สิ่งประดิษฐ์ที่มีขั้นตอนที่ง่ายไป ไม่ถือว่ามีขั้นตอนการประดิษฐ์สูงขึ้น จดสิทธิบัตรไม่ได้

สรุปข้อเท็จจริงสำคัญของคำพิพากษาฎีกาที่ 18329/2557 ได้ดังนี้

บริษัท ท.(โจทก์) ฟ้องขอเพิกถอนสิทธิบัตรเลขที่ 18985 ของบริษัท อ. (จำเลยที่ 1) ซึ่งเป็นสิทธิบัตรกรรมวิธีการกระตุ้นให้สร้างสารกฤษณาโดยการสร้างรอยแผลบนต้นกฤษณา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า กรรมวิธีตามสิทธิบัตรเลขที่ 18985 เป็นกรรมวิธีที่เป็นประจักษ์โดยง่ายแก่บุคคลที่มีความชำนาญสำหรับการคิดค้นกรรมวิธีในการสร้างสารกฤษณา จึงถือไม่ได้ว่าเป็นกรรมวิธีที่มีขั้นการประดิษฐ์สูงขึ้นตามมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติสิทธิบัตร พ.ศ. 2522 การออกสิทธิบัตรดังกล่าวจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย
ศาลฎีกาจึงพิพากษายืนตามศาลชั้นต้นที่พิพากษาเพิกถอนสิทธิบัตรเลขที่ 18985

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้เพิกถอนคำสั่งของจำเลยที่ 2 เกี่ยวกับการเสนอให้ออกสิทธิบัตรเลขที่ 18985 เพิกถอนคำสั่งของจำเลยที่ 3 ที่ให้รับจดทะเบียนการประดิษฐ์และออกสิทธิบัตรเลขที่ 18985 เพิกถอนสิทธิบัตรเลขที่ 18985 ของจำเลยที่ 1 และห้ามจำเลยที่ 1 ใช้หรืออ้างอิงสิทธิใด ๆ จากสิทธิบัตรเลขที่ 18985

จำเลยที่ 1 ให้การและแก้ไขคำให้การขอให้ยกฟ้อง

จำเลยที่ 2 และที่ 3 ให้การขอให้ยกฟ้อง

ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาให้เพิกถอนสิทธิบัตรเลขที่ 18985 ของจำเลยที่ 1 คำขออื่นให้ยก ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ

จำเลยทั้งสามอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้เถียงกันรับฟังเป็นยุติในชั้นนี้ได้ว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด ประกอบกิจการปลูกป่าจัดการโดยการจัดซื้อที่ดินและปลูกต้นไม้ต่าง ๆ รวมทั้งต้นกฤษณาบนที่ดิน รวมทั้งจัดการบริหารเพื่อประโยชน์ของผู้ลงทุนซึ่งเป็นลูกค้าของโจทก์และบริษัทในเครือ โจทก์และบริษัทในเครือได้รับอนุญาตให้ใช้สิทธิในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับวิธีการสำหรับการผลิตอะการ์วูด (Agarwood) หรือสารกฤษณา รวมทั้งวิธีการทำให้เกิดรอยแผลที่ทำขึ้นในไซเลมในต้น Aquilaria หรือต้น Gonystylus และการจัดเตรียมวิถีทางสำหรับการเติมอากาศสู่รอยแผล อันป็นกรรมวิธีตามสิทธิบัตรที่ประดิษฐ์ขึ้นโดย Dr. Robert A. Blanchette และ Mr. Henry Heuveling Van Beek และได้รับสิทธิบัตรในนามของ รีเจนท์ส ออฟ ดิ ยูนิเวอร์ซิตี้ ออฟ มินนิสโซต้า (Regents of the University of Minnesota) แห่งประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2548 รีเจนท์ส ออฟ ดิ ยูนิเวอร์ซิตี้ ออฟ มินนิสโซต้า ได้นำกรรมวิธีดังกล่าวมายื่นคำขอรับสิทธิบัตรในประเทศไทย เป็นคำขอรับสิทธิบัตรเลขที่ 068988 ซึ่งอยู่ในชั้นของการตรวจสอบการประดิษฐ์ จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัดและเป็นผู้ทรงสิทธิบัตรการประดิษฐ์ชื่อ “กรรมวิธีการกระตุ้นให้สร้างสาร Aquilaria resin โดยการสร้างรอยแผลบนต้นกฤษณา (Aquilaria)” ตามสิทธิบัตรเลขที่ 18985 โดยรับโอนสิทธิบัตรมาจากนาย พ.ส่วนจำเลยที่ 2 เป็นส่วนราชการสังกัดกระทรวงพาณิชย์ มีจำเลยที่ 3 เป็นหัวหน้าส่วนราชการระดับกรม มีอำนาจหน้าที่ในการควบคุมดูแลการออกสิทธิบัตร ข้อถือสิทธิตามสิทธิบัตรเลขที่ 18985 มี 6 ข้อ ได้แก่ (1) กรรมวิธีการกระตุ้นให้สร้างสาร Aquilaria resin โดยการสร้างรอยแผลบนต้นกฤษณาที่ประกอบด้วยขั้นตอนของการคัดเลือกต้นกฤษณาที่มีอายุระหว่าง 5 ถึง 9 ปี ที่มีขนาดลำต้นที่มีเส้นผ่าศูนย์กลางระหว่าง 35 ถึง 55 เซนติเมตร การทำให้เกิดรอยแผลบนลำต้น โดยการเอาเปลือกนอกและเนื้อเยื่อออก มีลักษณะเฉพาะคือ รอยแผลดังกล่าวเป็นรอยแผลรูปสี่เหลี่ยมอย่างน้อยหนึ่งแห่งอยู่เหนือระดับพื้นดินระหว่าง 50 ถึง 70 เซนติเมตร และมีการเจาะรูผ่านเข้าไปถึงส่วนที่เป็นแก่นไม้อยู่ภายในกรอบรอยแผลรูปสี่เหลี่ยมดังกล่าวอย่างน้อยสองรู ที่ซึ่งการทำให้เกิดรอยแผลและการเจาะรูดังกล่าวต้องไม่มีผลกระทบกับการเจริญเติบโตของต้นกฤษณา (2) กรรมวิธีตามข้อ (1) ที่ซึ่งรอยแผลรูปสี่เหลี่ยมดังกล่าวจะวางแนวเป็นระเบียบตามแนวดิ่งของต้นกฤษณาอย่างน้อยหนึ่งแนว (3) กรรมวิธีตามข้อ (2) ที่ซึ่งแนวของรอยแผลรูปสี่เหลี่ยมดังกล่าวแต่ละแนวที่อยู่ด้านหน้าและด้านข้างของลำต้น ตรงที่บริเวณที่ทำให้เกิดรอยแผลและวางแนวเหลื่อมกันเพื่อว่าจะไม่มีผลกระทบกับการเจริญเติบโตของต้นกฤษณา (4) กรรมวิธีตามข้อ (1) ซึ่งความสูงที่ดีที่สุดของรอยแผลเหนือระดับพื้นดินดังกล่าวเป็น 60 เซนติเมตร (5) กรรมวิธีตามข้อ (1) ถึงข้อ (4) ข้อใดข้อหนึ่งที่ซึ่งรอยแผลรูปสี่เหลี่ยมดังกล่าวมีขนาดความกว้างระหว่าง 10 ถึง 15 เซนติเมตร ความยาวระหว่าง 20 ถึง 75 เซนติเมตร และความลึกระหว่าง 1 ถึง 3 เซนติเมตร ตามขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางของลำต้น (6) กรรมวิธีตามข้อใดข้อหนึ่งข้างต้นยังประกอบด้วยขั้นตอนของการนำสารกระตุ้นเข้าสู่ลำต้นผ่านทางรูเจาะดังกล่าว

คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสามว่า กรรมวิธีการกระตุ้นให้สร้างสาร Aquilaria resin โดยการสร้างรอยแผลบนต้นกฤษณาตามสิทธิบัตรเลขที่ 18985 เป็นสิทธิบัตรที่ออกให้โดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เห็นว่า สิทธิบัตรพิพาทเป็นกรรมวิธีการกระตุ้นให้สร้างสาร Aquilaria resin โดยสร้างรอยแผลบนต้นกฤษณาเพื่อให้เกิดการสร้างสารกฤษณาของต้นกฤษณา ซึ่งเป็นการกระทำเพื่อกระตุ้นเอาผลิตภัณฑ์ซึ่งเป็นสารที่มีอยู่แล้วในธรรมชาติของต้นไม้มาใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ โดยเห็นได้จากสาระสำคัญตามข้อถือสิทธิของสิทธิบัตรพิพาทที่มุ่งเน้นวิธีการควบคุมปริมาณการหลั่งของสารกฤษณาได้มากกว่าธรรมชาติจากกรรมวิธีการสร้างรอยแผลดังที่ระบุไว้ในข้อถือสิทธิ แม้พระราชบัญญัติสิทธิบัตร พ.ศ.2522 ไม่ได้กำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับชนิดและประเภทของกรรมวิธีการประดิษฐ์สิ่งที่เกี่ยวข้องกับสัตว์หรือพืชที่อาจออกสิทธิบัตรให้ได้ไว้เป็นการเฉพาะ คงกล่าวถึงการประดิษฐ์ที่ขอรับสิทธิบัตรได้ไว้ในมาตรา 5 ว่า การประดิษฐ์ที่ขอรับสิทธิบัตรได้ต้องประกอบด้วย 1) เป็นการประดิษฐ์ขึ้นใหม่ 2) เป็นการประดิษฐ์ที่มีขั้นการประดิษฐ์สูงขึ้น และ 3) เป็นการประดิษฐ์ที่สามารถประยุกต์ในทางอุตสาหกรรม โดยมาตรา 3 ระบุว่า การประดิษฐ์ หมายความว่า การคิดค้นหรือคิดทำขึ้น อันเป็นผลให้ได้มาซึ่งผลิตภัณฑ์หรือกรรมวิธีใดขึ้นใหม่ หรือการกระทำใด ๆ ที่ทำให้ดีขึ้นซึ่งผลิตภัณฑ์หรือกรรมวิธี การพิจารณาออกสิทธิบัตรกรรมวิธีที่คิดค้นขึ้นอันเป็นผลให้ได้มาซึ่งผลผลิตหรือผลิตภัณฑ์ที่ได้จากธรรมชาติอย่างเช่นสิทธิบัตรพิพาทในคดีนี้ต้องให้ความสำคัญกับเทคนิคพิเศษเฉพาะด้านของการประดิษฐ์ในแต่ละรายที่ทำให้เกิดผลผลิตดังกล่าวว่ากรรมวิธีนั้นเป็นที่ประจักษ์โดยง่ายแก่บุคคลที่มีความชำนาญในระดับสามัญสำหรับการคิดค้นกรรมวิธีเพื่อให้ได้มาซึ่งสารกฤษณาหรือไม่ โดยกรรมวิธีนั้นมิใช่เป็นเพียงกระบวนการที่ไม่มีเทคนิคพิเศษเพื่อให้ได้มาซึ่งสารกฤษณาดังกล่าว หากกรรมวิธีนั้นมิได้เกิดขึ้นจากการกระทำหรือการแทรกแซงของผู้ประดิษฐ์จนถึงขั้นที่ถือได้ว่าเป็นการคิดค้นหรือคิดทำขึ้นอันเป็นผลให้ได้มาซึ่งกรรมวิธีใหม่ตามมาตรา 3 แห่งพระราชบัญญัติสิทธิบัตร พ.ศ.2522 กรรมวิธีนั้นก็ไม่อาจเกิดขึ้นได้ สำหรับข้อถือสิทธิตามสิทธิบัตรเลขที่ 18985 ของนาย พ.เป็นกรรมวิธีการกระตุ้นให้สร้างสาร Aquilaria resin โดยการสร้างรอยแผลบนต้นกฤษณาที่ประกอบด้วยขั้นตอนของการคัดเลือกต้นกฤษณาที่มีอายุระหว่าง 5 ถึง 9 ปี ที่มีขนาดของลำต้นมีเส้นผ่าศูนย์กลางระหว่าง 35 ถึง 55 เซนติเมตร การทำให้เกิดรอยแผลบนลำต้น โดยเอาเปลือกนอกและเนื้อเยื่อออก มีลักษณะเฉพาะ คือ รอยแผลดังกล่าวเป็นรอยแผลรูปสี่เหลี่ยมอย่างน้อยหนึ่งแห่งอยู่เหนือระดับพื้นดินระหว่าง 50 ถึง 70 เซนติเมตร และมีการเจาะรูผ่านเข้าไปถึงส่วนที่เป็นแก่นไม้อยู่ภายในกรอบรอยแผลรูปสี่เหลี่ยมดังกล่าวอย่างน้อยสองรู ซึ่งรอยแผลรูปสี่เหลี่ยมดังกล่าวจะวางแนวเป็นระเบียบตามแนวดิ่งของต้นกฤษณาอย่างน้อยหนึ่งแนว โดยแต่ละแนวที่อยู่ด้านหน้าและด้านข้างของลำต้นจะวางแนวเหลื่อมกัน ซึ่งความสูงที่ดีที่สุดของแผลเหนือระดับพื้นดินเป็น 60 เซนติเมตร และรอยแผลรูปสี่เหลี่ยมมีความกว้างระหว่าง 10 ถึง 15 เซนติเมตร ความยาวระหว่าง 20 ถึง 75 เซนติเมตร และความลึก 1 ถึง 3 เซนติเมตร ตามขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางของลำต้น และยังประกอบด้วยขั้นตอนของการนำสารกระตุ้นเข้าสู่ลำต้นผ่านทางรูเจาะดังกล่าว เห็นได้ว่ารายละเอียดดังกล่าวล้วนเป็นขั้นตอนของวิธีการเพื่อจะกระตุ้นให้ต้นกฤษณาสร้างสาร Aquilaria resin วิธีการหนึ่ง แม้จะเป็นกระบวนการที่มีหลายขั้นตอนแตกต่างจากวิธีการได้มาซึ่งสารกฤษณาตามที่ปรากฏในภูมิปัญญาของชาวบ้าน โดยมีผู้เชี่ยวชาญด้านสรีระวิทยาของพืชซึ่งสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอกทางด้านสรีระกายวิภาคของไม้ยืนต้นเบิกความสนับสนุนว่า สารกฤษณาเป็นสิ่งที่มีอยู่แล้วในต้นกฤษณาและเกิดขึ้นได้เองหากมีการกระตุ้นให้ต้นกฤษณาสร้างสารนั้นอย่างถูกวิธี ไม่ว่าจะเป็นการกระตุ้นโดยการกระทำของมนุษย์ด้วยวิธีการต่าง ๆ ข้างต้น หรือการกระตุ้นที่เกิดขึ้นโดยเชื้อราที่มีอยู่แล้วตามธรรมชาติ ทำนองเดียวกับวิธีการกรีดยางบนลำต้นของยางพาราเพื่อให้ได้น้ำยางพารามากที่สุด กรรมวิธีการกระตุ้นทางกลนั้นมีลักษณะกรรมวิธีการกระตุ้นให้เกิดผลเช่นเดียวกันกับกรรมวิธีการกระตุ้นให้สร้างสารกฤษณาตามสิทธิบัตรเลขที่ 18985 ของนาย พ. จึงเชื่อว่าการคิดค้นกรรมวิธีการกระตุ้นให้สร้างสารดังกล่าวของนาย พ.น่าจะเกิดจากการเรียนรู้สิ่งที่เกิดขึ้นโดยธรรมชาติของต้นกฤษณาและพยายามค้นหาวิธีการเพื่อหาเอาประโยชน์จากต้นกฤษณาให้ได้ผลิตผลมากที่สุด โดยกระบวนการสร้างกรรมวิธีให้เกิดผลผลิตทางธรรมชาติด้วยวิธีการที่ใช้กันอยู่ตามปกติซึ่งมีลักษณะเช่นเดียวกับการให้สารกระตุ้นหรือให้ปุ๋ยเร่งดอกผลแก่พืชที่เพาะปลูก กรรมวิธีการกระตุ้นให้สร้างสารกฤษณาที่ปรากฏตามข้อถือสิทธิตามสิทธิบัตรเลขที่ 18985 ของนาย พ.จึงเป็นกรรมวิธีที่เป็นที่ประจักษ์โดยง่ายแก่บุคคลที่มีความชำนาญในระดับสามัญสำหรับการคิดค้นกรรมวิธีในการสร้างสารกฤษณาอันถือไม่ได้ว่าเป็นกรรมวิธีที่มีขั้นการประดิษฐ์สูงขึ้น การออกสิทธิบัตรเลขที่18985 ให้แก่นาย พ.ย่อมเป็นการออกสิทธิบัตรที่ไม่ชอบด้วยมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติสิทธิบัตร พ.ศ.2522 แม้จะได้ความจากนาย พ.ว่ากรรมวิธีการกระตุ้นดังกล่าวนำไปใช้ได้ในเชิงการค้าและประสบผลสำเร็จตามสัญญาร่วมลงทุนในต่างประเทศก็ตาม แต่เมื่อกรรมวิธีในข้อถือสิทธิตามสิทธิบัตรเลขที่ 18985 ไม่มีขั้นการประดิษฐ์สูงขึ้น จึงหาทำให้กรรมวิธีการกระตุ้นดังกล่าวตามสิทธิบัตรของนาย พ.กลับกลายเป็นกรรมวิธีการประดิษฐ์ที่อาจออกสิทธิบัตรให้ได้โดยชอบตามกฎหมายไม่ เมื่อวินิจฉัยเช่นนี้แล้ว อุทธรณ์ข้ออื่นของจำเลยทั้งสามก็ไม่จำต้องวินิจฉัย เพราะไม่ทำให้ผลแห่งคดีเปลี่ยนแปลงไป ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาเพิกถอนสิทธิบัตรเลขที่ 18985 ของจำเลยที่ 1 นั้น ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศเห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของจำเลยทั้งสามฟังไม่ขึ้น

พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ.

 33,554 ผู้เข้าชมเว็บไซต์,  2 views today