การเผยแพร่งานที่ละเมิดลิขสิทธิ์ต่อสาธารณชนเพื่อหากำไร รู้หรือควรรู้ว่าเป็นงานละเมิด ถือเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์

สรุปข้อเท็จจริงสำคัญของคำพิพากษาฎีกาที่  2462/2563 ได้ดังนี้

1.พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 31 (2) ระบุว่าการเผยแพร่งานที่ละเมิดลิขสิทธิ์ต่อสาธารณชนเพื่อหากำไร โดยรู้หรือควรรู้ว่าเป็นงานละเมิด ถือเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์

2.แม้โจทก์ไม่ได้ระบุชัดเจนว่าจำเลยรู้หรือควรรู้ว่างานที่เผยแพร่เป็นงานละเมิดลิขสิทธิ์ แต่ได้บรรยายว่าจำเลยร่วมกันละเมิดลิขสิทธิ์โดยทำซ้ำหรือดัดแปลงงานดนตรีกรรมของผู้เสียหาย

3.โจทก์อธิบายว่าจำเลยนำเพลงของผู้เสียหายไปบันทึกในตู้คาราโอเกะหยอดเหรียญ ซึ่งเป็นการทำซ้ำหรือดัดแปลงโดยไม่ได้รับอนุญาต

4.โจทก์ระบุว่าจำเลยเผยแพร่งานละเมิดลิขสิทธิ์ต่อสาธารณชนผ่านตู้คาราโอเกะเพื่อแสวงหากำไร โดยรู้ว่าเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์

5.เมื่อพิจารณาคำฟ้องทั้งหมด สามารถเข้าใจได้ว่าจำเลยรู้หรือควรรู้ว่างานที่เผยแพร่เป็นงานละเมิดลิขสิทธิ์ ซึ่งเป็นองค์ประกอบความผิดตามกฎหมาย

คำพิพากษาฎีกาที่ 2462/2563

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 4, 6, 8, 15, 27, 28, 29, 31, 69, 70, 76, 78 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 58, 83 จ่ายค่าปรับฐานละเมิดลิขสิทธิ์ให้แก่ผู้เสียหายกึ่งหนึ่ง และนับโทษจำคุกของจำเลยต่อจากโทษในคดีอาญาหมายเลขดำที่ ศปก.อ.21/2559 ของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง (ศาลจังหวัดอุบลราชธานี)

จำเลยให้การปฏิเสธ แต่รับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อ

ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 70 วรรคสอง ประกอบมาตรา 31 (2) ให้ลงโทษปรับ 60,000 บาท หากจำเลยไม่ชำระค่าปรับให้จัดการ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ค่าปรับที่ได้ชำระตามคำพิพากษาให้จ่ายแก่เจ้าของลิขสิทธิ์กึ่งหนึ่ง คำขอให้นับโทษต่อนั้นเนื่องจากคดีนี้มิได้กำหนดโทษจำคุกจึงให้ยกคำขอ (ที่ถูก คำขอและข้อหาอื่นนอกจากนี้ให้ยก)

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษพิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์ในความผิดตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 70 วรรคสอง ประกอบมาตรา 31 (2) ด้วย (ที่ถูก นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง)

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า คดีนี้ ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางวินิจฉัยว่า โจทก์ไม่มีพยานหลักฐานว่าจำเลยกับพวกร่วมกันทำซ้ำหรือดัดแปลงในงานดนตรีกรรมโดยนำสิ่งบันทึกเสียงที่มีคำร้องและทำนองเพลงทั้งสามไปบันทึกลงในเครื่องคอมพิวเตอร์บรรจุลงในตู้คาราโอเกะหยอดเหรียญอย่างไร จึงไม่อาจลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 69 ประกอบมาตรา 27, 28 และ 29 ได้ ไม่มีคู่ความฝ่ายใดอุทธรณ์ ข้อหาในส่วนดังกล่าว จึงยุติไปตามคำพิพากษาศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง

มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า ฟ้องโจทก์ในส่วนของความผิดฐานเผยแพร่ต่อสาธารณชนซึ่งงานที่ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้อื่นเพื่อหากำไรอันเป็นการกระทำเพื่อการค้า ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 70 วรรคสอง ประกอบมาตรา 31 (2) ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เห็นว่า พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 31 (2) บัญญัติว่า “ผู้ใดรู้อยู่แล้วหรือมีเหตุอันควรรู้ว่างานใดได้ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้อื่น กระทำอย่างใดอย่างหนึ่งแก่งานนั้นเพื่อหากำไร ให้ถือว่าผู้นั้นกระทำการละเมิดลิขสิทธิ์ ถ้าได้กระทำดังต่อไปนี้… (2) เผยแพร่ต่อสาธารณชน…” แม้โจทก์มิได้บรรยายโดยชัดแจ้งว่าจำเลยกับพวกรู้หรือมีเหตุอันควรรู้ว่างานที่นำออกเผยแพร่ต่อสาธารณชนนั้นเป็นงานที่ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายอันเป็นองค์ประกอบสำคัญของความผิดดังกล่าว แต่คดีนี้โจทก์ก็บรรยายฟ้องในตอนต้นว่า จำเลยกับพวกร่วมกันละเมิดลิขสิทธิ์ในงานของผู้เสียหายด้วยการทำซ้ำหรือดัดแปลงในงานสร้างสรรค์ประเภทงานดนตรีกรรม ซึ่งประกอบด้วยเนื้อร้องและทำนองของผู้เสียหาย โดยการนำสิ่งบันทึกเสียงที่มีคำร้อง ทำนอง เสียงเพลงอันเป็นลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายไปบันทึกข้อมูลลงในเครื่องคอมพิวเตอร์บรรจุลงในตู้คาราโอเกะหยอดเหรียญในลักษณะทำซ้ำหรือดัดแปลงให้ปรากฏคำร้องและทำนองเสียงเพลงในส่วนอันเป็นสาระสำคัญ อันเป็นการบรรยายให้พอเข้าใจได้ว่างานที่อยู่ในตู้คาราโอเกะหยอดเหรียญดังกล่าวนั้นเป็นงานที่ได้กระทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้เสียหาย เนื่องจากอ้างว่าเป็นงานที่จำเลยกับพวกร่วมกันทำซ้ำหรือดัดแปลงงานอันมีลิขสิทธิ์ของผู้เสียหาย เมื่อโจทก์บรรยายฟ้องต่อไปในตอนท้ายว่า โดยนำออกเผยแพร่ต่อสาธารณชนด้วยการเปิดงานอันมีลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายดังกล่าวผ่านทางตู้คาราโอเกะหยอดเหรียญให้บริการร้องเพลงคาราโอเกะแก่ลูกค้าในร้านที่เกิดเหตุ โดยเรียกเก็บเงินค่าตอบแทนจากลูกค้า เพื่อแสวงหากำไรในทางการค้า โดยจำเลยกับพวกรู้อยู่แล้วว่าเป็นการกระทำละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายและไม่ได้รับอนุญาตจากผู้เสียหาย ดังนี้ เมื่ออ่านฟ้องทั้งหมดแล้วย่อมพอเข้าใจได้ว่าเป็นการบรรยายฟ้องที่อ้างว่าจำเลยกับพวกรู้หรือมีเหตุอันควรรู้ว่างานที่อยู่ในตู้คาราโอเกะหยอดเหรียญดังกล่าวที่นำออกเผยแพร่ต่อสาธารณชนนั้นเป็นงานที่ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้เสียหาย อันเป็นองค์ประกอบของความผิดตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 70 วรรคสอง ประกอบมาตรา 31 (2) แล้ว ที่ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษวินิจฉัยในปัญหาข้อนี้มานั้น ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังขึ้น

มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ต่อไปว่า จำเลยกระทำความผิดฐานเผยแพร่ต่อสาธารณชนซึ่งงานที่ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้อื่นเพื่อหากำไรอันเป็นการกระทำเพื่อการค้าตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 70 วรรคสอง ประกอบมาตรา 31 (2) หรือไม่ ปัญหานี้ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญคดีพิเศษยังมิได้วินิจฉัยมา แต่เนื่องจากโจทก์และจำเลยต่างนำสืบพยานหลักฐานมาจนเสร็จสิ้นแล้ว เพื่อมิให้คดีล่าช้า ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศเห็นควรวินิจฉัยปัญหาข้อนี้ไปโดยไม่ย้อนสำนวนให้ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษวินิจฉัยใหม่ ในชั้นพิจารณาโจทก์มีนายอุดมศักดิ์ผู้รับมอบอำนาจของผู้เสียหาย และนายวีระชัยผู้ร่วมเดินทางไปตรวจสอบผู้ละเมิดลิขสิทธิ์ที่ร้านที่เกิดเหตุเป็นพยานเบิกความในทำนองเดียวกันว่า นายอุดมศักดิ์และนายวีระชัยกับพวกตรวจสอบพบว่าร้าน ป. คาราโอเกะ ให้บริการเปิดเพลงของผู้เสียหาย 3 เพลง ตามฟ้องผ่านตู้คาราโอเกะหยอดเหรียญ โดยร้านดังกล่าวไม่ได้รับอนุญาตจากผู้เสียหาย และจากการตรวจสอบตู้คาราโอเกะหยอดเหรียญดังกล่าวไม่ปรากฏว่ามีสติกเกอร์ที่แสดงการได้รับอนุญาตจากผู้เสียหายติดอยู่แต่อย่างใด ขณะนั้น พยานทั้งสองไม่ทราบว่าผู้ใดเป็นเจ้าของร้านและตู้คาราโอเกะหยอดเหรียญ นายอุดมศักดิ์จึงไปแจ้งความต่อพนักงานสอบสวน และโจทก์ยังมีพันตำรวจโทรักเกียรติพนักงานสอบสวนที่รับแจ้งความจากนายอุดมศักดิ์กับพันตำรวจตรีสุรพลพนักงานสอบสวนซึ่งรับสำนวนต่อมา เบิกความในทำนองเดียวกันว่า จากการตรวจสอบใบทะเบียนพาณิชย์และใบอนุญาตประกอบกิจการร้านวีดิทัศน์ทราบว่าเจ้าของร้านที่เกิดเหตุดังกล่าวคือนายดนุสรณ์ในชั้นสอบสวนนายดนุสรณ์ให้การรับว่าเป็นเจ้าของร้าน แต่ไม่ใช่เจ้าของตู้คาราโอเกะหยอดเหรียญพิพาท เจ้าของตู้คาราโอเกะหยอดเหรียญคือ จำเลย จึงออกหมายเรียกจำเลย แต่ไม่สามารถติดตามตัวจำเลยได้ จึงขอออกหมายจับจำเลย ต่อมาร้อยตำรวจเอกวีระชัยจับกุมจำเลย ได้ที่จุดผ่านแดนถาวรช่องเม็ก จังหวัดอุบลราชธานี ระหว่างยื่นหนังสือเดินทางเพื่อขออนุญาตออกไปนอกราชอาณาจักรเพื่อไปท่องเที่ยวที่สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว เห็นว่า ในคดีอาญาโจทก์มีหน้าที่นำสืบพยานหลักฐานให้รับฟังได้โดยปราศจากข้อสงสัยว่าจำเลยกระทำความผิดตามฟ้อง แต่ตามทางนำสืบของโจทก์ปรากฏว่า มีเพียงนายอุดมศักดิ์ผู้รับมอบอำนาจของผู้เสียหายและนายวีระชัยผู้ร่วมเดินทางไปตรวจสอบผู้ละเมิดลิขสิทธิ์ที่ร้านที่เกิดเหตุยืนยันแต่เพียงว่ามีการเปิดเพลงของผู้เสียหายให้บริการผ่านตู้คาราโอเกะหยอดเหรียญในร้านที่เกิดเหตุโดยไม่ได้รับอนุญาตจากผู้เสียหาย แต่พยานทั้งสองปากดังกล่าวไม่ทราบว่าผู้ใดเป็นเจ้าของร้านและตู้คาราโอเกะหยอดเหรียญพิพาท ในส่วนการสอบสวนของพนักงานสอบสวนก็มีเพียงคำให้การและคำยืนยันในชั้นสอบสวนของนายดนุสรณ์ที่อ้างว่าจำเลยเป็นเจ้าของตู้คาราโอเกะหยอดเหรียญดังกล่าวเท่านั้น เมื่อได้ความจากทางนำสืบของโจทก์ว่า นายดนุสรณ์เป็นเจ้าของร้านที่เกิดเหตุนั้นเอง และถูกพนักงานสอบสวนแจ้งข้อกล่าวหาเช่นเดียวกับจำเลย แต่นายดนุสรณ์ให้การปฏิเสธโดยอ้างว่าจำเลยเป็นเจ้าของตู้คาราโอเกะหยอดเหรียญดังกล่าว ส่วนนายดนุสรณ์มีหน้าที่เพียงดูแลเท่านั้น กรณีจึงต้องรับฟังข้อเท็จจริงดังกล่าวด้วยความระมัดระวัง ทั้งตามบันทึกคำให้การของนายดนุสรณ์ที่ทำขึ้นเมื่อวันที่ 7 มกราคม 2559 นั้น นายดนุสรณ์ให้การปฏิเสธโดยขอไม่ให้การใด ๆ แต่ต่อมาวันที่ 26 มิถุนายน 2559 นายดนุสรณ์กลับไปขอให้การเพิ่มเติมต่อพนักงานสอบสวนว่า จำเลยเป็นเจ้าของตู้คาราโอเกะหยอดเหรียญดังกล่าว เห็นได้ว่า คำให้การเพิ่มเติมดังกล่าวของนายดนุสรณ์ที่อ้างถึงจำเลยนั้นเกิดขึ้นภายหลังจากวันเกิดเหตุเมื่อ 13 ธันวาคม 2558 ประมาณ 7 เดือน และภายหลังจากนายดนุสรณ์ให้การต่อพนักงานสอบสวนครั้งแรกประมาณ 6 เดือน ทั้งที่นายดนุสรณ์สามารถให้การถึงจำเลยได้ตั้งแต่การให้การครั้งแรก และโจทก์ก็ไม่ได้นำนายดนุสรณ์มาเบิกความในชั้นพิจารณา นอกจากนี้ข้อเท็จจริงในคดีนี้ก็ยุติไปตามคำพิพากษาศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางแล้วว่า พยานหลักฐานโจทก์ฟังไม่ได้ว่าจำเลยเป็นผู้ทำซ้ำหรือดัดแปลงเพลงทั้งสามของผู้เสียหายลงในตู้คาราโอเกะหยอดเหรียญดังกล่าว เมื่อโจทก์ไม่มีพยานหลักฐานอื่นใด นอกจากนี้ และจำเลยก็ให้การปฏิเสธมาตลอด พยานหลักฐานเท่าที่โจทก์นำสืบมาจึงไม่มีน้ำหนักให้รับฟังได้ว่าจำเลยกระทำความผิดฐานเผยแพร่ต่อสาธารณชนซึ่งงานที่ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้อื่นเพื่อหากำไรอันเป็นการกระทำเพื่อการค้าตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 70 วรรคสอง ประกอบมาตรา 31 (2) ลำพังการที่พนักงานสอบสวนออกหมายเรียกจำเลยหลายครั้งแต่ไม่สามารถติดตามตัวได้จนกระทั่งจำเลยถูกจับกุมตามหมายจับที่จุดผ่านแดนถาวรช่องเม็กนั้น ยังไม่มีน้ำหนักเพียงพอที่จะพิสูจน์ได้ว่าจำเลยกระทำความผิดในฐานดังกล่าวตามฟ้อง ที่ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษพิพากษายกฟ้องมานั้น ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศเห็นพ้องด้วยในผล ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้นพิพากษายืน

  • กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

 15,067 ผู้เข้าชมเว็บไซต์,  2 views today