เจ้าของเครื่องหมายการค้ามีสิทธิใช้เครื่องหมายการค้าแต่เพียงผู้เดียว

สรุปข้อเท็จจริงสำคัญของคำพิพากษาฎีกาที่ 260/2566 ได้ดังนี้

1.สิทธิของเจ้าของเครื่องหมายการค้าที่จดทะเบียนแล้วคือสิทธิแต่เพียงผู้เดียวในการใช้เครื่องหมายนั้นกับสินค้าตามที่จดทะเบียนไว้

2.สิทธิดังกล่าวคุ้มครองมิให้ผู้อื่นนำเครื่องหมายของเจ้าของไปใช้โดยมิชอบ

3.ขอบเขตสิทธิของโจทก์จำกัดเฉพาะเครื่องหมาย “รูปพังงาเรือ” และคำว่า “HIKARI” สำหรับสินค้าจำพวกที่ 8 ตามที่จดทะเบียน

4.โจทก์ไม่มีสิทธิห้ามจำเลยที่ 11 ใช้คำว่า “HIKARI” กับสินค้าจำพวกที่ 7 ซึ่งแตกต่างจากที่โจทก์จดทะเบียน

5.โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องขอเพิกถอนคำขอจดทะเบียนของจำเลยที่ 11 เพราะเครื่องหมายไม่คล้ายคลึงกันจนทำให้สับสน

6.แม้จำเลยไม่ได้ยกประเด็นนี้ แต่ศาลมีอำนาจวินิจฉัยได้เองตามกฎหมาย

คำพิพากษาฎีกาที่ 260/2566

โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนมติที่ประชุมคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าในการประชุมครั้งที่ 7/2560 เฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตามคำขอเลขที่ 825715 ของจำเลยที่ 11 ให้เพิกถอนคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าที่ 147/2560 และขอให้เพิกถอนคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าเลขที่ 825715 ของจำเลยที่ 11

จำเลยที่ 1 ถึงที่ 10 ให้การขอให้ยกฟ้อง

จำเลยที่ 11 ให้การขอให้ยกฟ้อง

ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษพิพากษากลับ ให้เพิกถอนมติที่ประชุมคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าในการประชุมครั้งที่ 7/2560 เฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตามคำขอเลขที่ 825715 ของจำเลยที่ 11 และเพิกถอนคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าที่ 147/2560 และให้จำเลยที่ 11 ถอนคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าเลขที่ 825715 ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองชั้นศาลให้เป็นพับ

จำเลยที่ 1 ถึงที่ 10 และจำเลยที่ 11 ฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้แย้งกันในชั้นฎีการับฟังได้ว่า โจทก์เป็นเจ้าของและได้รับการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้ารูปพังงาเรือ และคำว่า HIKARI ทะเบียนเลขที่ ค21592 สำหรับใช้กับสินค้าจำพวกที่ 8 รายการสินค้า สว่านมือสำหรับเจาะเหล็ก กบไสไม้ สำหรับไสไม้ให้บางลง เครื่องขัดสำหรับขัดเหล็กให้ผิวเรียบ เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2554 จำเลยที่ 11 ยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าคำว่า HIKARI เพื่อใช้กับสินค้าจำพวกที่ 7 รายการสินค้า จักรเย็บผ้า มอเตอร์จักรเย็บผ้า โจทก์ยื่นคำคัดค้านการขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ 11 จำเลยที่ 11 ยื่นคำโต้แย้ง นายทะเบียนเครื่องหมายการค้าเห็นว่าเครื่องหมายการค้าคำว่า HIKARI ของจำเลยที่ 11 กับเครื่องหมายการค้ารูปพังงาเรือ และคำว่า HIKARI ของโจทก์ แม้จะมีรูปลักษณะการประดิษฐ์แตกต่างกันอยู่บ้าง และเป็นเครื่องหมายการค้าที่คล้ายกัน แต่ใช้กับสินค้าต่างจำพวกและรายการสินค้าไม่มีลักษณะอย่างเดียวกัน โอกาสที่สาธารณชนจะสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของของสินค้าหรือแหล่งกำเนิดของสินค้าย่อมไม่เกิดขึ้น ประกอบกับพยานหลักฐานของโจทก์ไม่เพียงพอรับฟังได้ว่า มีการใช้ จำหน่าย หรือโฆษณาสินค้าที่ใช้เครื่องหมายจนเป็นที่แพร่หลายทั่วไป จึงมีคำวินิจฉัยให้ยกคำคัดค้าน และดำเนินการรับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ 11 ต่อไป โจทก์อุทธรณ์คำวินิจฉัยของนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าต่อคณะกรรมการเครื่องหมายการค้า คณะกรรมการเครื่องหมายการค้ามีคำวินิจฉัยอุทธรณ์ยืนตามคำวินิจฉัยของนายทะเบียนเครื่องหมายการค้า ให้รับคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ 11 ตามคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าที่ 147/2560 จำเลยที่ 11 ไม่ได้เป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าคำว่า HIKARI แต่เป็นกรรมการบริษัท ก. ซึ่งเป็นตัวแทนนำเข้าและจำหน่ายสินค้าจักรเย็บผ้าและมอเตอร์จักรเย็บผ้าภายใต้เครื่องหมายการค้าคำว่า HIKARI ของบริษัท HIKARI ซึ่งตั้งอยู่ที่สาธารณรัฐประชาชนจีน

สำหรับปัญหาว่า เครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ 11 เหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์ จนอาจทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของของสินค้าหรือแหล่งกำเนิดของสินค้าหรือไม่นั้น ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษวินิจฉัยว่า เครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ 11 ไม่เหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์จนอาจทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของของสินค้าหรือแหล่งกำเนิดของสินค้า ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา จึงเป็นอันยุติ

คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 10 และจำเลยที่ 11 ว่า จำเลยที่ 11 มีสิทธิยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตามคำขอจดทะเบียนเลขที่ 825715 หรือไม่ ซึ่งศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศเห็นควรวินิจฉัยในเบื้องต้นเสียก่อนว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตามคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าเลขที่ 825715 หรือไม่ เห็นว่า สิทธิของเจ้าของเครื่องหมายการค้าที่ได้รับการจดทะเบียนในราชอาณาจักรได้รับความคุ้มครองตามมาตรา 44 แห่งพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534 โดยเป็นการให้สิทธิแก่เจ้าของเครื่องหมายการค้าที่ได้รับการจดทะเบียนแล้วแต่เพียงผู้เดียวในอันที่จะใช้เครื่องหมายการค้าดังกล่าวสำหรับจำพวกและรายการสินค้าตามที่ได้จดทะเบียนไว้เท่านั้น และเป็นการคุ้มครองสิทธิในลักษณะที่เป็นการหวงกันมิให้ผู้อื่นนำเครื่องหมายการค้าของเจ้าของเครื่องหมายการค้าไปใช้โดยมิชอบ ดังนั้น ขอบเขตแห่งสิทธิของโจทก์ในกรณีนี้จึงมีจำกัดเฉพาะเครื่องหมายการค้ารูปพังงาเรือ และคำว่า HIKARI ที่ใช้กับสินค้าจำพวกที่ 8 รายการสินค้า สว่านมือสำหรับเจาะเหล็ก กบไสไม้สำหรับไสไม้ให้บางลง เครื่องขัดสำหรับขัดเหล็กให้ผิวเรียบ ที่โจทก์ได้รับการจดทะเบียนเท่านั้น โจทก์ไม่มีสิทธิหวงกันมิให้จำเลยที่ 11 ใช้เครื่องหมายการค้าคำว่า HIKARI กับสินค้าจำพวกที่ 7 รายการสินค้า จักรเย็บผ้า มอเตอร์จักรเย็บผ้า ซึ่งเป็นการใช้กับสินค้าต่างจำพวกกันและรายการสินค้าไม่มีลักษณะอย่างเดียวกันกับจำพวกและรายการสินค้าที่โจทก์ได้จดทะเบียนไว้ เมื่อเครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ 11 ไม่คล้ายกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์ จนอาจทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของของสินค้าหรือแหล่งกำเนิดของสินค้าได้ การที่โจทก์อ้างว่าจำเลยที่ 11 ไม่มีสิทธิยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า จึงเป็นการกระทำที่อยู่นอกขอบเขตแห่งสิทธิของโจทก์ผู้เป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าซึ่งได้รับการจดทะเบียนไว้แล้วในราชอาณาจักรที่ได้รับความคุ้มครองตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534 มาตรา 44 โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องขอให้เพิกถอนคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าเลขที่ 825715 ของจำเลยที่ 11 ได้ ปัญหานี้แม้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 10 และจำเลยที่ 11 มิได้ยกขึ้นฎีกา แต่เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศมีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ. 2539 มาตรา 40 วรรคสอง ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 (5) ที่ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษพิพากษามานั้น ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศไม่เห็นพ้องด้วย กรณีจึงไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 10 และจำเลยที่ 11 อีกต่อไป เพราะไม่ทำให้ผลคดีเปลี่ยนแปลง

พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลให้เป็นพับ

  • กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

 

 26,379 ผู้เข้าชมเว็บไซต์,  2 views today