โจทก์ไม่บรรยายฟ้องว่าจำเลยละเมิดลิขสิทธิ์อย่างไร ศาลยกฟ้องเพราะบรรยายฟ้องไม่ครบองค์ประกอบความผิด

สรุปข้อเท็จจริงสำคัญของคำพิพากษาฎีกาที่  3427/2566 ได้ดังนี้

1.ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาฯ มาตรา 26 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5) โจทก์ต้องบรรยายฟ้องให้จำเลยเข้าใจว่าการกระทำของจำเลยเป็นความผิดอย่างไร

2.โจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยละเมิดลิขสิทธิ์บางส่วนของนวนิยาย 2 เล่มของโจทก์ด้วยการคัดลอกและดัดแปลงบทสนทนา บริบทตัวละคร และฉากสำคัญ แต่ไม่ระบุรายละเอียดว่าส่วนที่ถูกละเมิดนั้นอยู่ในตอนใด และถูกนำไปใช้ในส่วนใดของนวนิยายจำเลย

3.โจทก์ควรบรรยายฟ้องให้ชัดเจนว่าส่วนที่ถูกละเมิดนั้นอยู่ในตอนใด เล่มใด และจำเลยนำไปใช้อย่างไร เพื่อให้จำเลยเข้าใจและเทียบเคียงได้ว่าเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์จริงหรือไม่

4.การบรรยายเพียงใช้ข้อความตามกฎหมายโดยไม่ระบุรายละเอียดว่าเป็นการคัดลอก/ดัดแปลงอย่างไรนั้นทำให้จำเลยไม่เข้าใจ

5.การพิจารณาว่าฟ้องครบองค์ประกอบความผิดหรือไม่ต้องพิจารณาจากฟ้องเท่านั้น ไม่นำเอกสารท้ายฟ้องหรือข้อเท็จจริงจากการไต่สวนมูลฟ้องมาประกอบ

6.เมื่อโจทก์บรรยายฟ้องไม่ชัดเจนว่าละเมิดลิขสิทธิ์ในส่วนใด อย่างไร จึงถือเป็นการบรรยายฟ้องไม่ชอบตาม พ.ร.บ. และ ป.วิ.อ. ที่กล่าวมา

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3427/2566

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 มาตรา 4, 6, 8, 15, 27, 69, 76 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 และขอให้บังคับจำเลยชำระค่าเสียหาย 1,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้จำเลยระงับการเผยแพร่หรือจัดจำหน่ายนวนิยายเรื่อง “Thank you คุณคนดี” ทุกช่องทาง และห้ามดำเนินการใด ๆ ที่เป็นการแก้ไข ดัดแปลง เพื่อนำนวนิยายเรื่องดังกล่าวไปเผยแพร่หรือจัดจำหน่ายใหม่ ให้จำเลยทำหนังสือชี้แจงความจริงให้บุคคลทั่วไปทราบว่าจำเลยคัดลอกและดัดแปลงบทนวนิยายทั้งสองเรื่องของโจทก์ส่วนใดบ้างกับนำไปแต่งและเรียบเรียงในนวนิยายของจำเลยส่วนใดบ้าง โดยยินยอมให้โจทก์นำหนังสือดังกล่าวโพสต์ลงในเฟซบุ๊กและช่องทางที่โจทก์มีต่อนักอ่านของโจทก์เป็นระยะเวลา 30 วัน หากจำเลยไม่ดำเนินการให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา

ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางไต่สวนมูลฟ้องแล้ว พิพากษายกฟ้อง ไม่รับฟ้องคดีส่วนแพ่ง คืนค่าขึ้นศาลทั้งหมดแก่โจทก์

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษพิพากษายืน คืนค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์ทั้งหมดแก่โจทก์

โจทก์ฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษอนุญาตให้ฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า โจทก์บรรยายฟ้องคดีนี้ชอบด้วยกฎหมายแล้วหรือไม่ เห็นว่า ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ. 2539 มาตรา 26 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158 (5) นั้น โจทก์ต้องบรรยายฟ้องถึงการกระทำทั้งหลายที่อ้างว่าจำเลยได้กระทำความผิด รวมทั้งต้องเป็นข้อเท็จจริงที่จะทำให้จำเลยเข้าใจว่าการกระทำของจำเลยเป็นความผิดอย่างไร คดีนี้โจทก์บรรยายฟ้องในส่วนของการกระทำความผิดของจำเลยว่า “…จำเลยละเมิดลิขสิทธิ์ผลงานนวนิยายของโจทก์ดังกล่าวด้วยการคัดลอกและดัดแปลงบทสนทนาของตัวละคร บริบทของตัวละคร และบริบทของฉากในนวนิยายของโจทก์ที่เป็นฉากสำคัญหลาย ๆ ฉาก ในนวนิยายของโจทก์แต่ละเล่มแล้วนำไปเรียบเรียงไว้ในบทนวนิยายเรื่อง “Thank you คุณคนดี” ของจำเลย…” อันเป็นกรณีที่โจทก์กล่าวอ้างว่าจำเลยละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์บางส่วนที่อยู่ในนวนิยาย 2 เล่ม ของโจทก์ หาใช่เป็นการคัดลอกดัดแปลงนวนิยายทั้งฉบับทั้ง 2 เล่ม ที่การบรรยายฟ้องเช่นนี้อาจจะทำให้จำเลยพอเข้าใจได้ว่าการกระทำของจำเลยเป็นความผิดอย่างไร แต่เมื่อเป็นการคัดลอกดัดแปลงงานอันมีลิขสิทธิ์ของโจทก์เพียงบางส่วน โจทก์ย่อมจะต้องบรรยายฟ้องข้อเท็จจริงให้พอเข้าใจได้ว่าบทสนทนาของตัวละคร บริบทของตัวละคร และบริบทของฉากในนวนิยายของโจทก์ที่เป็นฉากสำคัญหลาย ๆ ฉากนั้น เป็นส่วนไหนในนวนิยายเล่มใดใน 2 เล่ม ของโจทก์ และจำเลยคัดลอกและดัดแปลงงานดังกล่าวอย่างไร รวมทั้งนำไปใช้อยู่ในส่วนไหนของนวนิยายของจำเลย อันจะทำให้จำเลยสามารถเทียบเคียงได้ว่า ข้อความที่โจทก์กล่าวหาว่าจำเลยละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์นั้นเป็นการคัดลอกดัดแปลงจริงหรือไม่ กรณีเช่นนี้หาใช่รายละเอียดที่ฟุ่มเฟือยเกินความจำเป็นหรือเป็นเรื่องที่โจทก์สามารถนำสืบได้ในภายหลังดังที่โจทก์ฎีกาไม่ อีกทั้งเป็นการพิจารณาถึงการแสดงออก (Expression) ไม่ใช่แนวคิด (Idea) ต่างจากที่โจทก์ฎีกาว่าการวินิจฉัยต้องพิจารณาเนื้อหาของงานทั้งหมดโดยรวมประกอบกัน มิใช่แยกพิจารณาออกมาเป็นส่วน ๆ เฉพาะที่มีการคัดลอกเท่านั้น อนึ่ง การบรรยายฟ้องที่เพียงใช้ข้อความตามกฎหมาย เช่น การทำซ้ำหรือดัดแปลง โดยไม่ปรากฏข้อเท็จจริงตามสมควรว่าเป็นการทำซ้ำหรือดัดแปลงอย่างไร ย่อมไม่อาจทำให้จำเลยสามารถเข้าใจฟ้องของโจทก์ได้ ประกอบกับปัญหานี้เป็นการพิจารณาเฉพาะในส่วนของการบรรยายฟ้องเรื่องการกระทำทั้งหลายที่อ้างว่าจำเลยได้กระทำความผิด จึงไม่เกี่ยวกับรายละเอียดเรื่องอื่น ๆ ส่วนการพิจารณาว่าฟ้องของโจทก์ครบองค์ประกอบความผิดหรือไม่นั้น ต้องพิจารณาจากฟ้องเท่านั้น ไม่อาจนำเอกสารท้ายฟ้องมาพิจารณาประกอบได้ ทั้งเป็นขั้นตอนที่ต้องพิจารณาก่อนที่จะมีการไต่สวนมูลฟ้อง จึงไม่อาจนำข้อเท็จจริงที่ได้จากการไต่สวนมูลฟ้องมาพิจารณาประกอบเช่นกัน สำหรับการเปรียบเทียบการบรรยายฟ้องคดีละเมิดลิขสิทธิ์กับคดีอาญาประเภทอื่นนั้น ถ้าพิจารณาตามหลักการข้างต้นแล้วก็จะไม่ได้แตกต่างกัน หากแต่คำพิพากษาศาลฎีกาที่ฎีกาของโจทก์อ้างถึงนั้นมีข้อเท็จจริงไม่ตรงกับเรื่องนี้ เมื่อฟ้องของโจทก์ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงในส่วนของการกระทำความผิดของจำเลยว่า การละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์บางส่วนด้วยการทำซ้ำหรือดัดแปลงนั้นถูกกระทำโดยจำเลยในส่วนไหน อย่างไร ย่อมต้องถือว่าโจทก์บรรยายฟ้องไม่ชอบตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ. 2539 มาตรา 26 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158 (5) ที่ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษพิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น

พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นนี้ให้เป็นพับ.


 33,137 ผู้เข้าชมเว็บไซต์,  4 views today