผู้อื่นหลงเชื่อว่าพวกของจำเลยได้รับมอบอำนาจมาและมีอำนาจกระทำการแทนเจ้าของลิขสิทธิ์เครื่องหมายการค้าในการเรียกรับเงินค่าเสียหายและตกลงยอมความกับผู้เสียหาย การกระทำของจำเลยกับพวกจึงเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบทตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยบางส่วน ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น

สำหรับฎีกาของจำเลยที่ขอให้ลงโทษสถานเบาและรอการลงโทษนั้น เห็นว่า ความผิดที่ศาลชั้นต้นลงโทษจำเลย ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืนตามศาลชั้นต้น และโทษจำคุกที่ลงแก่จำเลยในแต่ละกระทงไม่เกินห้าปี จึงต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 วรรคแรก จำเลยฎีกาขอให้ลงโทษสถานเบาและรอการลงโทษ เป็นการโต้แย้งดุลพินิจการลงโทษของศาลอุทธรณ์ภาค 2 อันเป็นปัญหาข้อเท็จจริง ต้องห้ามมิให้ฎีกาตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าว ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้

พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดฐานปลอมเอกสารสิทธิและใช้เอกสารสิทธิปลอม ตามฟ้องข้อ 1.3 และ 1.4 ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 265 (เดิม), 268 วรรคแรก ประกอบมาตรา 265 (เดิม) จำเลยเป็นผู้ปลอมเอกสารสิทธิและใช้เอกสารสิทธิปลอม จึงให้ลงโทษฐานใช้เอกสารสิทธิปลอมเพียงกระทงเดียว ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 268 วรรคสอง ความผิดดังกล่าวกับความผิดฐานร่วมกันแจ้งข้อความอันเป็นเท็จ และฐานร่วมกันแจ้งให้เจ้าพนักงานผู้กระทำการตามหน้าที่จดข้อความอันเป็นเท็จตามฟ้องข้อ 1.1 และ 1.5 เป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานใช้เอกสารสิทธิปลอม ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 2 ปี เมื่อรวมกับโทษจำคุก 2 ปี ฐานกรรโชกทรัพย์ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นแล้ว เป็นจำคุก 4 ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2

  • กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

 

 23,732 ผู้เข้าชมเว็บไซต์,  471 views today