นำชื่อ นามสกุลของตัวเอง ไปจดเครื่องหมายการค้าได้

สรุปข้อเท็จจริงสำคัญของคำพิพากษาฎีกาที่ 2652/2566 ได้ดังนี้

1.มาตรา 7 วรรคสอง (1) ของ พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534 (เดิม) บัญญัติว่าเครื่องหมายการค้าที่เป็น “ชื่อตัว ชื่อสกุลของบุคคลธรรมดา” หรือ “ชื่อในทางการค้าที่แสดงโดยลักษณะพิเศษ” ถือว่ามีลักษณะบ่งเฉพาะ

2.คำว่า “ที่แสดงโดยลักษณะพิเศษ” เป็นคำขยายเฉพาะ “ชื่อในทางการค้า” เท่านั้น ไม่ได้รวมถึง “ชื่อตัว ชื่อสกุลของบุคคลธรรมดา”

3.ในคดีนี้ เครื่องหมายการค้าที่โจทก์ขอจดทะเบียนเป็น “ชื่อตัวและชื่อสกุลของบุคคลธรรมดา” และไม่ได้เล็งถึงลักษณะหรือคุณสมบัติของสินค้าโดยตรง

4.เครื่องหมายดังกล่าวจึงถือว่ามีลักษณะบ่งเฉพาะ โดยไม่จำเป็นต้องแสดงโดยลักษณะพิเศษ

5.เครื่องหมายการค้าของโจทก์จึงมีลักษณะบ่งเฉพาะอันพึงรับจดทะเบียนได้ตามกฎหมาย

คำพิพากษาฎีกาที่ 2652/2566

โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนคำสั่งของนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้า และให้นายทะเบียนเครื่องหมายการค้าดำเนินการเกี่ยวกับคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าเลขที่ 797628 ของโจทก์ ต่อไป

จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง

ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิจารณาแล้วพิพากษาให้เพิกถอนคำสั่งของนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าตามหนังสือสำนักเครื่องหมายการค้า กรมทรัพย์สินทางปัญญาที่ พณ 0704/527 และ พณ 0704/13531 และคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าที่ 713/2562 ซึ่งปฏิเสธไม่รับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตามคำขอเลขที่ 797628 กับให้นายทะเบียนเครื่องหมายการค้าดำเนินการเกี่ยวกับคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ดังกล่าวต่อไปตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534 ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษพิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ

จำเลยฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามที่จำเลยได้รับอนุญาตให้ฎีกาว่า เครื่องหมายการค้า PIERRE CARDIN ตามคำขอของโจทก์เป็นเครื่องหมายการค้าที่มีลักษณะบ่งเฉพาะอันพึงรับจดทะเบียนได้หรือไม่ เห็นว่า มาตรา 7 วรรคสอง (1) (เดิม) ของพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534 บัญญัติว่า “เครื่องหมายการค้าที่มีหรือประกอบด้วยลักษณะอย่างหนึ่งอย่างใดอันเป็นสาระสำคัญดังต่อไปนี้ ให้ถือว่ามีลักษณะบ่งเฉพาะ (1) ชื่อตัว ชื่อสกุลของบุคคลธรรมดาที่ไม่เป็นชื่อสกุลตามความหมายอันเข้าใจกันโดยธรรมดา ชื่อเต็มของนิติบุคคลตามกฎหมายว่าด้วยการนั้น หรือชื่อในทางการค้าที่แสดงโดยลักษณะพิเศษและไม่เล็งถึงลักษณะหรือคุณสมบัติของสินค้าโดยตรง…” จากบทบัญญัติดังกล่าว ข้อความว่า “ที่แสดงโดยลักษณะพิเศษ” เป็นคำขยายของคำว่า “ชื่อในทางการค้า” เท่านั้น มิได้รวมไปถึงชื่อตัว ชื่อสกุลของบุคคลธรรมดาที่ไม่เป็นชื่อสกุลตามความหมายอันเข้าใจกันโดยธรรมดา ข้อเท็จจริงในคดีนี้ฟังได้ว่า เครื่องหมายการค้าตามคำขอของโจทก์เป็นชื่อตัวและชื่อสกุลของบุคคลธรรมดาที่ไม่เป็นชื่อสกุลตามความหมายอันเข้าใจกันโดยธรรมดา ทั้งคำดังกล่าวก็มิได้เล็งถึงลักษณะหรือคุณสมบัติของสินค้าตามที่โจทก์ขอจดทะเบียนโดยตรง ย่อมมีลักษณะที่ทำให้ประชาชนหรือผู้ใช้สินค้าทราบและเข้าใจได้ว่าสินค้าที่ใช้เครื่องหมายการค้านั้นแตกต่างไปจากสินค้าอื่น ถือว่ามีลักษณะบ่งเฉพาะ โดยไม่จำเป็นต้องแสดงโดยลักษณะพิเศษแต่อย่างใด เครื่องหมายการค้าตามคำขอของโจทก์จึงมีลักษณะบ่งเฉพาะอันพึงรับจดทะเบียนได้ตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534 มาตรา 7 วรรคสอง (1) (เดิม) กรณีไม่จำต้องวินิจฉัยปัญหาตามฎีกาของจำเลยในประเด็นอื่นอีกเพราะไม่ทำให้ผลของคดีเปลี่ยนแปลง คำพิพากษาของศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษชอบแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น

พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ.

 33,469 ผู้เข้าชมเว็บไซต์,  2 views today