รูปแบบตัวอักษรและเสียงเรียกขานเหมือนกัน ถือว่าปลอมเครื่องหมายการค้า

สรุปข้อเท็จจริงสำคัญของคำพิพากษาฎีกาที่ 2461/2563 ได้ดังนี้

1.เครื่องหมายของจำเลยทั้งสองมีสาระสำคัญคือคำว่า “HITACHI” เหมือนกับเครื่องหมายการค้าของผู้เสียหาย ทั้งรูปแบบตัวอักษรและเสียงเรียกขาน โดยความแตกต่างเล็กน้อยในการออกแบบไม่เพียงพอที่จะทำให้แยกแยะความแตกต่างได้

2.เครื่องหมายของจำเลยทั้งสองจึงถือเป็นเครื่องหมายปลอมเครื่องหมายการค้าของผู้เสียหายที่ได้จดทะเบียนไว้แล้ว

3.จำเลยทั้งสองร่วมกันผลิตสติกเกอร์ที่มีเครื่องหมายปลอม นำไปติดที่สินค้าสายทองแดงที่หุ้มฉนวน ซึ่งเป็นสินค้าประเภทเดียวกับที่ผู้เสียหายจดทะเบียนไว้

4.จำเลยทั้งสองมีความผิดฐานร่วมกันปลอมเครื่องหมายการค้าของผู้เสียหายที่ได้จดทะเบียนแล้วในราชอาณาจักร

5.จำเลยทั้งสองมีความผิดฐานร่วมกันจำหน่าย เสนอจำหน่าย หรือมีไว้เพื่อจำหน่ายซึ่งสินค้าที่มีเครื่องหมายการค้าปลอม

คำพิพากษาฎีกาที่ 2461/2563

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 4, 108, 110, 115 และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32, 33, 83, 91 ริบของกลาง

จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ

ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 108 มาตรา 110 (1) ประกอบมาตรา 108 และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานปลอมเครื่องหมายการค้าที่ได้รับการจดทะเบียนแล้วของบุคคลอื่น ปรับจำเลยที่ 1 จำนวน 200,000 บาท จำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 2 ปี ฐานจำหน่าย เสนอจำหน่าย หรือมีไว้เพื่อจำหน่ายซึ่งสินค้าที่มีเครื่องหมายการค้าปลอม ปรับจำเลยที่ 1 จำนวน 200,000 บาท จำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 2 ปี รวมปรับจำเลยที่ 1 จำนวน 400,000 บาท จำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 4 ปี หากจำเลยที่ 1 ไม่ชำระค่าปรับ ให้บังคับตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29 ริบสายทองแดงที่หุ้มฉนวนขนาดน้ำหนักประมาณ 60 กิโลกรัม (ม้วนใหญ่) จำนวน 287 ม้วน สายทองแดงที่หุ้มฉนวนขนาดน้ำหนักประมาณ 20 กิโลกรัม (กล่องเล็ก) จำนวน 254 กล่อง และแผ่นสติกเกอร์ที่ใช้ติดที่สินค้าสายทองแดงที่หุ้มฉนวนจำนวน 2,000 แผ่น ของกลาง

จำเลยทั้งสองอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษพิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์ แต่ของกลางเป็นทรัพย์ที่ใช้ในการกระทำความผิดจึงให้ริบ

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้แย้งกันในชั้นฎีการับฟังได้ว่า ค. ผู้เสียหาย เป็นนิติบุคคลตามกฎหมายประเทศญี่ปุ่น ประกอบธุรกิจในประเทศไทยโดยก่อตั้งบริษัท ท.ซึ่งเป็นผู้ผลิตและจำหน่ายลวดทองแดงและลวดทองแดงเคลือบน้ำยา ผู้เสียหายจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า ทะเบียนเลขที่ ค54431 สำหรับใช้กับสินค้าในจำพวกที่ 9 ซึ่งรวมถึงรายการสินค้าสายทองแดงที่หุ้มฉนวน จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด ประกอบกิจการผลิตและจำหน่ายสินค้าลวดทองแดงอาบน้ำยาและรีดลวดทองแดง มีจำเลยที่ 2 เป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทน จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ฉลากสินค้า ติดที่สินค้าสายทองแดงที่หุ้มฉนวนของจำเลยทั้งสอง เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2557 เจ้าพนักงานตำรวจตรวจค้นบริษัทจำเลยที่ 1 พร้อมยึดสายทองแดงที่หุ้มฉนวนขนาดน้ำหนักประมาณ 60 กิโลกรัม (ม้วนใหญ่) จำนวน 287 ม้วน สายทองแดงที่หุ้มฉนวนขนาดน้ำหนักประมาณ 20 กิโลกรัม (กล่องเล็ก) จำนวน 254 กล่อง และแผ่นสติกเกอร์ฉลากสินค้า จำนวน 2,000 แผ่น เป็นของกลาง

คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยทั้งสองกระทำความผิดฐานร่วมกันปลอมเครื่องหมายการค้า ของผู้เสียหายที่ได้จดทะเบียนแล้วในราชอาณาจักร และฐานร่วมกันจำหน่าย เสนอจำหน่าย หรือมีไว้เพื่อจำหน่ายซึ่งสินค้าที่มีเครื่องหมายการค้าปลอมเครื่องหมายการค้าที่แท้จริงของผู้เสียหายดังกล่าวตามฟ้องหรือไม่ เห็นว่า เมื่อพิจารณาฉลากสินค้า ของจำเลยทั้งสอง และภาพถ่ายสินค้าของจำเลยทั้งสอง ในภาคส่วนคำว่า เปรียบเทียบกับเครื่องหมายการค้าคำว่า ของผู้เสียหาย แล้วจะเห็นได้ว่าเครื่องหมาย ของจำเลยทั้งสองมีสาระสำคัญอยู่ที่คำว่า HITACHI เหมือนกับเครื่องหมายการค้า ของผู้เสียหายทุกประการ ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบตัวอักษรและเสียงเรียกขาน ทั้งคำว่า HITACHI เป็นคำที่มีลักษณะเฉพาะตัว ไม่ใช่คำสามัญที่มีความหมายตามธรรมดาทั่วไป แม้เครื่องหมายของจำเลยทั้งสองที่ด้านหลังของคำว่า HITACHI จะมีเส้นบาง ๆ ต่อเฉียงออกไปทางขวามือ ในลักษณะที่ทำให้ตัวอักษรเป็นสามมิติ แต่ส่วนที่เพิ่มเติมดังกล่าวเป็นเพียงส่วนประกอบปลีกย่อยที่มองเห็นได้ยากและไม่ได้มีลักษณะโดดเด่นเพียงพอที่จะทำให้สาธารณชนแยกแยะความแตกต่างระหว่างเครื่องหมายของจำเลยทั้งสองและเครื่องหมายการค้าของผู้เสียหายได้ นอกจากนี้ ส่วนประกอบดังกล่าวไม่ได้ทำให้ภาคส่วนสาระสำคัญคำว่า HITACHI ในเครื่องหมายของจำเลยทั้งสองที่เหมือนกับเครื่องหมายการค้าของผู้เสียหายเปลี่ยนแปลงหรือสูญเสียลักษณะความเหมือนกันกับเครื่องหมายการค้าคำว่า ของผู้เสียหายไป ภาคส่วนคำว่า HITACHI ในเครื่องหมายของจำเลยทั้งสองยังคงสภาพความเหมือนกับเครื่องหมายการค้าคำว่า ของผู้เสียหายอยู่ ดังนั้น เครื่องหมาย ของจำเลยทั้งสองจึงเป็นเครื่องหมายปลอมเครื่องหมายการค้าของผู้เสียหายที่ได้จดทะเบียนไว้แล้ว การที่จำเลยทั้งสองร่วมกันผลิตสติกเกอร์ ที่มีเครื่องหมาย รวมอยู่ด้วย แล้วนำไปติดที่สินค้าสายทองแดงที่หุ้มฉนวนของจำเลยทั้งสองซึ่งเป็นสินค้าประเภทเดียวกับสินค้าที่ผู้เสียหายได้จดทะเบียนไว้แล้ว เพื่อจำหน่ายแก่ลูกค้าของจำเลยทั้งสอง จำเลยทั้งสองจึงมีความผิดฐานร่วมกันปลอมเครื่องหมายการค้าของผู้เสียหายที่ได้จดทะเบียนแล้วในราชอาณาจักร และฐานร่วมกันจำหน่าย เสนอจำหน่าย หรือมีไว้เพื่อจำหน่ายซึ่งสินค้าที่มีเครื่องหมายการค้าปลอมเครื่องหมายการค้าที่แท้จริงของผู้เสียหายตามฟ้อง ที่ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษพิพากษายกฟ้องโจทก์ โดยวินิจฉัยว่าการกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นการร่วมกันเลียนเครื่องหมายการค้าของผู้เสียหายนั้น ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น กรณีไม่จำต้องวินิจฉัยปัญหาตามฎีกาของโจทก์ข้ออื่นอีกต่อไปเพราะไม่ทำให้ผลคดีเปลี่ยนแปลง

พิพากษากลับเป็นว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 108 มาตรา 110 (1) ประกอบมาตรา 108 และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบทซึ่งมีโทษเท่ากัน ให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 110 (1) ประกอบมาตรา 108 และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 เพียงบทเดียว ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 ลงโทษปรับจำเลยที่ 1 จำนวน 400,000 บาท จำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 2 ปี และปรับจำนวน 400,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 3 ปี นับแต่วันที่อ่านคำพิพากษาศาลฎีกาให้จำเลยที่ 2 ฟัง และให้คุมความประพฤติของจำเลยที่ 2 โดยให้จำเลยที่ 2 ไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติทุก 3 เดือน ต่อครั้ง ภายในระยะเวลาที่รอการลงโทษตามที่พนักงานคุมประพฤติกำหนด กับให้จำเลยที่ 2 กระทำกิจกรรมบริการสังคมหรือสาธารณประโยชน์มีกำหนด 24 ชั่วโมง ตามที่พนักงานคุมประพฤติเห็นสมควร ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 (ที่แก้ไขใหม่) หากจำเลยที่ 1 ไม่ชำระค่าปรับให้บังคับตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29 (ที่แก้ไขใหม่) หากจำเลยที่ 2 ไม่ชำระค่าปรับ ให้บังคับตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 (ที่แก้ไขใหม่) โดยหากต้องกักขังแทนค่าปรับ ให้กักขังแทนค่าปรับไม่เกิน 1 ปี ริบของกลาง

  • กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

 

 22,380 ผู้เข้าชมเว็บไซต์,  2 views today